คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1892/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ยืมรถยนต์ของโจทก์ไปใช้เมื่อเวลาประมาณ 10 นาฬิกาโดยจะส่งคืนในวันรุ่งขึ้นและรับว่าจะไม่ให้คนอื่นยืมต่อ จนเวลาประมาณ 23 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ไปรับจำเลยที่ 2 ซึ่งมีอายุ 19 ปี เป็นบุตรผู้เยาว์ของจำเลยที่ 3 ที่ 4 ไปเที่ยวโดยมีเพื่อนหญิงชายอีกหลายคนไปด้วย พากันไปรับประทานอาหารและดื่มสุราจนถึงเวลา 2 นาฬิกา ของวันใหม่ จึงพากันไปนอนที่โรงแรมจนเวลา 4 นาฬิกาเศษ จำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์ของโจทก์ออกจากโรงแรมพาเพื่อนหญิงกลับบ้านในระหว่างทางรถยนต์ที่จำเลยที่ 2 ขับได้พลิกคว่ำเสียหาย โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ในฐานละเมิดที่จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ของโจทก์โดยประมาทเป็นเหตุให้รถยนต์พลิกคว่ำเสียหาย และจำเลยที่ 3 ที่ 4 ในฐานะบิดามารดามิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์ แม้โจทก์จะได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามสัญญายืมมีสิทธิได้รับชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญายืมแล้วก็ตาม ก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ฐานละเมิดด้วย จำเลยที่ 2 มีความประพฤติชอบมาโรงเรียนสาย ขาดเรียนจนไม่มีสิทธิสอบ แต่งกายไม่เรียบร้อย มีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับนักเรียนหญิงทางโรงเรียนเคยเรียกมารดามากำชับให้ช่วยดูแลแสดงว่าจำเลยที่ 2 มีความประพฤติไม่เรียบร้อย ขาดการอบรมดูแลที่ดี บิดามารดาไม่ดูแลเอาใจใส่ ไม่ห้ามปรามในการเที่ยวเตร่จนดึกดื่น คืนเกิดเหตุก็ยังปล่อยให้ไปเที่ยวดื่มสุราในยามดึกและพาผู้หญิงไปนอนค้างที่โรงแรม จนเกิดเหตุขับรถยนต์ของโจทก์ไปพลิกคว่ำเสียหาย แม้เหตุละเมิดเกิดจากการขับรถยนต์โดยประมาท มิได้เกิดจากความประพฤติด้านอื่นของจำเลยที่ 2 อันบิดามารดาจะต้องระมัดระวังดูแลก็ตาม เมื่อบิดามารดาไม่เอาใจใส่ดูแลความประพฤติด้านอื่นของจำเลยที่ 2 ก็แสดงว่าไม่เอาใจใส่ดูแลว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่มีใบอนุญาตขับขี่นั้นจะไปขับรถยนต์โดยประมาทอันเป็นความประพฤติอย่างหนึ่งหรือไม่ จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 ที่ 4 ซึ่งเป็นบิดามารดามิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้นจึงต้องร่วมรับผิดในผลละเมิดของจำเลยที่ 2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน1จ-3171 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 ได้ขอยืมรถดังกล่าวจากโจทก์โดยสัญญาว่าจะส่งคืนให้โจทก์ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2530 และจะไม่นำรถของโจทก์ไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์2530 เวลาประมาณ 5 นาฬิกา จำเลยที่ 1 กลับผิดสัญญาต่อโจทก์โดยนำรถของโจทก์ไปให้จำเลยที่ 2 ยืมไปขับ จำเลยที่ 2 ได้ขับขี่รถของโจทก์ไปตามถนนด้วยความประมาทเป็นเหตุให้รถแฉลบเสียหลักพลิกคว่ำได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 3 ที่ 4 ซึ่งเป็นบิดามารดาอยู่ในฐานะผู้ปกครองจำเลยที่ 2 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามหน้าที่ดูแลจำเลยที่ 2 ปล่อยให้จำเลยที่ 2 ไปก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นจำเลยที่ 3 ที่ 4 ต้องชดใช้ค่าเสียหายร่วมกับจำเลยที่ 2 ด้วย ขอศาลบังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้ยืมรถจากโจทก์จริงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2530 จำเลยที่ 2 ได้ขอยืมรถคันดังกล่าวไปโดยบอกว่าจะยืมไปส่งเพื่อน ๆ ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง จำเลยที่ 1 เห็นว่าจำเลยที่ 2 ขับรถเป็นมาหลายปีแล้ว และจำเลยที่ 3 ที่ 4 ซึ่งเป็นบิดามารดาผู้ปกครองของจำเลยที่ 2 ก็ไม่เคยว่ากล่าวจึงให้จำเลยที่ 2 ยืมรถไปใช้ได้ จำเลยที่ 2 กลับนำรถคันดังกล่าวไปใช้ด้วยความประมาทเป็นเหตุให้รถของโจทก์ได้รับความเสียหาย ฉะนั้นจำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ไม่ใช่จำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยยืมรถของโจทก์จากจำเลยที่ 1 เหตุที่เกิดเนื่องจากมีรถจักรยานยนต์คันหนึ่งขับสวนมาในช่องเดินรถที่จำเลยที่ 2 ขับในระยะกระชั้นชิดประมาณ 10 เมตรจึงได้เกิดชนกันขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ที่ 4 ได้อบรมดูแลจำเลยที่ 2 ด้วยความเอาใจใส่เสมอมา วันเวลาเกิดเหตุเป็นเวลาดึกมากแล้วจำเลยที่ 2 ได้ออกจากบ้านโดยจำเลยที่ 3 ที่ 4 ไม่รู้ ซึ่งเป็นการสุดวิสัยที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 จะห้ามปรามได้ จำเลยที่ 3 ที่ 4ได้ประพฤติต่อบุตรอย่างดีแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันและแทนกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ โจทก์ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2530 เวลาประมาณ 10 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ได้ยืมรถของโจทก์ไปใช้ โดยจะส่งคืนในวันรุ่งขึ้นและรับว่าจะไม่ให้คนอื่นยืมต่อจนเมื่อเวลาประมาณ 23 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ได้ขับรถของโจทก์ไปรับจำเลยที่ 2 ซึ่งมีอายุ 19 ปี เป็นบุตรผู้เยาว์ของจำเลยที่ 3 ที่ 4 ไปเที่ยวโดยมีเพื่อนหญิงชายอีกหลายคนไปด้วย พากันไปรับประทานอาหารและดื่มสุราจนถึงเวลา 2 นาฬิกาของวันใหม่จึงพากันไปนอนที่โรงแรมจนเวลา 4 นาฬิกาเศษ จำเลยที่ 2 ได้ขับรถของโจทก์ออกจากโรงแรมพาเพื่อนหญิง 3 คน กับนายสูงศักดิ์ เทียนทองสกุล กลับบ้าน ในระหว่างทางรถที่จำเลยที่ 2ขับได้พลิกคว่ำเสียหาย
ปัญหาแรก ที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ฎีกาว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในความเสียหายตามสัญญายืมรถ จำเลยที่ 2มิได้เป็นคู่สัญญาไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญายืม โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1ตามสัญญายืมได้อยู่แล้ว โจทก์จึงไม่เสียหายไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2ในฐานะละเมิดนั้นศาลฎีกาเห็นว่า แม้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 มิได้ให้การต่อสู้เกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แต่ประเด็นนี้เป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 จึงยกปัญหานี้ขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ในฐานละเมิดเพราะจำเลยที่ 2 ได้ขับรถของโจทก์โดยประมาท เป็นเหตุให้รถของโจทก์พลิกคว่ำเสียหายจำเลยที่ 3 ที่ 4 ในฐานะบิดามารดามิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์โจทก์หาได้ฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ฐานผิดสัญญาไม่ แม้โจทก์จะได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามสัญญายืม มีสิทธิได้รับชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญายืมก็ตาม ก็หาตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ฐานละเมิดด้วยไม่ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ในปัญหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…
ปัญหาที่สามมีว่า จำเลยที่ 3 ที่ 4 ซึ่งเป็นบิดามารดาได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้นหรือไม่ เห็นว่าที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 เบิกความว่าได้อบรมดูแลจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์อย่างดีแล้ว ไม่เคยทราบว่าจำเลยที่ 2 ขับรถได้และไม่เคยอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ขับรถนั้น เป็นการขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จำเลยที่ 3 ที่ 4 รับว่าในคืนเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 จะออกไปเที่ยวได้อย่างไรก็ไม่ทราบแสดงว่าไม่สนใจดูแลจำเลยที่ 2 อย่างใกล้ชิด เพราะแม้แต่นายประสิทธิ์ พงษ์ไพจิตร พี่ชายของจำเลยที่ 4 พยานจำเลยก็ทราบว่าจำเลยที่ 2 ขับรถเป็นมานานแล้ว โจทก์มีนายชอบ บัววังโป่ง ผู้ช่วยอาจารย์ฝ่ายปกครองของโรงเรียนตะพานหินที่จำเลยที่ 2 เรียนหนังสืออยู่เป็นพยานเบิกความโดยมีบันทึกการประชุมของโรงเรียนเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2528 ตามเอกสารหมาย จ.12 สนับสนุนว่า จำเลยที่ 2 มีความประพฤติชอบมาโรงเรียนสาย ขาดเรียนจนไม่มีสิทธิสอบ แต่งกายไม่เรียบร้อยมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับนักเรียนหญิง ทางโรงเรียนเคยเรียกมารดามากำชับให้ช่วยดูแลแล้ว แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีความประพฤติไม่เรียบร้อย ขาดการอบรมดูแลที่ดี บิดามารดาไม่ดูแลเอาใจใส่ไม่ห้ามปรามในการเที่ยวเตร่จนดึกดื่น แม้แต่คืนเกิดเหตุก็ยังปล่อยให้ไปเที่ยวดื่มสุราในยามดึกและพาผู้หญิงไปนอนค้างที่โรงแรมจนเกิดเหตุดังกล่าว ที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ฎีกาว่า ที่บิดามารดาต้องร่วมรับผิดเพราะขาดการดูแลนั้นจะต้องเป็นการดูแลเกี่ยวกับการขับรถอันเป็นเหตุละเมิดในคดีนี้ มิใช่ความประพฤติด้านอื่นของจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่เกี่ยวกับการทำละเมิดนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้เหตุละเมิดเกิดจากการขับรถโดยประมาท มิได้เกิดจากความประพฤติด้านอื่นของจำเลยที่ 2 อันบิดามารดาจะต้องระมัดระวังดูแลก็ตาม เมื่อบิดามารดาไม่เอาใจใส่ดูแลความประพฤติด้านอื่นของจำเลยที่ 2ก็แสดงว่าไม่เอาใจใส่ดูแลว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่มีใบอนุญาตขับขี่นั้นจะไปขับรถโดยประมาทอันเป็นความประพฤติอย่างหนึ่งหรือไม่ข้อโต้แย้งนี้จึงฟังไม่ขึ้น คดีฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 ซึ่งเป็นบิดามารดามิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น จึงต้องร่วมรับผิดในผลละเมิดของจำเลยที่ 2 ด้วยฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share