คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2084/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสิบห้าบุกรุกเข้าไปในที่ดินพิพาท ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งหน้าดิน กับไถดินปิดกั้นทางเกวียน ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบห้าและให้จำเลยทั้งสิบห้าร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย แต่ทางพิจารณาข้อเท็จจริงได้ความว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โจทก์ไม่มีสิทธิครอบครอง และการที่จำเลยเข้าไปปรับปรุงที่ดินพิพาทก็เพื่อใช้เป็นที่สร้างโรงเรียน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายที่ไม่สามารถเข้าทำนาในที่ดินพิพาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินเนื้อที่ประมาณ 40 ไร่ โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดิน เนื้อที่ประมาณ 40 ไร่ โจทก์ที่ 4 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดิน เนื้อที่ประมาณ 40 ไร่ และโจทก์ที่ 5 เป็นเจ้าของที่ดินกว้าง 3 วา ยาว 5 เส้น ที่ตำบลเกษตร อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ตามแผนที่หมายเลข 1 ถึง 4 ในเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2528 และวันที่ 16 มีนาคม 2528 เวลากลางวันจำเลยทั้ง 15 คนได้ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดินดังกล่าวของโจทก์เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมด หรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุขและจำเลยทั้ง 15 คน ได้ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งหน้าดินและคันนาของโจทก์ กับไถที่ดินปิดกั้นทางเกวียนสาธารณประโยชน์ ทำให้หน้าดินที่มีปุ๋ยและคันนาโจทก์เสียหายไม่สามารถใช้เพาะปลูกข้าวได้ รวมเนื้อที่ประมาณ120 ไร่ ค่าเสียหาย 78,000 บาท และการไถที่ดินปิดกั้นทางเกวียนสาธารณประโยชน์ทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้ทางนั้นสัญจรไปมาได้ค่าเสียหาย 5,000 บาท รวมเป็นเงิน 93,000 บาท (ที่ถูกน่าจะเป็น83,000 บาท) และการที่โจทก์ไม่สามารถทำนาได้เสียหายอีกปีละ 20,000บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 362, 365(2),358, 91 และให้จำเลยทั้ง 15 คน ร่วมกันชำระเงิน 93,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีและค่าเสียหายในอัตราปีละ20,000 บาท แก่โจทก์นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จกับให้จำเลยเปิดทางเกวียนตามฟ้องให้อยู่ในสภาพใช้การได้ดีด้วย
ก่อนไต่สวนมูลฟ้อง ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ที่ 2 ที่ 3ถอนฟ้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีไม่มีมูลความผิดทางอาญา พิพากษายกฟ้องคดีอาญา ให้รับฟ้องเฉพาะคดีแพ่ง
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 จำเลยที่ 10 และจำเลยที่ 12 ถึงที่ 15ให้การรวมกันว่า ที่ดินพิพาททั้งหมดไม่ใช่ของโจทก์แต่เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกันมานานแล้ว แม้โจทก์จะเข้าครอบครองก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ โจทก์บุกรุกเข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จำเลยช่วยเหลือเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองท้องที่ปรับปรุงที่ดินพิพาทเพื่อใช้เป็นที่สำหรับปลูกสร้างอาคารโรงเรียนประชาบาลบ้านน้ำอ้อม มิได้ยึดถือที่ดินพิพาทเพื่อตน ค่าเสียหายในที่นาไม่เกินปีละ 200 บาท ส่วนทางเกวียนนั้นโจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 9และที่ 11 กับอนุญาตให้นางทองสี ชมเชย ภริยาโจทก์ที่ 5 เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่ 5 ผู้มรณะ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณะซึ่งประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน โจทก์ที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 ไม่มีสิทธิครอบครองและไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ส่วนค่าเสียหายในทางเกวียนอันเป็นทางสาธารณะนั้น โจทก์ก็มิได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษจากการกระทำของจำเลยอย่างใด พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์เฉพาะคดีส่วนแพ่ง
คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 โจทก์ขอถอนฟ้องอุทธรณ์เฉพาะจำเลยที่ 13 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โจทก์ที่ 1ที่ 4 และที่ 5 ไม่มีสิทธิครอบครอง และการที่จำเลยเข้าไปปรับปรุงที่ดินพิพาทก็เพื่อใช้เป็นที่สร้างโรงเรียน โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายที่ไม่สามารถทำนาในที่ดินพิพาทหาได้ไม่
พิพากษายืน

Share