แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ปัญหาที่ว่า การกระทำผิดของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลอุทธรณ์ก็ตาม แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยที่ 2 ก็ยกขึ้นในชั้นฎีกาได้ ความผิดฐานผลิตเพื่อจำหน่ายซึ่งอาหารผิดมาตรฐาน อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(3),60และความผิดฐานผลิตเพื่อจำหน่ายซึ่งอาหารไม่บริสุทธิ์ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(1),58 เป็นความผิดที่มีองค์ประกอบความผิดและบทลงโทษแตกต่างกัน แต่เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยผลิตเพื่อจำหน่ายซึ่งอาหารผิดมาตรฐานและอาหารไม่บริสุทธิ์ในวันเดียวกัน และอาหารที่ผลิตเพื่อจำหน่ายก็เป็นอาหารกระป๋องซึ่งภายในบรรจุปลาเกล็ดขาวทอดกรอบอย่างเดียวกันอีกทั้งไม่ปรากฏตามคำฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดทั้งสองข้อหาด้วยเจตนาต่างกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปัญหาว่าการกระทำผิดของจำเลยเป็นกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกันซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาให้มีผลตลอดไปถึงจำเลยอื่นที่มิได้ฎีกาด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2533 เวลากลางวันห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงงานอาหารเชียงเฮง โดยนายสุธรรม ตั้งสัมพันธ์ หุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1นายสุธรรม ตั้งสัมพันธ์ ในฐานะส่วนตัวจำเลยที่ 2 เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ผลิตอาหารเพื่อจำหน่ายจากกระทรวงสาธารณสุข ตามใบอนุญาตที่ ผ.187/2531 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2531 ได้กระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ ก. ตามวันเวลาดังกล่าวจำเลยทั้งสองได้ผลิตอาหารเพื่อจำหน่ายผิดมาตรฐานโดยจำเลยได้ผลิตอาหารกระป๋องซึ่งบรรจุในภาชนะที่ปิดสนิทเป็นอาหารควบคุมเฉพาะ ชนิดฉลากพื้นสีเขียวภายในบรรจุปลาเกล็ดขาวทอดกรอบอาหารดังกล่าวผิดมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 69 (พ.ศ. 2525) ลงวันที่ 4สิงหาคม 2525 ตามเอกสารท้ายฟ้องซึ่งประกาศดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจำเลยได้ทราบประกาศดังกล่าวแล้ว โดยปริมาณตะกั่ว 2.17 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ตามมาตรฐานที่กำหนดไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัมและพบรา 110 ต่ออาหาร 1 กรัมตามมาตราฐานกำหนดไม่เกิน 100 ต่ออาหาร 1 กรัม ซึ่งอาหารดังกล่าวไม่ถูกต้องตามคุณภาพหรือมาตรฐานที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด ตามมาตรา 6(2) หรือ (3) แต่ไม่ถึงขนาดดังที่กำหนดไว้ในมาตรา 27(5) ของพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 และ ข. ตามวันเวลาดังกล่าวจำเลยทั้งสองได้ผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์กล่าวคือ จำเลยได้ผลิตอาหารกระป๋องเป็นอาหารควบคุมเฉพาะชนิดฉลากพื้นสีแดงและฉลากพื้นสีเขียวภายในบรรจุปลาเกล็ดขาวทอดกรอบอาหารกระป๋องชนิดฉลากพื้นสีแดงตรวจพบเชื้อโรคอาหารเป็นพิษC.perfringen/0.1 กรัม ชนิดฉลากพื้นสีเขียวตรวจพบสารMPN Coliform 23/กรัม (กำหนดไม่เกิน 3/กรัม) พบเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ C.perfringen/0.1 กรัม ซึ่งอาหารนี้มีเชื้อโรค และสารMPN Coliform ดังกล่าวเจือปนอยู่ น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพของผู้บริโภค จึงถือได้ว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 6, 25(1)(3), 26, 28, 58, 60ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2525) ลงวันที่ 4สิงหาคม 2525 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 6, 25(1)(3), 26, 28, 58, 60 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 69 (พ.ศ. 2525) ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2525ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 สำหรับจำเลยที่ 1 ความผิดตามฟ้องข้อ ก. ปรับ 40,000 บาท ความผิดตามฟ้องข้อ ข. ปรับ 20,000 บาท รวมปรับ 60,000 บาท สำหรับจำเลยที่ 2ความผิดตามฟ้องข้อ ก. ปรับ 40,000 บาท ความผิดตามฟ้องข้อข. จำคุก 8 เดือน รวมจำคุก 8 เดือน ปรับ 40,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้หนึ่งในสี่คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน45,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 6 เดือน ปรับ 30,000 บาท เนื่องจากการกระทำผิดของจำเลยนี้กระทบต่อประชาชนเป็นส่วนรวม อาหารที่ผลิตมีเชื้อโรคและเป็นพิษประกอบกับตามรายงานการสืบเสาะ โรงงานไม่เป็นสัดส่วนและอุปกรณ์การผลิตของจำเลยไม่สะอาด กรรมวิธีการผลิตก็ไม่ดีพอ ครอบครัวจำเลยก็ประกอบอาชีพด้านนี้มาตลอด และถูกดำเนินคดีในข้อหาเดียวกันมาแล้ว แต่จำเลยก็ยังไม่ตระหนักในความรับผิดชอบต่อประชาชน ไม่ปรับปรุงการผลิตให้สะอาดปลอดภัยได้มาตรฐานเมื่อเข้ามาเป็นผู้จัดการโรงงาน โทษจำคุกจึงไม่รอจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขอให้ศาลรอการลงโทษจำคุก ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ย่อมถึงที่สุดไปแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิที่จะฎีกาได้ ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยที่ 1 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้คดีคงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกว่าการกระทำผิดของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกันซึ่งปัญหานี้แม้ว่าจำเลยที่ 2 จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ก็ตาม แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยที่ 2 จึงยกขึ้นในชั้นฎีกาได้ เห็นว่าแม้ความผิดฐานผลิตเพื่อจำหน่ายซึ่งอาหารผิดมาตรฐานตามฟ้อง ข้อ ก. อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(3), 60 และความผิดฐานผลิตเพื่อจำหน่ายซึ่งอาหารไม่บริสุทธิ์ตามฟ้องข้อ ข. อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(1), 58จะเป็นความผิดที่มีองค์ประกอบความผิดและบทลงโทษแตกต่างกันก็ตามแต่เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยผลิตเพื่อจำหน่ายซึ่งอาหารผิดมาตรฐานและอาหารไม่บริสุทธิ์ตามฟ้องทั้งสองข้อดังกล่าวในวันเดียวกันและอาหารที่ผลิตเพื่อจำหน่ายก็เป็นอาหารกระป๋องซึ่งภายในบรรจุปลาเกล็ดขาวทอดกรอบอย่างเดียวกัน อีกทั้งไม่ปรากฏตามคำฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องทั้งสองข้อด้วยเจตนาต่างกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 หาใช่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามมาตรา 91 ไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 2ข้อนี้ฟังขึ้น และเห็นว่าปัญหาว่าการกระทำผิดของจำเลยเป็นกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกันนี้ เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 6, 25(1)(3), 26, 28, 58, 60ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 69 (พ.ศ. 2525) ลงวันที่ 4สิงหาคม 2525 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามมาตรา 25(1), 58 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด สำหรับจำเลยที่ 1 ปรับ 10,000 บาทจำเลยที่ 2 จำคุก 8 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้จำเลยทั้งสองคนละกึ่งหนึ่งคงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 5,000 บาท และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด4 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์