คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2170/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านท้ากันในศาลแรงงานกลางเพียง ข้อ เดียวว่า “หากศาลฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้คัดค้านมีหน้าที่ทำ เพชรดิบ ให้เข้ารูปและมีหน้าที่ซ่อมแซมเพชรที่แผนกอื่นทำบกพร่อง และไม่สามารถแก้ไขด้วยตนเองได้แล้ว ให้เข้ารูปอีกครั้งแล้วส่งไปยัง แผนกอื่นต่อไป ให้ถือว่าผู้คัดค้านกระทำผิดตามคำร้องทุกประการ ผู้คัดค้านยอมแพ้และให้ศาลพิพากษาให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้าน ได้ตามคำร้อง…” นั้น เป็นการ ที่คู่ความตกลงกันกำหนดประเด็น เสนอศาลเพื่อให้กระบวนพิจารณาคดีเป็นไปโดยรวดเร็ว ซึ่งศาลแรงงานกลาง มีอำนาจกระทำได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138,183 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้คัดค้าน มีหน้าที่ทำเพชรดิบ ให้เข้ารูปและมีหน้าที่ซ่อมแซมเพชรที่แผนกอื่น ทำบกพร่อง และไม่สามารถแก้ไขด้วยตนเองได้ให้เข้ารูปอีกครั้ง แล้วส่งไปยังแผนกอื่นต่อไป ก็ต้องถือตามคำท้าว่าผู้คัดค้านกระทำผิด ตามคำร้อง กล่าวคือ ผู้คัดค้านฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับ การทำงานอันเป็นกรณีร้ายแรงและจงใจขัดคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของ ผู้ร้องตามคำร้อง และต้องถือตามคำท้าต่อไปว่าผู้คัดค้านยอมแพ้ ศาลแรงงานกลางต้องพิพากษาให้ผู้ร้อง เลิกจ้างผู้คัดค้านได้ตามคำร้อง.

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขออนุญาตเลิกจ้างผู้คัดค้านซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้าง ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้อง แต่ไม่ตัดสิทธิของผู้ร้องที่จะยื่นคำร้องขออนุญาตลงโทษผู้คัดค้านใหม่ ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้ร้องอุทธรณ์ว่าในคดีนี้ผู้ร้องและผู้คัดค้านท้ากันในศาลตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2534 เพียงข้อเดียวว่า “หากศาลฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้คัดค้านมีหน้าที่ทำเพชรดิบให้เข้ารูปและมีหน้าที่ซ่อมแซมเพชรที่แผนกอื่นทำบกพร่องและไม่สามารถแก้ไขด้วยตนเองได้แล้วให้เข้ารูปอีกครั้งแล้วส่งไปยังแผนกอื่นต่อไป ให้ถือว่าผู้คัดค้านกระทำผิดตามคำร้องทุกประการ ผู้คัดค้านยอมแพ้ และให้ศาลพิพากษาให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านได้ตามคำร้อง…” การที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงได้ดังกล่าวแต่กลับสั่งว่าความผิดของผู้คัดค้านไม่ร้ายแรงถึงขั้นลงโทษเลิกจ้าง เป็นการสั่งผิดหรือนอกเหนือคำท้านั้น เห็นว่า การท้าดังกล่าวเป็นการที่คู่ความตกลงกันกำหนดประเด็นเสนอศาลเพื่อให้กระบวนพิจารณาคดีเป็นไปโดยรวดเร็ว ซึ่งศาลแรงงานกลางมีอำนาจกระทำได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138, 183 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้คัดค้านมีหน้าที่ทำเพชรดิบให้เข้ารูปและมีหน้าที่ซ่อมแซมเพชรที่แผนกอื่นทำบกพร่องและไม่สามารถแก้ไขด้วยตนเองได้ให้เข้ารูปอีกครั้งแล้วส่งไปยังแผนกอื่นต่อไป ก็ต้องถือตามคำท้าว่าผู้คัดค้านกระทำผิดตามคำร้องกล่าวคือ ผู้คัดค้านฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นกรณีร้ายแรงและจงใจขัดคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องตามคำร้อง และต้องถือตามคำท้าต่อไปว่าผู้คัดค้านยอมแพ้ ให้ศาลพิพากษาให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านได้ตามคำร้อง ที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่าความผิดของผู้คัดค้านไม่ร้ายแรงถึงขั้นลงโทษเลิกจ้าง ยังไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับ อนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านได้ตามคำขอ.

Share