คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1333/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เอกสารท้ายฟ้องระบุว่า รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้สั่งมอบอำนาจให้อธิบดีกรมธนารักษ์ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งมีอำนาจแต่งตั้งทนายความเพื่อฟ้องคดีจึงเป็นหนังสือมอบอำนาจที่อธิบดีกรมธนารักษ์นำมาฟ้องคดีแทนกระทรวงการคลังโจทก์ได้ ไม่จำต้องมีหนังสือมอบอำนาจโดยเฉพาะอีกและเป็นการกระทำการในนามของ รัฐบาล จึงต้องด้วยมาตรา 121 แห่งประมวลรัษฎากรไม่ต้องปิดแสตมป์ ที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของกำแพงชั้นนอกของเมืองโบราณ จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(3)และมีการขึ้นทะเบียนกำแพงเมืองเป็นที่ราชพัสดุและเป็นโบราณสถานไว้แล้ว จึงไม่ใช่ที่รกร้างว่างเปล่า แต่เป็นที่ราชพัสดุตามพระราชบัญญัติ ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 มาตรา 4 ซึ่งกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามมาตรา 5 ราษฎร์ย่อมไม่อาจยึดถือเอาเป็นกรรมสิทธิ์หรือโอนกันได้ โดยรัฐไม่จำต้องประกาศหวงห้ามอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้มอบอำนาจให้อธิบดีกรมธนารักษ์เป็นผู้ปฏิบัติราชการแทนในเรื่องการแต่งตั้งทนายความหรือมอบหมายให้ส่วนราชการฟ้องหรือแก้ต่างคดีในเรื่องทั้งปวงอันเกี่ยวเนื่องกับที่ราชพัสดุและทรัพย์สินในที่ราชพัสดุ ที่ดินบริเวณศาลหลักเมืองและตลาดสดในเขตเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นคูเมืองและกำแพงเมืองเก่า เนื้อที่รวม 310 ไร่ 1 งาน 12 ตารางวา ซึ่งเป็นเมืองโบราณก่อนสมัยสุโขทัย ทางราชการได้สงวนไว้เพื่อประโยชน์แก่แผ่นดินโดยเฉพาะจึงเป็นที่ราชพัสดุซึ่งอยู่ในความดูแลของโจทก์ และต่อมาได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุเมื่อปี 2522 ที่ดินดังกล่าวนี้มีส่วนหนึ่งอยู่ในบริเวณกำแพงเมืองชั้นนอกเนื้อที่ 3 งาน 80 ตารางวาคือที่พิพาทในคดีนี้ นายเมือง พลสยม ได้แจ้งการครอบครองไว้และต่อมานายอำเภอเมืองบุรีรัมย์ได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้โดยสำคัญผิด และจำเลยทั้งสองได้ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวจากนายเมือง จำเลยทั้งสองโดยนายอนุวรรตน์ วัฒนพงศ์ศิริผู้ใช้อำนาจปกครองดำเนินการขอออกโฉนด โจทก์จึงคัดค้าน ขอให้พิพากษาว่าที่พิพาทเป็นที่ราชพัสดุ สงวนไว้เพื่อให้ประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ และอยู่ในความครอบครองดูแลของโจทก์ขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 34 และให้จำเลยกับบริวารออกจากที่ดินดังกล่าวและห้ามเกี่ยวข้องอีก
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 มิใช่หนังสือมอบอำนาจ แต่เป็นคำสั่งของกระทรวงการคลัง ไม่มีผลตามกฎหมาย หากจะถือเป็นหนังสือมอบอำนาจก็มิได้ปิดอากรแสตมป์ นายอรัญ ธรรมโน อธิบดีกรมธนารักษ์จึงไม่มีอำนาจฟ้องที่พิพาทมิใช่ที่ดินที่ทางราชการสงวนไว้เพื่อใช้ประโยชน์แก่แผ่นดินโดยเฉพาะ ไม่เคยเป็นโบราณสถาน กำแพงเมืองหรือคูเมืองชั้นนอก จึงมิใช่ที่ราชพัสดุ แต่เป็นที่ดินของรัฐประเภทที่รกร้างว่างเปล่า ซึ่งราษฎร์สามารถครอบครองได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) เลขที่ 34 ให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่พิพาทศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยเบื้องต้นตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 (เอกสารหมาย จ.24) นั้น ระบุว่ารัฐมนตรีช่วยว่าการฯ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้สั่งมอบอำนาจให้อธิบดีกรมธนารักษ์ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในเรื่องต่าง ๆ ดังรายละเอียดในเอกสารดังกล่าวซึ่งมีการมอบอำนาจให้อธิบดีกรมธนารักษ์แต่งตั้งทนายความเพื่อฟ้องคดีรวมถึงการมอบอำนาจให้ทนายความมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆไปในทางจำหน่ายสิทธิด้วย จึงเป็นหนังสือมอบอำนาจที่อธิบดีกรมธนารักษ์นำมาฟ้องคดีแทนกระทรวงการคลังโจทก์ได้ ไม่จำต้องมีหนังสือมอบอำนาจโดยเฉพาะอีก และกรณีตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นการกระทำการในนามของรัฐบาล จึงต้องด้วยมาตรา 121 แห่งประมวลรัษฎากร อากรเป็นอันไม่ต้องเสียจึงไม่ต้องปิดแสตมป์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในประการต่อไปมีว่า ที่พิพาทเป็นที่ราชพัสดุหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่าเมื่อปี 2519 โจทก์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบสภาพที่ดินบริเวณศาลหลักเมืองและตลาดสดจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งรวมถึงที่พิพาทด้วยว่าเป็นเมืองเก่า เป็นคูเมือง และกำแพงเมืองจริงหรือไม่หากเป็นมีอาณาเขตจากจุดใดถึงจุดใดปรากฏตามเอกสารหมาย จ.8 โจทก์มีนายมนูญ ทิพยานนท์ นายช่างสำรวจ 7กรมธนารักษ์ กรรมการในคณะกรรมการดังกล่าวคนหนึ่งเป็นพยานเบิกความว่า หลังจากมีการแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวแล้วนายมนูญได้ร่วมกับกรรมการในคณะกรรมการดังกล่าวอีก 3 คนคือนายมะลิ โคกสันเทียะ ซึ่งขณะนั้นเป็นนายช่างศิลปกรรม 6 หัวหน้างานช่างสงวนรักษา กองโบราณคดี กรมศิลปากร พันเอกสกนธ์ ศรีมาวินซึ่งขณะนั้นเป็นหัวหน้าแผนกตรวจแก้ กองทำแผนที่จากรูปถ่ายทางอากาศ กรมแผนที่ทหาร และนายเกรียงศักดิ์ วัฒนวรางกูรซึ่งขณะนั้นเป็นหัวหน้าแผนกทะเบียนกรมธนารักษ์กับนายเฉวียง จินาพันธ์ ช่างสำรวจของกรมธนารักษ์และบุคคลอื่นพากันไปสำรวจเมืองบุรีรัมย์ การสำรวจใช้ภาพถ่ายทางอากาศของกรมแผนที่ทหารปี 2497 เอกสารหมาย จ.25 เป็นหลักและประกอบด้วยแผนที่ทหารปี 2464 เอกสารหมาย จ.28 เมื่อสำรวจสภาพเมืองบุรีรัมย์หมดแล้ว จึงจัดทำแผนที่คร่าว ๆ ไว้ฉบับหนึ่ง โดยเฉพาะเน้นมากในส่วนที่เป็นกำแพงเมืองและคูเมืองได้นำไปตรวจสอบกับเอกสารหมายจ.25, จ.28 และระวางแผนที่ของสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์แล้วปรากฏว่าตรงกัน หลังจากนั้นได้นำแผนที่ดังกล่าวเข้าสู่การประชุมของคณะกรรมการ คณะกรรมการลงมติเห็นชอบกับแผนที่ดังกล่าว และเชื่อว่าเมืองบุรีรัมย์เป็นเมืองโบราณจริง เพราะมีกำแพงเมืองและคูเมืองชัดเจน คณะกรรมการได้ให้ไปสำรวจความสูงและความต่ำของกำแพงเมืองและคูเมืองอีก นายมนูญ นายมะลิ นายเฉวียงและบุคคลอื่นได้ร่วมกันสำรวจเมืองบุรีรัมย์ ครั้งที่ 2 เมื่อสำรวจแล้วจึงทำแผนที่ขึ้นมาอีกฉบับหนึ่งคือแผนที่เอกสารหมาย จ.23 ซึ่งก็ตรงกันกับเอกสารหมาย จ.25 และจ.28 คณะกรรมการตรวจสอบเอกสารหมาย จ.23 แล้วลงมติว่าแผนที่ดังกล่าวถูกต้อง และเห็นพ้องกันว่าที่ดินบริเวณศาลหลักเมืองและตลาดสดจังหวัดบุรีรัมย์เดิมเป็นเมืองโบราณเป็นคูเมือง และกำแพงเมืองจริงและโจทก์มีนายมะลิพันเอกสกนธ์และนายเฉวียงเป็นพยานเบิกความยืนยันสนับสนุนคำของนายมนูญว่าได้ร่วมไปสำรวจเมืองบุรีรัมย์ดังกล่าวด้วยนอกจากนี้โจทก์ยังมีนายทิวา ศุภจรรยา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ระดับ 8ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเคยศึกษาเกี่ยวกับการใช้ภาพถ่ายทางอากาศและธรณีวิทยาในระดับปริญญาเอกที่ประเทศออสเตรเลียเป็นพยานเบิกความว่า การใช้ภาพถ่ายทางอากาศก็เพื่อทำแผนที่ สำรวจธรณีวิทยา แสดงลักษณะภูมิประเทศและนำมาศึกษาเกี่ยวกับการหาข้อมูลทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีเป็นต้น พยานได้ศึกษาเกี่ยวกับชุมชนโบราณบุรีรัมย์หรือเมืองโบราณบุรีรัมย์โดยใช้กล้อง 3 มิติ ส่องดูภาพถ่ายทางอากาศของกรมแผนที่ทหารที่ถ่ายเมื่อปี 2497 คือเอกสารหมาย จ.25 และปี 2519 ซึ่งสามารถเห็นความสูงต่ำของภูมิประเทศ และเห็นลักษณะของคูเมืองและกำแพงดิน จากนั้นได้จัดทำแผนที่เกี่ยวกับคูเมืองและกำแพงดินดังกล่าวและทำการย่อขยายไว้ตามแผนที่เอกสารหมาย จ.26 และ จ.27 ซึ่งแผนที่ทั้งสองฉบับดังกล่าวนั้นได้แสดงที่ตั้งของคูน้ำและคันดิน คันดินที่ทำเครื่องหมายลูกศร ไว้คือคันดินหรือกำแพงดินหรือกำแพงเมืองที่อยู่ในบริเวณที่พิพาทพยานเคยนำเอกสารหมาย จ.23 ไปเปรียบเทียบกับเอกสารหมาย จ.26และ จ.27 ปรากฏว่าลักษณะคันดินและคูน้ำคล้ายกันคันดินและคูน้ำดังกล่าวเป็นคันดินและคูน้ำของเมืองโบราณที่มีอยู่ทั่วประเทศยิ่งกว่านั้นนายมะลิพยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีของกรมศิลปากรยังเบิกความด้วยว่า นายมะลิได้ตรวจบริเวณที่พิพาทปรากฏว่าเป็นเมืองเก่า มีอายุไม่น้อยกว่าสมัยทวาราวดีหรือหนึ่งพันปีมาแล้ว ลักษณะคูเมืองเป็นรูปทรงกลมคล้ายขดหอยเช่นสมัยทวาราวดีอื่น ๆ ในภาคอิสานที่พบทั่วไป และมีกำแพงล้อม 2 ชั้น เพื่อป้องกันข้าศึกและขังน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง และป้องกันน้ำท่วมในหน้าน้ำและพบเสมาหินวัดกลางซึ่งเป็นวัดสำคัญสำหรับเจ้าเมืองประกอบพิธีการต่าง ๆ กับพบเศษกระเบื้องภาชนะแตกหักซึ่งได้ศึกษากันมาแล้วในทางโบราณคดีว่ามีอยู่ในสมัยทวาราวดีด้วย เห็นว่าโจทก์มีพยานหลายปากต่างได้ศึกษา สำรวจและวิเคราะห์สภาพเมืองบุรีรัมย์ตามหลักวิชาการแล้วมีความเห็นพ้องกันว่า บริเวณศาลหลักเมืองและตลาดสดจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งรวมทั้งที่พิพาทนั้นเดิมเป็นเมืองโบราณ และมีกำแพงเมืองโบราณจริงโดยระบุว่าที่พิพาทอยู่ที่บริเวณกำแพงเมืองโบราณและทั้งแผนที่ทหารปี 2464 เอกสารหมายจ.28 กับภาพถ่ายทางอากาศของกรมแผนที่ทหารปี 2497 เอกสารหมาย จ.25ก็ตรงกัน ซึ่งนายทิวาใช้กล้อง 3 มิติ ส่องดูเอกสารหมาย จ.25 สามารถเห็นลักษณะของคูเมืองและกำแพงดินแล้วจัดทำแผนที่เกี่ยวกับคูเมืองและกำแพงดินดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.26 ที่มีลูกศร ชี้ไว้คือคันดินหรือกำแพงดินหรือกำแพงเมืองที่อยู่ในบริเวณที่พิพาทดังวินิจฉัยแล้ว แสดงว่าขณะทำเอกสารหมาย จ.25 และ จ.28 นั้นมีกำแพงเมืองในบริเวณที่พิพาทอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้นเมื่อปี 2464อันเป็นปีที่ทำแผนที่ทหารเอกสารหมาย จ.28 จึงมีกำแพงเมืองในบริเวณที่พิพาทแล้ว จำเลยไม่มีพยานมาสืบหักล้างเอกสารดังกล่าวว่าจัดทำไม่ถูกต้องแต่อย่างใด คงมีแต่พยานบุคคลมาเบิกความกล่าวอ้างลอย ๆ ว่า บริเวณที่พิพาทไม่มีเนินดิน คันดินหรือกำแพงดินพยานหลักฐานจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามีกำแพงเมืองในบริเวณที่พิพาท กล่าวคือที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของกำแพงเมืองดังกล่าว และพยานโจทก์ต่างเบิกความสอดคล้องต้องกันด้วยว่า ที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของกำแพงเมืองโบราณ จำเลยคงมีแต่นายสินชัย กระบวนแสงผู้ช่วยศาสตราจารย์ระดับ 7 คณะโบราณคดีมหาวิทยาลัยศิลปากรเพียงปากเดียวเป็นพยานเบิกความว่า เคยสำรวจเมืองบุรีรัมย์ครั้งหนึ่ง แต่ไม่ได้สำรวจอย่างจริงจังโดยแวะผ่านชั่วครู่ไม่พบหลักฐานทางโบราณคดี และเป็นไปไม่ได้ว่าเมืองบุรีรัมย์จะมีกำแพงเมืองด้านนอกล้อมคูน้ำไว้ ซึ่งก็ขัดกับข้อเท็จจริงที่รับฟังแล้วว่ามีกำแพงเมืองในบริเวณที่พิพาท จึงไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ที่ว่าที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของเมืองโบราณได้ ดังนั้น เมื่อปรากฏตามเอกสารหมาย จ.23 ว่า ที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของกำแพงชั้นนอกของเมืองโบราณจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(3) ซึ่งก็มีการขึ้นทะเบียนกำแพงเมืองดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุเลขหมายทะเบียน 44285 และเป็นโบราณสถานด้วยปรากฏตามเอกสารหมาย จ.21 และ จ.22 จึงไม่ใช่ที่รกร้างว่างเปล่าที่พิพาทจึงเป็นที่ราชพัสดุตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518มาตรา 4 โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ราษฎรย่อมไม่อาจยึดถือเอากรรมสิทธิ์หรือโอนกันได้ตามกฎหมายโดยรัฐไม่จำต้องประกาศหวงห้ามแต่อย่างใด ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share