แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีฝ่ายเดียวให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ แต่ในวันนัดไต่สวนคำร้อง จำเลยถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีอื่นแล้ว ดังนี้ คำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยย่อมเป็นเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์ของจำเลย อำนาจในการฟ้องร้องต่อสู้คดีของจำเลยจึงอยู่กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 22(3) จำเลยไม่มีอำนาจที่จะยื่นคำร้องให้พิจารณาคดีใหม่
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์ และจำเลยที่ 2 รับที่จะชดใช้ให้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ฉบับลงวันที่ 24 ตุลาคม 2522 จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ให้โจทก์เป็นเงิน 333,293.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5ต่อปี นับแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2522 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ โดยอ้างว่าไม่ได้รับหมายเรียกและสำเนาฟ้องรวมทั้งคำบังคับ และคดีของจำเลยมีทางชนะโจทก์ได้
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ได้ส่งหมายเรียกและคำบังคับตามภูมิลำเนาของจำเลยแล้ว จำเลยจงใจขาดนัด คดีของจำเลยไม่มีทางชนะโจทก์ได้
ในวันนัดไต่สวนคำขอพิจารณาใหม่ จำเลยที่ 2 แถลงว่าขณะนี้อยู่ระหว่างที่ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 เด็ดขาดและจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำขอพิจารณาใหม่ในคดีล้มละลายนั้นด้วย
ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยที่ 2 ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว จึงไม่มีอำนาจมาร้องขอพิจารณาใหม่ ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22(3) จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยทั้งสองขาดนัดพิจารณาคดีนี้ ศาลชั้นต้นจึงพิจารณาพิพากษาคดีฝ่ายเดียวให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 2ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ ในวันนัดไต่สวนคำร้องปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ศาลจึงยกคำร้องมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยที่ 2 จะยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ได้หรือไม่ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า การยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่เป็นเรื่องเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 โดยตรงมิได้เกี่ยวกับทรัพย์ของจำเลยที่ 2กรณีจึงไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483มาตรา 22 ซึ่งบัญญัติว่า “เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจดังต่อไปนี้…(3) ประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้” นั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ หากศาลมีคำสั่งตามคำร้องย่อมมีผลทำให้ศาลต้องหยิบยกปัญหาในเรื่องหนี้ของจำเลยที่ 2 ขึ้นพิจารณาใหม่ จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์ของจำเลยที่ 2 อำนาจในการฟ้องร้องต่อสู้คดีของจำเลยที่ 2 จึงอยู่กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้เดียวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 22(3) ดังกล่าวจำเลยที่ 2 หามีอำนาจที่จะยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ไม่ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน