แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีมีกำหนดเวลาชำระหนี้คืนไว้แน่นอนเมื่อไม่ปรากฏว่าธนาคารโจทก์ยอมให้จำเลยเบิกเงินเกินบัญชีอีกต่อไปนับแต่วันสิ้นสุดของสัญญา ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยนำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนหนี้ พฤติการณ์แสดงว่าคู่กรณีทั้งสองฝ่ายถือว่าสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเป็นอันสิ้นสุดลงตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้หลังจากนั้นธนาคารโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นอีกต่อไป ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกำหนดให้ธนาคารโจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปีได้ อันเป็นไปตามสิทธิที่โจทก์จะเรียกดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามพ.ร.บ.ให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 แม้สัญญาสิ้นสุดลงแล้วธนาคารโจทก์ก็ยังคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นในอัตราดังกล่าวไว้ต่อไปเพราะถือได้ว่าจำเลยตกลงให้คิดได้มาแต่ต้น.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2526 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์สาขาชลบุรี เป็นเงิน 1,500,000บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนทุกวันสิ้นเดือน หากไม่ชำระยอมให้โจทก์ทบดอกเบี้ยที่ค้างเป็นต้นเงินเป็นคราว ๆ ไป กำหนดชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่30 กันยายน 2527 โดยจำเลยที่ 1 จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันในวงเงิน 1,500,000 บาท ตกลงว่าหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ยอมรับผิดในส่วนที่ขาดจนครบถ้วน มีจำเลยที่ 2ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยให้ถือว่าเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 จนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้เสร็จสิ้นนับแต่ทำสัญญาจำเลยที่ 1 เดินสะพัดทางบัญชีโดยฝากเงินเข้าบัญชีและออกเช็คสั่งจ่ายเบิกถอนเงินกับโอนเงินออกจากบัญชีเรื่อยมาหลายครั้ง ครั้งใดจำเลยที่ 1 ตกเป็นลูกหนี้ โจทก์ก็จะคิดดอกเบี้ยตามสัญญาตลอดมา เมื่อครบกำหนดเวลาตามสัญญาจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระหนี้โจทก์ให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยทั้งสองให้ชำระหนี้ภายในระยะเวลาพอสมควร แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยยอดหนี้คิดเพียงสิ้นวันที่ 12 มกราคม 2530 เป็นเงิน 2,958,343.83บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน2,958,343.83 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วน ขอให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ขอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ให้การว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกำหนดเวลาชำระหนี้คืนภายในวันที่ 30 กันยายน 2527 เมื่อครบกำหนดแล้วจำเลยที่ 1 มิได้ต่ออายุสัญญา ไม่เคยเบิกเงินเกินบัญชีอีกและไม่เคยนำเงินเข้าชำระแสดงแจ้งชัดว่า จำเลยที่ 1 เลิกสัญญากับโจทก์ณ วันครบกำหนดตามสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นเพียงถึงวันที่ 30 กันยายน 2527 เท่านั้น โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินตลอดมาจนถึงวันฟ้อง ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะทั้งสิ้น ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจไม่ใช่ลายมือชื่อของนายตามใจ ขำภโต นายปรีชา รุดดิษฐ์ จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 2 ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันจึงไม่ต้องร่วมรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ ก่อนฟ้องจำเลยที่ 2ไม่ได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสองขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์2,144,412.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 เมษายน 2528 จนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดเอาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ จำนวน 1,920,522.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 กันยายน 2527 จนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่าเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2520 จำเลยที่ 1 ได้เปิดบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 02514-6 กับโจทก์ สาขาชลบุรี ต่อมาวันที่ 30 กันยายน 2526จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ ในวงเงิน1,500,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี มีกำหนดชำระหนี้ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2527 โดยยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในจำนวนที่เบิกเกินบัญชีดังกล่าวเป็นรายเดือนและยอมให้โจทก์นำจำนวนดอกเบี้ยที่ค้างชำระในแต่ละเดือนรวมกันกับต้นเงินที่เบิกเกินบัญชี อันเป็นการคิดดอกเบี้ยทบต้นตามประเพณีของธนาคารตามบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวแสดงรายการของหนี้ตามสัญญากู้เงินเกินบัญชี และจำเลยที่ 1 ได้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 6910 ตำบลศรีราชา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นประกันการชำระหนี้ และทำบันทึกข้อตกลงเรื่องขึ้นเงินจำนอง รวมเป็นเงินจำนองทั้งสิ้น 1,500,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.7 จ.8 และ จ.9ตามลำดับ ส่วนจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ของจำเลยที่ 1ต่อโจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.10 ปรากฏรายการเดินสะพัดของบัญชีจนถึงวันที่ 27 กันยายน 2527 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์จำนวน1,920,522.36 บาท ตามการ์ดบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.15มีปัญหาว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นนับถึงวันบอกเลิกสัญญาหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราเท่าใดหลังจากสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงเห็นว่า ตามการ์ดบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ลูกค้าโจทก์ เอกสารหมาย จ.15 ถึง จ.20 ไม่ปรากฏรายการเดินสะพัดในบัญชีอันจะเป็นหลักฐานแสดงว่าโจทก์ได้ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีต่อไปอีกนับแต่วันสิ้นสุดของสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในวันที่ 30 กันยายน 2527 ทั้งไม่ปรากฏรายการนำเงินเข้าเพื่อหักทอนหนี้ของยอดเงินที่ค้างชำระของจำเลยที่ 1พฤติการณ์แสดงว่าคู่กรณีทั้งสองฝ่ายให้ถือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นอันสิ้นสุดลงตามกำหนดระยะเวลาที่ระบุในสัญญา ฉะนั้น โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2527หลังจากนั้นโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นอีกต่อไป ที่โจทก์อ้างว่า แม้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีตามเอกสารหมาย จ.6 จะกำหนดให้จำเลยที่ 1 จัดการชำระหนี้คืนให้แก่โจทก์เสร็จสิ้นภายในวันที่30 กันยายน 2527 ก็ตาม แต่ไม่มีข้อสัญญาข้อใดระบุว่า เมื่อสิ้นกำหนดระยะเวลาตามสัญญาแล้ว สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นอันเลิกไปทันที ด้วยเหตุนี้เมื่อยังมิได้มีฝ่ายใดบอกเลิกสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ตามสัญญาจนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญาและหักทอนบัญชีกันแล้ว ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2728/2517เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างมาไม่ตรงตามพฤติการณ์ในทางปฏิบัติของโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงจะนำมาปรับแก่ข้อเท็จจริงในคดีนี้มิได้ ส่วนปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราเท่าใดหลังจากสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงแล้วโจทก์ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ในระหว่างผิดนัดนี้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ไม่ถูกต้อง โจทก์ควรได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี หลังจากสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลง เห็นว่า ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ 1ตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปีได้ อันเป็นไปตามสิทธิที่โจทก์จะเรียกดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปีตามพระราชบัญญัติให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 ดังนี้หลังจากสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปีแบบไม่ทบต้นจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จสิ้นเพราะกรณีดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวมาตั้งแต่ต้นแล้ว โจทก์หาจำต้องนำสืบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่ประการใดไม่ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยทบต้นแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,920,522.36บาท นับแต่วันที่ 28 กันยายน 2527 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2527และดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวไม่ทบต้นนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2527ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.