คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 595/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยออกเช็คชำระหนี้แก่ภริยาโจทก์ 3 ฉบับ ฉบับละ 40,000 บาทธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้ว 2 ฉบับ ส่วนอีก 1 ฉบับคือเช็คพิพาทยังไม่ถึงกำหนดใช้เงิน ต่อมาจำเลยชำระเงินสด 12,000 บาท และชำระด้วยเช็คที่ ด.ออกและจำเลยสลักหลัง จำนวน 108,000 บาท ตามเช็คเอกสารหมาย จ.8 แทนเช็ค 3 ฉบับเดิมแล้วขอเช็ค 3 ฉบับเดิมคืนภริยาโจทก์ยอมคืนให้ 2 ฉบับ ส่วนเช็คพิพาทไม่ยอมคืนให้ ต่อมาภริยาโจทก์นำเช็คเอกสารหมาย จ.8 ไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ภริยาโจทก์นำเช็คเอกสารหมาย จ.8 ไปดำเนินคดีอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค แก่ ด.และจำเลยแล้ว พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าภริยาโจทก์ตกลงเข้าถือเอาสิทธิตามเช็คเอกสารหมาย จ.8 แทนสิทธิที่มีอยู่ตามเช็คพิพาท เป็นการสละสิทธิหรือไม่ยึดถือสิทธิใด ๆ ที่มีอยู่ในเช็คพิพาทอีกต่อไปรวมทั้งสิทธิที่จะดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยหากธนาคารปฏิเสธการใช้เงินตามเช็คพิพาทด้วย โจทก์ซึ่งทราบข้อตกลงระหว่างภริยาโจทก์กับจำเลยดังกล่าวดี ได้นำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงิน แม้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยก็ไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค มาตรา 3 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว มีคำสั่งประทับฟ้อง จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 จำคุก4 เดือน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้เป็นยุติตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทเอกสารหมายจ.1 ให้แก่นางสุนันท์ ลี้พงษ์ ภริยาโจทก์ซึ่งเข้าหุ้นดำเนินกิจการลานสเกตร่วมกับจำเลยและพวก ต่อมานางสุนันท์ได้โอนเช็คดังกล่าวให้โจทก์ เมื่อเช็คเอกสารหมาย จ.1 ถึงกำหนดชำระเงินโจทก์นำไปเข้าบัญชีของโจทก์เพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2528 เพราะบัญชีของจำเลยปิดแล้วตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2528 คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นตามที่โจทก์กับจำเลยโต้เถียงกันว่าจำเลยออกเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.1 เพื่อชำระหนี้ให้นางสุนันท์ภริยาโจทก์หรือออกเช็คเป็นหลักฐานการลงทุนในการดำเนินกิจการลานสเกต ข้อนี้โจทก์นำสืบและจำเลยรับว่าหลังจากนางสุนันท์ได้ร่วมลงทุนกับจำเลยและพวกได้ไม่นาน นางสุนันท์ก็ขอถอนหุ้น จำเลยยอมออกเช็ค 3 ฉบับ รวมทั้งเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1 ให้แก่นางสุนันท์ เช็คทั้งสามฉบับแบ่งการชำระเงินฉบับละเท่า ๆ กันลงวันที่สั่งจ่ายเรียงเป็นรายเดือนตามลำดับกันไปเช่นนี้ ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาออกเช็คทั้งสามฉบับดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ค่าหุ้นคืนให้แก่นางสุนันท์ เพราะหากจำเลยมีเจตนาเพียงเพื่อจะให้เป็นหลักฐานการลงทุนของนางสุนันท์ จำเลยก็น่าจะออกเช็คให้เพียงฉบับเดียวจำนวนเงิน 120,000 บาท ก็พอ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกเช็คให้ถึง 3 ฉบับ ฉบับละ 40,000 บาทแต่ประการใด ดังนี้ จึงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยเจตนาออกเช็คทั้งสามฉบับดังกล่าวให้แก่นางสุนันท์เพื่อเป็นหลักฐานการลงทุนดำเนินกิจการลานสเกตตามที่จำเลยต่อสู้ แต่น่าเชื่อว่าการออกเช็คดังกล่าวก็เพื่อชำระหนี้คืนเงินค่าหุ้นหรือเงินลงทุนให้แก่นางสุนันท์เช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1 จึงเป็นเช็คที่จำเลยออกให้เพื่อเป็นการชำระหนี้ ปัญหาต่อไปมีว่าเมื่อธนาคารตามเช็คเอกสารหมาย จ.1ปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 หรือไม่ ข้อนี้ได้ความจากนางสุนันท์ ลี้พงษ์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นภริยาโจทก์เบิกความว่า ระหว่างที่เช็คซึ่งจำเลยออกให้ถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินไปแล้ว 2 ฉบับ และเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1 ยังไม่ถึงกำหนดใช้เงิน จำเลยได้นำเครื่องปรับอากาศ 4 เครื่อง ตู้ลำโพง4 ตู้ ไปมอบให้นางสุนันท์เพื่อประกันหนี้ตามเช็ค ซึ่งต่อมาจำเลยได้อ้างต่อนางสุนันท์ว่านายเดช เดชนที ขอซื้อทรัพย์สินดังกล่าวโดยชำระเป็นเช็คให้ และจำเลยได้มอบเช็คของนายเดชตามสำเนาภาพถ่ายเช็คเอกสารหมาย จ.8 ให้แก่นางสุนันท์โดยจำเลยลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คดังกล่าว แล้วจำเลยนำทรัพย์สินที่ประกันหนี้ตามเช็คกลับคืนไป กับพูดขอคืนเช็คทั้งสามฉบับจากนางสุนันท์นางสุนันท์ยอมคืนให้ 2 ฉบับ ส่วนอีกฉบับหนึ่งคือเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1 นางสุนันท์บอกว่าจะคืนให้ต่อเมื่อเช็คของนายเดชเรียกเก็บเงินได้แล้ว และนางสุนันท์ก็ได้รับเงินค่าหุ้นคืนจากจำเลยมาแล้วส่วนหนึ่งจำนวน 12,000 บาท เช่นนี้เห็นว่าเมื่อธนาคารตามเช็ค 2 ฉบับปฏิเสธการจ่ายเงินแล้ว ก็มิได้มีการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยแต่อย่างใด แต่นางสุนันท์กลับรับเช็คที่ธนาคารปฏิเสธทั้งสองฉบับนั้นคืนมาจากโจทก์ โดยนางสุนันท์อ้างว่าเอาเงินสดไปแลกเช็ค 2 ฉบับนั้นคืนจากโจทก์ ปรากฏว่าระหว่างที่เช็คฉบับที่ 3คือเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1 ยังไม่ถึงกำหนดใช้เงิน จำเลยก็ได้นำเงินสดไปชำระหนี้ให้แก่นางสุนันท์จำนวน 12,000 บาท แล้วจึงยังคงเหลือหนี้ค่าหุ้นที่ยังค้างชำระนางสุนันท์อยู่อีก 108,000บาท และเมื่อธนาคารตามเช็ค 2 ฉบับปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยก็ได้นำเครื่องปรับอากาศ 4 เครื่อง ตู้ลำโพง 4 ตู้ ไปมอบให้นางสุนันท์เพื่อประกันหนี้ตามเช็ค ต่อมาระหว่างที่เช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1ยังไม่ถึงกำหนดใช้เงิน จำเลยได้นำเช็คสั่งจ่ายเงินจำนวน 108,000บาท ซึ่งนายเดช เดชนที ลงชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายตามเอกสารหมายจ.8 หรือ ล.5 ไปชำระหนี้ให้แก่นางสุนันท์ และขอรับทรัพย์สินที่วางเป็นประกันหนี้ตามเช็คคืน อีกทั้งยังขอรับเช็คที่จำเลยจ่ายชำระหนี้ค่าหุ้นรวม 3 ฉบับคืน แต่นางสุนันท์คงยอมคืนเช็ค2 ฉบับที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินส่วนเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1ไม่ยอมคืนให้ จำเลยได้ยอมสลักหลังเช็คที่นายเดช เดชนที เป็นผู้สั่งจ่ายให้เพื่อประสงค์ที่จะให้นางสุนันท์คืนเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1 ให้แก่จำเลย ต่อมาเมื่อเช็คที่นายเดชสั่งจ่ายถึงกำหนดใช้เงิน นางสุนันท์ได้ฝากโจทก์ให้เข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินแต่ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ซึ่งต่อมานางสุนันท์ก็ได้นำเช็คที่นายเดชสั่งจ่ายเงินและจำเลยเป็นผู้สลักหลังตามเช็คเอกสารหมาย จ.8 หรือ ล.5 ไปดำเนินคดีอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ แก่นายเดชและจำเลย ส่วนเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1 โจทก์นำไปเรียกเก็บเงินเช่นนี้ จึงเท่ากับว่าจำเลยมีความรับผิดที่จะต้องชำระเงินตามเช็คเอกสารหมาย จ.8หรือ ล.5 จำนวน 108,000 บาท และต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1 อีกจำนวน 40,000 บาท เห็นว่าโจทก์และนางสุนันท์เป็นสามีภริยากัน ข้อเท็จจริงในเรื่องข้อตกลงระหว่างนางสุนันท์กับจำเลยเกี่ยวกับการชำระหนี้ที่ค้างชำระจำนวน 108,000 บาท ด้วยเช็คเอกสารหมาย จ.8 หรือ ล.5 นั้น โจทก์ย่อมต้องทราบดีโดยเห็นได้จากหนังสือที่โจทก์ให้ทนายความบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1 ก็มีข้อความระบุไว้ว่า จำเลยได้หลอกลวงเอาเครื่องปรับอากาศไปจากนายสมควรฯ (โจทก์) และจำเลยได้สลักหลังเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาราชวิถี ฉบับเลขที่0480897 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2528 จำนวนเงิน 108,000 บาท มอบให้นายสมควรฯ (โจทก์) ตามเอกสารหมาย จ.3 จากพฤติการณ์ต่าง ๆดังกล่าวมาแสดงว่า นางสุนันท์ตกลงเข้าถือเอาสิทธิตามเช็คเอกสารหมาย จ.8 หรือ ล.5 แทนสิทธิที่มีอยู่ตามเช็คเอกสารหมาย จ.1 เป็นการสละสิทธิหรือไม่ยึดถือสิทธิใด ๆ ที่มีอยู่ในเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1 อีกต่อไป ทั้งนี้รวมทั้งสิทธิที่จะดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยหากเมื่อเช็คเอกสารหมาย จ.1 ถึงกำหนดใช้เงิน และธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คเอกสารหมาย จ.1 นั้นด้วย ดังนั้น แม้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยก็ไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 แต่อย่างใดที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตามบทกฎหมายดังกล่าวนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์”

Share