คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2895/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

มารดาโจทก์ได้ตกลงกับจำเลยยอมแบ่งที่ดินพิพาทให้จำเลยตามบันทึกข้อตกลง ถือได้ว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างมารดาโจทก์กับจำเลย จำเลยย่อมได้สิทธิในที่ดินส่วนนี้ดังที่ระบุไว้ในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวหรืออีกนัยหนึ่ง มารดาโจทก์ยอมเสียสิทธิในที่ดินส่วนที่ได้ตกลงทำบันทึกไว้แสดงว่าเป็นของจำเลยนั้น โจทก์ซึ่งรับโอนการครอบครองจากมารดาก็ย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินส่วนดังกล่าวที่ตกเป็นของจำเลยนั้นแล้ว จึงไม่มีอำนาจห้ามจำเลยเข้ามาเกี่ยวข้อง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมที่ดินตาม ส.ค.1 เลขที่ 181 เนื้อที่ 60 ไร่อาณาเขตทิศเหนือจดบ้านนายครบ ทิศใต้จดคลองกลาง ทิศตะวันออกจดนานางช่วน และทิศตะวันตกจดที่ดินสวนยางของนายรุ่ม เป็นของนายรายและนายครบ เกิดแก้วซึ่งเป็นปู่และบิดาของโจทก์ ที่ได้เสียชีวิตไปแล้ว ต่อมามารดาโจทก์ได้ทำประโยชน์และครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวสืบต่อมา คั้นปี 2526 มารดาโจทก์ได้ยื่นขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ไว้ โดยเจ้าของที่ดินข้างเคียงได้รับรองอาณาเขตถูกต้องแล้ว โดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน แต่มารดาโจทก์ได้เสียชีวิตลงเมื่อปี 2530 โจทก์ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวตลอดมา ต่อมาวันที่ 12 มิถุนายน 2530 จำเลยไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์อ้างว่าได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินต่อจากบิดา ตาม ส.ค.1 เลขที่ 365 จำนวน 25 ไร่มีอาณาเขตทิศเหนือจดสวนยางนายช่วน ทิศใต้จดสวนนายคล้ายทิศตะวันออกจดสวนนางหนะ และทิศตะวันตกจดนานายคล้าย จำเลยนำชี้รังวัดพิสูจน์สอบสวนว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวจำนวน 25 ไร่ อยู่ในเขตที่ดินของโจทก์ดังกล่าวซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะโจทก์ได้ครอบครองและทำประโยชน์ตลอดมาทั้งแปลง โดยจำเลยไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้อง ต่อมาวันที่ 18 สิงหาคม 2530 นายอำเภอเปรียบเทียบแล้วแต่โจทก์จำเลยไม่อาจตกลงกันได้ ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินตามส.ค.1 เลขที่ 181 จำนวน 60 ไร่ โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยชอบ ห้ามจำเลยเข้ามาเกี่ยวข้องอันเป็นการรบกวนครอบครองที่ดินส.ค.1 ดังกล่าวอีกต่อไป และให้เจ้าพนักงานที่ดินอำเภอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จำนวน 60 ไร่ ตาม ส.ค.1 ดังกล่าวให้แก่โจทก์ด้วย
จำเลยให้การว่า ส.ค.1 เลขที่ 181 เป็นเอกสารที่ไม่สมบูรณ์เพราะกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านท้องที่มิได้ลงชื่อรับรองให้ ดังนั้นนางแดงมารดาโจทก์ที่โจทก์อ้างว่าได้ครอบครองที่ดินแปลงนี้สืบต่อมา โดยได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไว้ทั้ง 60 ไร่แล้วนั้น ไม่ทำให้นางแดงได้สิทธิครอบครองไปอย่างใด และจำเลยได้คัดค้านไว้ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2527 โจทก์อ้างว่าเข้าไปครอบครองที่ดินแปลงนี้ต่อจากนางแดงเมื่อปี 2530 ซึ่งยังไม่ถึง 1 ปี จึงยังไม่ได้สิทธิครอบครอง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 714/2530 ของศาลชั้นต้น นอกจากนี้เมื่อจำเลยคัดค้านการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้วนางแดงยอมรับว่าขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทับที่ดินจำเลยจำนวน 25 ไร่จึงทำบันทึกต่อนายอำเภอเมืองตรัง ยอมตัดที่ดินด้านทิศใต้ของที่ดินแปลงดังกล่าวออกเสียเป็นเนื้อที่ 25 ไร่ โดยยอมรับว่าเป็นที่ดินของจำเลย ฉะนั้นโจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของนางแดงจะมากล่าวอ้างขึ้นใหม่ว่าที่พิพาทเนื้อที่ 25 ไร่เป็นของโจทก์ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องและคำขอท้ายฟ้องโจทก์เคลือบคลุมใช้บังคับไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินตามเส้นสีเขียวในแผนที่พิพาท ห้ามจำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องในที่ดินดังกล่าวอีก คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ที่ดินตาม ส.ค.1 เลขที่181 ตามเส้นสีแดงในแผนที่พิพาท (ยกเว้นที่ดินแถบด้านใต้เนื้อที่25 ไร่ เป็นของจำเลยโดยวัดด้วยการลากเส้นตรงจากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตกตั้งฉากกับแนวเหนือใต้ตัดแนวเขตที่ดินด้านทิศตะวันออกและตะวันตกให้ได้เนื้อที่จำนวนดังกล่าว) เป็นของโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ประเด็นฎีกามีเพียงว่าที่ดินทางแถบด้านใต้ของที่พิพาทเนื้อที่ 25 ไร่ เป็นของจำเลยดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นมาหรือไม่เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องและนำสืบว่าโจทก์ครอบครองที่พิพาทโดยได้รับโอนการครอบครองสืบต่อมาจากมารดาโจทก์ดังนั้นโจทก์จึงได้การครอบครองที่พิพาทเพียงเท่าที่สิทธิของมารดาโจทก์มีอยู่เท่านั้น ข้อที่โจทก์อ้างในฎีกาว่าเมื่อบิดาและปู่ของโจทก์ตายแล้วโจทก์และนางแดงมารดาโจทก์เป็นเจ้าของรวมในที่พิพาทร่วมกันจึงรับฟังไม่ได้ เพราะขัดกับคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์เอง ตามฎีกาของโจทก์มิได้คัดค้านเอกสารหมาย ล.3 ที่นางแดงทำขึ้นคงอ้างแต่เพียงว่าโจทก์มิได้ยินยอม ซึ่งเมื่อฟังไม่ได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของร่วม โจทก์ก็ไม่มีสิทธิและหน้าที่จะต้องให้ความยินยอมแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า นางแดงมารดาโจทก์ได้ตกลงกับจำเลยยอมแบ่งที่ดินทางด้านใต้ที่พิพาท เนื้อที่ 25 ไร่ให้จำเลยจริงตามบันทึกข้อตกลงปรากฏตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3อันถือได้ว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างมารดาโจทก์กับจำเลย และจำเลยย่อมได้สิทธิในที่ดินส่วนนี้ดังที่ระบุไว้ในบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 ไป หรืออีกนัยหนึ่ง มารดาโจทก์ยอมเสียสิทธิในที่ดินส่วนที่ได้ตกลงทำบันทึกไว้แสดงว่าเป็นของจำเลยนั้น โจทก์ซึ่งรับโอนการครอบครองจากมารดาก็ย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินส่วนดังกล่าว ดังนั้นที่ดินนางแดงด้านทิศใต้ของที่พิพาทเป็นเนื้อที่ 25 ไร่นี้ จึงตกเป็นสิทธิของจำเลยแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share