คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2431/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัญญาจ้างแรงงานระหว่างนายจ้างและลูกจ้างสิ้นสุดลงแล้วลูกจ้างยังทำงานให้แก่นายจ้างเรื่อยมา โดย นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แต่มิได้ทำสัญญาจ้างกันเป็นหนังสือ การจ้างลูกจ้างต่อมาจึงเป็นการจ้างที่มิได้กำหนดระยะเวลากันไว้ว่าจะจ้างกันนานเท่าใด ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าก็อาจทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 เมื่อนายจ้างได้แจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าตามบทบัญญัติดังกล่าวว่าการจ้างสิ้นสุดลงจึงเป็นการให้ลูกจ้างออกจากงานโดย ที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดตามข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานอันเป็นการเลิกจ้างโจทก์ตามข้อ 46 วรรคสอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย ข้อ 7 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 11) กรณีมิใช่เป็นการจ้างลูกจ้างเพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นงานตามโครงการซึ่งนายจ้างและลูกจ้างตกลงทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือโดย มีกำหนดวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดของการจ้างไว้และเมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุดแล้วแต่งานยังไม่แล้วเสร็จนายจ้างและลูกจ้างตกลงต่อสัญญาจ้างกันอีกโดย ระยะเวลาการจ้างทั้งสิ้นรวมแล้วไม่เกินระยะเวลาการจ้างตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างฉบับแรกตามข้อ 46 วรรคสามลูกจ้างจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งเจ็ดสำนวนฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดโดย โจทก์ทุกคนไม่มีความผิด ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งเจ็ด
จำเลยทั้งเจ็ดสำนวนให้การว่า จำเลยตกลงจ้างโจทก์แต่ละสำนวนเพื่อทำงานให้แล้วเสร็จมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไม่เกินระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างฉบับแรกของการจ้างจึงไม่ตกอยู่ในบังคับที่จะต้องจ่ายค่าชดเชย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 11) ข้อ 7 วรรคท้าย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นลูกจ้างของจำเลยโดย โจทก์แต่ละคนมีวันเข้าทำงานและได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายตามฟ้องของโจทก์แต่ละสำนวน โดย โจทก์ทั้งเจ็ดกับจำเลยได้ทำสัญญาจ้างกันเป็นหนังสือ กำหนดวันเริ่มต้นและสิ้นสุดของการจ้างไว้ แต่วันเริ่มต้นของการจ้างไม่ตรงกัน ส่วนวันสิ้นสุดของการจ้างตรงกันทุกคน คือ วันที่ 31 มีนาคม 2534 เมื่อครบกำหนดตามสัญญาจ้างแล้ว โจทก์ที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 9 ที่ 15 และที่ 16 ไม่ได้ทำสัญญาจ้างต่อ แต่ได้ทำงานให้แก่จำเลยเรื่อยมา แล้วจำเลยแจ้งให้โจทก์ดังกล่าวทราบว่าการว่าจ้างสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน2534 ดังนี้ เป็นกรณีที่ต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายที่ว่าคู่สัญญาได้ทำสัญญากันใหม่ โดย ข้อความเดียวกับสัญญาเดิมซึ่งยังไม่ครบกำหนดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 581 เมื่อจำเลยให้โจทก์ดังกล่าวออกจากงานโดย มิได้กระทำผิดจึงเป็นการเลิกจ้างและต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ดังกล่าว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 9 ที่ 15 และที่ 16 จำเลยทั้งเจ็ดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยทั้งเจ็ดสำนวนอุทธรณ์ว่า ศาลจะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 581 ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า คู่สัญญาได้ทำสัญญากันใหม่โดย ความอย่างเดียวกับสัญญาเดิม มาปรับกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่ได้ เพราะประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 11) ข้อ 7เป็นกฎหมายที่ออกมาใหม่เพื่อเสริมข้อสันนิษฐานทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 581 สำหรับงานบางลักษณะที่ไม่สามารถดำเนินให้แล้วเสร็จในกำหนดเวลา ทั้งการนำกฎหมายมาปรับแก่คดีจะต้องพิจารณาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและใช้กฎหมายเดียวกัน ไม่ชอบที่จะแยกพิจารณาว่ากลุ่มหนึ่งใช้กฎหมายอย่างหนึ่งอีกกลุ่มหนึ่งใช้กฎหมายอีกอย่างหนึ่ง พิเคราะห์แล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าสัญญาจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 9ที่ 15 และที่ 16 สิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2534 และโจทก์ดังกล่าวก็ได้ทำงานให้แก่จำเลยเรื่อยมาโดย จำเลยจ่ายค่าจ้างให้แต่มิได้ทำสัญญาจ้างกันเป็นหนังสือดังนี้ การที่จำเลยจ้างโจทก์ดังกล่าวต่อมาจึงเป็นการจ้างที่มิได้กำหนดระยะเวลากันไว้ว่าจะจ้างกันนานเท่าใดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าก็อาจทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 เมื่อปรากฏว่าจำเลยได้แจ้งให้โจทก์ดังกล่าวทราบเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2534 ว่า สัญญาจ้างระหว่างจำเลยกับโจทก์ดังกล่าวต้องสิ้นสุดลงโดย วันสุดท้ายของการทำงานคือ วันที่ 30 กันยายน 2534 ตามเอกสารหมาย ล.8 ล.18 ล.23ล.27 ล.34 ล.53 และ ล.57 เท่ากับเป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าเลิกสัญญาจ้างตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว จึงเป็นการที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานโดย ที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดตามข้อ 47แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 อันเป็นการเลิกจ้างโจทก์ดังกล่าวตามข้อ 46 วรรคสองแห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย ข้อ 7 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 11) ลงวันที่11 ตุลาคม 2532 กรณีมิใช่เป็นการจ้างลูกจ้างเพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นงานตามโครงการซึ่งนายจ้างและลูกจ้างตกลงทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือโดย มีกำหนดวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดของการจ้างไว้ และเมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุดแล้วแต่งานยังไม่แล้วเสร็จ นายจ้างและลูกจ้างตกลงต่อสัญญาจ้างกันอีกโดย ระยะเวลาการจ้างทั้งสิ้นรวมแล้วไม่เกินระยะเวลาการจ้างตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างฉบับแรกตามข้อ 46 วรรคสาม ของประกาศดังกล่าว โจทก์ดังกล่าวจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย”
พิพากษายืน

Share