คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1327/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ใช้เส้นทางเดิมเดินออกสู่ทางสาธารณะ โดยสงบและเปิดเผยติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี มิใช่ถือวิสาสะ เส้นทางดังกล่าวจึงตกเป็นภารจำยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ประกอบกับมาตรา 1382 ต่อมาโจทก์ต้องย้ายไปใช้เส้นทางใหม่ตามที่จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินภารยทรัพย์ประสงค์ เพื่อประโยชน์แก่จำเลยที่ 1และ ส. เจ้าของโรงงานทำอิฐผู้เช่าที่ดินซึ่งจำเลยที่ 1 มีสิทธิให้โจทก์ย้ายไปใช้เส้นทางใหม่ได้ตามมาตรา 1392 เส้นทางใหม่นี้จึงตกเป็นภารจำยอมแทนเส้นทางเดิม จำเลยที่ 1 กับพวกไม่มีสิทธิที่จะปิดกั้นทางภารจำยอมหรือประกอบกรรมใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภารจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกตามมาตรา 1390 โจทก์ถมเศษอิฐทำถนนในที่ดินจำเลยที่ 1 ที่ตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินโจทก์ เป็นการจำเป็นเพื่อรักษาและใช้ทางภารจำยอมซึ่งโจทก์มีสิทธิที่จะกระทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1391 จึงไม่เป็นละเมิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่2800 ทิศใต้ และทิศตะวันออกจดที่ดินจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ เนื่องจากมีที่ดินแปลงอื่นและคลองล้อมอยู่ โจทก์ใช้ทางผ่านที่ดินจำเลยที่ 1 ออกสู่ทางสาธารณะมาประมาณ 20 ปีแล้วทางผ่านดังกล่าวกว้าง 2 เมตร ยาว 200 เมตร ต่อมาจำเลยที่ 3 รื้อสะพานทางข้ามคูระบายน้ำซึ่งโจทก์ใช้เป็นทางผ่าน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ไม่ปิดกั้นตรงคูระบายน้ำ และจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ลวดหนามปิดกั้นช่องทางเข้าออก ทำให้โจทก์ไม่สามารถผ่านเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้ตามปกติ ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งสามสร้างสะพานข้ามคูระบายน้ำให้อยู่ในสภาพเดิม ให้รื้อไม่ปิดกั้นตรงคูระบายน้ำ รื้อรั้วลวดหนามตรงช่องทางเข้าออกด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสาม
จำเลยทั้งสามให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินจำเลยที่ 1 ไม่ตกอยู่ในภารจำยอม จำเลยที่ 1 ทำสัญญาตกลงให้นายสิน ลิ่วสกุล เช่าที่ดินในเนื้อที่ 7 ไร่เศษ เป็นเวลา 10 ปี เพื่อใช้เป็นโรงงานทำอิฐได้ล้อมรั้วทั้ง 4 ด้าน ปิดประกาศว่าถนนเข้าโรงงานเป็นถนนส่วนบุคคลตั้งแต่ปี 2522 ปี 2525 นายสินต่อเติมโรงงานเพื่อสร้างโรงตากอิฐ ได้รื้อรั้วด้านติดต่อกับที่ดินโจทก์ออก โจทก์ได้อาศัยหรือถือวิสาสะเดินผ่านโรงงาน ผ่านชายคาโรงงานออกสู่ถนนส่วนบุคคลเพื่อออกไปสู่ถนนสาธารณะและใช้รถจักรยานยนต์แล่นผ่าน เป็นเหตุให้คูระบายน้ำทรุด เมื่อฝนตกทำให้น้ำท่วมโรงงาน อิฐที่ตากไว้เสียหายจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ดูแลทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และของโรงงานจึงกั้นรั้วลวดหนามเพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้น โจทก์ทำถนนบุกรุกเข้ามาในที่ดินของจำเลยที่ 1 กว้าง 2.7 เมตร ยาว 24 เมตรขอให้ยกฟ้อง และให้โจทก์ออกไปจากที่ดินของจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์ได้ทำถนนรุกล้ำเข้ามา
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ได้ภารจำยอมในที่ดินจำเลยที่ 1 โดยอายุความ แม้จำเลยที่ 1 จะให้นายสินเช่าที่ดิน ภารจำยอมก็ตกติดไปกับที่ดิน โจทก์ใช้เส้นทางดังกล่าวผ่านเข้าออกตลอดมาเพียงแต่ย้ายมาจากทางเดินซึ่งผ่านกลางโรงอิฐออกไปทางทิศตะวันตกประมาณ 3 วา ผ่านชายคาโรงอิฐ เพื่อประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 และผู้เช่า โจทก์ใช้เส้นทางดังกล่าวโดยอาศัยสิทธิตามกฎหมาย มิใช่อาศัยจำเลยหรือถือวิสาสะ โจทก์มิได้ทำให้คูระบายน้ำทรุดและน้ำท่วมโรงอิฐ จำเลยที่ 1 ที่ 3 ไม่มีอำนาจกั้นรั้วลวดหนามหรือรื้อไม้กระดานพาดข้ามคูระบายน้ำเพราะเป็นการใช้สิทธิยังแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โจทก์ใช้เส้นทางผ่านเข้าออกมา 20 ปีเศษจึงไม่ได้บุกรุกที่ดินจำเลยอันเป็นการละเมิด ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันสร้างสะพานข้ามคูระบายน้ำให้อยู่ในสภาพเดิม ร่วมกันรื้อไม่ปิดกั้นตรงคูระบายน้ำและร่วมกันรื้อรั้วลวดหนามตรงช่องทางเข้าออกในเส้นทางพิพาทยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสาม จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษายืน จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่าที่ดินของจำเลยที่ 1 ตกอยู่ในภารจำยอมหรือไม่ โจทก์เบิกความยืนยันว่า โจทก์เป็นเจ้าของร่วมกับสามีในโฉนดเลขที่ 2800 ตามเอกสารหมาย จ.1 โดยซื้อมาตั้งแต่ พ.ศ. 2497 และได้ออกโฉนดในปี2505 ทิศตะวันออกจดที่ดินจำเลยที่ 1 และโจทก์ได้ปลูกบ้านในที่ดินดังกล่าวเมื่อปี 2506 การออกจากที่ดินโจทก์ไปสู่ทางสาธารณะต้องผ่านที่ดินของจำเลยที่ 1 โจทก์ใช้ทางเดินโดยเป็นทางเดินมานานประมาณ 30 ปีแล้วโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านและไม่มีการเสียค่าธรรมเนียมผ่านทางและโจทก์มีนายจำนงค์ พาลเสือ นางบุญพัฒน์เทือกทิพย์ นายเผือก พลภักดิ์ นายคุ้ม เทือกทิพย์ นางบุญช่วยเทือกทิพย์ เบิกความสนับสนุนว่า เมื่อจะออกไปสู่ทางสาธารณะต้องเดินผ่านที่ดินโจทก์ และจำเลยที่ 1 เดินมานานประมาณ 20 ปีแล้วส่วนนายยุคล เทพทัญญ์ เบิกความสนับสนุนว่า เวลาพยานลงไปทำสวนมะพร้าวซึ่งอยู่ติดกับทางทิศใต้ของที่ดินโจทก์ได้ซื้อมาเมื่อ30 ปีมาแล้ว ต้องเดินผ่านที่ดินจำเลยที่ 1 ไปพบคันนาและผ่านที่ดินโจทก์และที่ดินนางบุญพัฒน์แล้วจึงถึงที่ดินของพยาน และโจทก์มีนายประเสริฐ ทับทิมทอง ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ตำบลมะขามเตี้ยเบิกความว่าจากบ้านโจทก์หากจะออกไปสู่ทางสาธารณะจะต้องผ่านที่ดินจำเลยที่ 1 ทางเดินดังกล่าวใช้มานาน 20 ปีจากพยานโจทก์ดังกล่าวเบิกความเชื่อมโยงสอดคล้องต้องกันน่าเชื่อว่าโจทก์และพยานโจทก์ดังกล่าวได้เบิกความไปตามความจริง และได้ความจากโจทก์และพยานโจทก์ว่า โจทก์และบุคคลอื่นได้ใช้เส้นทางเดินหมายเลข 13 และ 15 ในที่ดินจำเลยที่ 1 ตามแผนที่พิพาทซึ่งเป็นเส้นทางเดินเดิมเป็นคันนาไปสู่ทางสาธารณะ มานานประมาณ 20ปีแล้ว ต่อมานายสินได้สร้างโรงงานทำอิฐในที่ดินของจำเลยที่ 1แล้วล้อมรั้วสี่ด้านโจทก์จึงย้ายเส้นทางเดินไปเดินหมายเลข 13, 14,16 และ 15 โดยนายสินและจำเลยที่ 1 ขอให้ย้าย เพราะเส้นทางเดินหมายเลข 15 ผ่ากลางโรงงานดังกล่าว ต่อมาปี 2525 นายสินขยายโรงงานด้านทิศใต้โดยรื้อรั้วด้านดังกล่าวออก ทำให้โจทก์และคนอื่นที่เดินผ่านต้องเดินตามแนวชายคาโรงงานทำอิฐที่ขยายจำเลยทั้งสามนำสืบว่า โจทก์และบริวารเพิ่งเดินผ่านที่ดินของจำเลยที่ 1 เมื่อนายสินได้ก่อสร้างโรงงานทำอิฐเพิ่มเติมเมื่อปลายปี2525 แต่จำเลยที่ 1 ได้เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า เดิมที่ดินของจำเลยที่ 1 เป็นที่นามีคันนากว้างประมาณ 1 ศอก ใช้เดินด้วยและจำเลยที่ 2 ก็เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า โจทก์ซื้อที่ดินจากนายคุ้ม ก่อนที่จะมีการสร้างซอยโรงอิฐในขณะนั้นชาวบ้านคนอื่นหากจะไปยังถนนสายสุราษฎร์ธานี-พุนพินจะต้องเดินผ่านที่ดินของจำเลยที่ 1 โจทก์ใช้เส้นทางโดยใช้รถเข็นมะพร้าวผ่านที่ดินของจำเลยที่ 1 เริ่มเมื่อปี 2525 โดยใช้เส้นทางเดิมต้องผ่านทะลุโรงงานทำอิฐในปัจจุบัน ต่อมานายสินขยายโรงงานทำอิฐก็มีการขยับเส้นทางที่ใช้ผ่าน และนายสิน ลิ่วสกุล พยานจำเลยผู้เช่าที่ดินซึ่งเป็นเจ้าของโรงงานทำอิฐเบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่าเมื่อพยานถมที่ดินก่อสร้างโรงงานก็พบเห็นโจทก์และชาวบ้านเดินผ่านทางชายคาโรงงานทำอิฐ บางครั้งก็ผ่านทะลุกลางโรงงานทำอิฐไปโดยเดินผ่านทางหมายเลข 15 ในแผนที่พิพาทต่อมาเมื่อมีการขยายโรงงานดังกล่าวก็เปลี่ยนมาใช้เส้นทางหมายเลข 14 ในแผนที่พิพาท เห็นว่าจากคำพยานจำเลยดังกล่าวเจือสมกับพยานโจทก์ฟังได้ว่าโจทก์และบริวารได้ใช้เส้นทางหมายเลข 15 ในแผนที่พิพาทเดินออกสู่ทางสาธารณะโดยสงบและเปิดเผยติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี มิใช่ถือวิสาสะ เส้นทางเดินดังกล่าวจึงตกเป็นภารจำยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401ประกอบกับมาตรา 1382 และได้ความต่อมาว่าในปี พ.ศ. 2525โจทก์ต้องย้ายไปใช้เส้นทางหมายเลข 14 ตามที่จำเลยที่ 1 ประสงค์เพื่อประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 เจ้าของที่ดินภารยทรัพย์และนายสินเจ้าของโรงงานทำอิฐผู้เช่าที่ดินซึ่งจำเลยที่ 1 มีสิทธิให้โจทก์ย้ายไปใช้เส้นทางเดินหมายเลข 14 ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1392 ดังนั้นเส้นทางหมายเลข 14 จึงตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินโจทก์แทนเส้นทางหมายเลข 15 จำเลยที่ 1 กับพวกจึงไม่มีสิทธิที่จะปิดกั้นทางภารจำยอมหรือประกอบกรรมใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภารจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1390 และการที่โจทก์ถมเศษอิฐทำถนนในที่ดินจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยทั้งสามอ้างว่าโจทก์ทำโดยละเมิดนั้นเห็นว่าตามพฤติการณ์การกระทำของโจทก์เป็นการจำเป็นเพื่อรักษาและใช้ภารจำยอม ซึ่งโจทก์มีสิทธิที่จะกระทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1391 หาเป็นละเมิดไม่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share