คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5638/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุโดยคำสั่งและในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และขับโดยประมาทชนรถยนต์โดยสารซึ่งโจทก์โดยสารมา ทำให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัสและศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ขณะเกิดเหตุ ว.ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์มาด้วยความประมาทเป็นเหตุให้ชนกับรถยนต์ซึ่งโจทก์โดยสารมาได้รับความเสียหายมีผู้โดยสารได้รับอันตรายสาหัสและเสียชีวิตโดย ว.ประมาทแต่ฝ่ายเดียวชั้นอุทธรณ์จำเลยที่ 3 อุทธรณ์แต่เพียงว่า จำเลยที่ 1ไม่ได้เป็นผู้ขับรถยนต์คันที่เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3โดยมิได้อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ขณะเกิดเหตุ ว.ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2ด้วยความประมาทแต่ฝ่ายเดียวและก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์นั้นไม่ถูกต้องอย่างไร ข้อเท็จจริงจึงยุติตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยดังนี้เมื่อนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นผู้ได้รับความเสียหายจึงอาจจะฟ้องนายจ้างหรือลูกจ้างคนใดก็ได้ และเมื่อโจทก์บรรยายฟ้องถึงความรับผิดในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ไว้ชัดแจ้งครบถ้วนแล้วว่า ลูกจ้างจำเลยที่ 2 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ในทางการที่จ้างและข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย แม้ข้อเท็จจริงจะฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถของจำเลยที่ 2 ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 2 พ้นความรับผิดและเมื่อจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 โดยคำสั่งและในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 เมื่อถึงบริเวณที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1ขับรถยนต์ประมาทด้วยความเร็วสูงทำให้รถยนต์แล่นล้ำเข้าไปในช่องเดินรถที่แล่นสวนมาและขนกับรถยนต์โดยสารปรับอากาศที่จำเลยที่ 4 ขับมาโดยคำสั่งและทางการที่จ้างของจำเลยที่ 5 ซึ่งจำเลยที่ 4 ก็ขับรถยนต์ด้วยความเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดและเร่งแซงรถยนต์คันอื่น จนเสียหลักและเกิดเหตุชนกัน เป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งนั่งมาในรถยนต์โดยสารปรับอากาศได้รับอันตรายสาหัส จำเลยที่ 3 และที่ 9เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุทั้งสองคันตามลำดับขอให้บังคับจำเลยทั้งเก้าร่วมกันใช้เงินจำนวน 560,250 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 540,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินแก่โจทก์เสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิใช่ลูกจ้างปฏิบัติงานในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 จะรับผิดต่อบุคคลภายนอกเมื่อจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเท่านั้น สาเหตุในคดีนี้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 4 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน11-6824 กรุงเทพมหานคร แซงรถยนต์คันหน้าเข้ามาในช่องเดินรถของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 6 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 7 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 8 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 9 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 6 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 339,710 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ในส่วนของจำเลยที่ 3 ให้รับผิดต่อโจทก์ไม่เกิน50,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาเพียงข้อเดียวว่า โจทก์ในฐานะผู้เสียหายอาจจะฟ้องนายจ้างหรือลูกจ้างคนใดก็ได้ และโจทก์บรรยายฟ้องโดยชัดแจ้งว่าลูกจ้างจำเลยที่ 2ได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้าง อันเป็นการบรรยายฟ้องถึงความรับผิดของจำเลยที่ 2 ครบถ้วนแล้ว และโจทก์ได้นำสืบข้อเท็จจริงฟังได้แล้วว่านายวิโรจน์หรือแดง ไพรวรรณ์ ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุก และทำละเมิดต่อโจทก์ในทางการที่จ้างจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างจึงต้องรับผิดและจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยต้องรับผิดด้วย ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2534 เวลาประมาณ2.45 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุโดยคำสั่งและในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และขับโดยประมาทชนรถยนต์โดยสารซึ่งโจทก์โดยสารมาทำให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัสจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างและจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยต้องรับผิดแก่โจทก์ และศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ และร้อยตำรวจโทสมใจ พาทีทิน พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอหัวหินเบิกความประกอบกับรายงานการสอบสวนเอกสารหมาย ปจ.11 รับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุนายวิโรจน์หรือแดงซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-7013เพชรบุรี มาด้วยความประมาทและด้วยความเร็วสูงล้ำเข้ามาในช่องเดินรถของรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 11-6824 กรุงเทพมหานครเป็นเหตุให้ชนกับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 11-6824 กรุงเทพมหานครได้รับความเสียหายมีผู้โดยสารได้รับอันตรายสาหัสและเสียชีวิตข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายวิโรจน์หรือแดงขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน80-7013 เพชรบุรี โดยประมาทแต่ฝ่ายเดียว และชั้นอุทธรณ์จำเลยที่ 3 อุทธรณ์แต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้ขับรถยนต์คันที่เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้กระทำละเมิดเป็นผลให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างไม่ต้องร่วมรับผิดและทำให้จำเลยที่ 3 ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแทนจำเลยที่ 2หลุดพ้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล.4 ด้วยเมื่อจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้กระทำละเมิด ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์แล้ว ย่อมทำให้จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างหลุดพ้นความรับผิดไปด้วย จึงไม่มีค่าสินไหมทดแทนซึ่งจำเลยที่ 3ผู้รับประกันภัยจะต้องชดใช้แทนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 3 มิได้อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ขณะเกิดเหตุนายวิโรจน์หรือแดงซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-7013 เพชรบุรีของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทแต่ฝ่ายเดียว และก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ถูกต้องอย่างไร ข้อเท็จจริงจึงยุติตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย และเห็นว่านายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา425 ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นผู้ได้รับความเสียหายจึงอาจจะฟ้องนายจ้างหรือลูกจ้างคนใดก็ได้เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ไว้ชัดแจ้งแล้วว่า ลูกจ้างจำเลยที่ 2 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ในทางการที่จ้าง เป็นการบรรยายฟ้องถึงความรับผิดของจำเลยที่ 2ไว้ครบถ้วนแล้วและข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่านายวิโรจน์หรือแดงลูกจ้างจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-7013 เพชรบุรี ของจำเลยที่ 2 ในทางการที่จ้างด้วยความประมาทฝ่ายเดียวชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 11-6824 กรุงเทพมหานคร เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัสจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดด้วย แม้ข้อเท็จจริงจะฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถของจำเลยที่ 2 ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 2 พ้นความรับผิด และเมื่อจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 339,710 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2534 เฉพาะจำเลยที่ 3 ให้รับผิดต่อโจทก์ไม่เกิน 50,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share