แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
นโยบายทั่วไปเกี่ยวกับสภาพการจ้างอันเป็นระเบียบข้อบังคับของจำเลยกำหนดไว้ว่า พนักงานผู้ซึ่งได้รับการปลดเพราะเกษียณอายุจะได้รับเงินค่าชดเชยตามกฎหมายซึ่งบริษัท (จำเลย)มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันหรือที่จะมีขึ้นในอนาคตหรือเงินบำเหน็จมีจำนวนเท่ากับเงินเดือนสุดท้ายเป็นมูลฐานการคำนวณหนึ่งเดือนต่อจำนวนหนึ่งปีแห่งการทำงานบริบูรณ์ต่อเนื่องกันทุก ๆ ปี การทำงานให้แก่บริษัทตามแต่จำนวนเงินใดจะมากกว่ากันโดยบริษัทจะเป็นผู้ออกเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ โจทก์ถูกเลิกจ้างเพราะเหตุเกษียณอายุจำนวนเงินบำเหน็จมากกว่าค่าชดเชย โจทก์จึงเลือกรับเงินบำเหน็จและลงลายมือชื่อสละสิทธิเรียกร้องค่าชดเชย ดังนี้ ถือไม่ได้ว่าการจ่ายเงินบำเหน็จตามข้อบังคับดังกล่าวมีผลเป็นการจ่ายค่าชดเชย ด้วยการสละสิทธิเรียกร้องค่าชดเชย ไม่มีผลใช้บังคับโจทก์ยังมีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยจากจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 21,995 บาท เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2524จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุเกษียณอายุ โดยไม่จ้างค่าชดเชย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 131,970 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้จ่ายค่าชดเชยเท่ากับเงินบำเหน็จซึ่งมีจำนวนมากกว่าให้โจทก์แล้วปรากฏตามหลักฐานว่าด้วยผลประโยชน์ในการเลิกจ้างและโจทก์ได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานรับรองยืนยันว่าจะไม่เรียกร้องสิทธิอื่น ๆเพิ่มเติม สิทธิและหน้าที่ระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นอันระงับไป โจทก์มีความเข้าใจอย่างชัดเจนว่าจำเลยมีเจตนาจะจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างของจำเลยให้มากพอกับการยังชีพหลังจากถูกปลดออกจากงานเพราะเกษียณอายุโจทก์ได้รับค่าชดเชยเป็นเงิน 747,830 บาท ซึ่งเป็นค่าชดเชยมากกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนดจำเลยถึงว่าเป็นการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย ไม่ทำให้ลูกจ้างเสียเปรียบหรือเสียสิทธิขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การจ่ายเงินบำเหน็จของจำเลยไม่มีผลเป็นการจ่ายแทนค่าชดเชย แต่ระเบียบข้อบังคับของจำเลยกำหนดให้โจทก์เลือกค่าชดเชยหรือเงินบำเหน็จซึ่งสูงกว่าค่าชดเชย เมื่อโจทก์แสดงเจตนารับเงินบำเหน็จและสละสิทธิรับค่าชดเชย จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนและเป็นคุณแก่โจทก์ฝ่ายเดียว การแสดงเจตนาดังกล่าวไม่เป็นโมฆะ โจทก์ไม่อาจฟ้องเรียกคาชดเชยอีกได้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า นโยบายทั่วไปเกี่ยวกับสภาพการจ้างอันเป็นระเบียบข้อบังคับของจำเลยกำหนดไว้ในข้อ 2.7.3.4 ว่า “พนักงานผู้ซึ่งได้รับการปลดเกษียณอายุ จะได้รับเงินค่าชดเชยตามกฎหมายซึ่งบริษัท (จำเลย) มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันหรือที่จะมีขึ้นในอนาคตหรือเงินบำเหน็จมีจำนวนเท่ากับเงินเดือนสุดท้ายเป็นมูลฐานการคำนวณหนึ่งเดือนต่อจำนวนหนึ่งปีแห่งการทำงานบริบูรณ์ต่อเนื่องกันทุก ๆ ปีการทำงานให้แก่บริษัท ตามแต่จำนวนเงินใดจะมากกกว่ากัน โดยบริษัทจะเป็นผู้ออกเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้” โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยตั้งแต่วันที่ 5พฤศจิกายน 2489 ได้รับเงินเดือนอัตราสุดท้ายเดือนละ 21,995 บาท จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุเกษียณอายุ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2524 โจทก์ได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบข้อบังคับไปจากจำเลยเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2523เป็นเงิน 747,830 บาท โดยได้ลงชื่อเป็นผู้รับเงินซึ่งเป็นภาษาอังกฤษมีคำแปลเป็นภาษาไทยว่า “ข้าพเจ้าได้รับเงินจากบริษัทลีเวอร์บราเธอร์ (ประเทศไทย) จำกัดเป็นจำนวนเงิน 747,330 บาท เป็นเงินทั้งหมดซึ่งบริษัทต้องผูกพันจ่ายให้แก่ข้าพเจ้าซึ่งเป็นเงินผลประโยชน์จากการเลิกจ้างเพราะเกษียณอายุ ข้าพเจ้าขอรับรองยืนยันว่า ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม ข้าพเจ้าจะไม่เรียกร้องเงินอื่นใดจากบริษัทอีกต่อไป และได้ความว่าการจ่ายเงินบำเหน็จตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยไม่มีผลเป็นการจ่ายแทนค่าชดเชย ตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยกำหนดให้พนักงานที่ถูกเลิกจ้างเพราะเหตุเกษียณอายุได้รับค่าชดเชยหรือเงินบำเหน็จตามแต่จำนวนเงินใดจะมากกกว่ากัน โจทก์ถูกเลิกจ้างเพราะเหตุเกษียณอายุ โดยมีอายุการทำงานมากกว่า 30 ปี จำนวนเงินบำเหน็จมากกว่าค่าชดเชย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับบำเหน็จตามระเบียบข้อบังคับดังกล่าวหาใช่ได้รับเพราะโจทก์สละสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยไม่ การที่โจทก์ลงชื่อในเอกสารมีข้อความสละสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยจึงถือไม่ได้ว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนเพื่อให้โจทก์ได้สิทธิรับเงินบำเหน็จอันมีจำนวนมากกว่าการจ่ายค่าชดเชยเป็นหน้าที่ของนายจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานการไม่ปฏิบัติตามเป็นความผิดทางอาญา ถือว่าเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนเป็นบทบังคับเด็ดขาด ไม่อาจระงับไปด้วยการสละสิทธิของลูกจ้างเมื่อได้ความว่าการจ่ายเงินบำเหน็จตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยไม่มีผลเป็นการจ่ายค่าชดเชย โจทก์จึงยังมีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยจากจำเลยาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการแสดงเจตนาสละสิทธิเรียกร้องของโจทก์เป็นสัญญาต่างตอบแทนและเป็นคุณประโยชน์แก่โจทก์แต่ฝ่ายเดียวไม่เป็นโมฆะ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยทำงานติดต่อกันเกินสามปีมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวันเป็นเงิน131,970 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันเลิกจ้างตามฟ้อง
พิพากษากลับให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์เป็นเงิน 131,970 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2524 จนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จ