แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้ยืมที่จะนำมาฟ้องคดีได้นั้น อาจเกิดขึ้นในขณะกู้ยืมเงินกันหรือภายหลังจากนั้นก็ได้ โจทก์ฟ้องเรียกหนี้เงินกู้จากจำเลยโดยอาศัยคำให้การพยานที่จำเลยเบิกความไว้ในคดีอาญามาเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมคำให้การพยานดังกล่าว จึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือใช้ฟ้องร้องบังคับคดีแก่จำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้เงินไปจากโจทก์รวม 3 ครั้งเป็นเงิน10,000 บาท 30,000 บาท และ 50,000 บาท ตามลำดับ มิได้ทำสัญญากู้ยืมเงินกันไว้ แต่จำเลยก็ยอมรับและลงลายมือชื่อไว้ในบันทึกคำให้การพยานตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3069/2526 หมายเลขแดงที่ 1412/2527 ของศาลอาญาธนบุรี ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์แม้จะกู้ยืมเงินโจทก์ก็ไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีได้ เพราะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่าจำเลยกู้เงินโจทก์จำนวน 90,000 บาท โดยไม่ได้ทำสัญญากู้ยืมเป็นหนังสือ ต่อมาจำเลยเบิกความเป็นพยานโจทก์ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1412/2527 ของศาลอาญาธนบุรีว่า จำเลยกู้เงินจำนวนดังกล่าวจากโจทก์คดีนี้จริงและยังมิได้ชำระหนี้คืนปรากฏตามภาพถ่ายคำให้การพยานเอกสารหมาย จ.7 มีปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาจำเลยว่า เอกสารหมาย จ.7 ใช้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินได้หรือไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคแรก บัญญัติว่า “การกู้ยืมเงินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่” ศาลฎีกาเห็นว่าหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้ยืมที่จะนำมาฟ้องคดีนั้นอาจเกิดขึ้นในขณะกู้ยืมเงินกันหรือภายหลังจากนั้นก็ได้ สำหรับคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกหนี้เงินกู้จากจำเลยโดยอาศัยคำให้การพยานที่จำเลยเบิกความไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ 1412/2527 ของศาลอาญาธนบุรีเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม คำให้การพยานเอกสารหมาย จ.7 ดังกล่าวซึ่งจำเลยให้การด้วยความสมัครใจเอง จึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ ใช้ฟ้องร้องบังคับคดีแก่จำเลยได้ เมื่อจำเลยยังมิได้ชำระหนี้เงินกู้ยืมจำเลยต้องรับผิดใช้คืนแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”
พิพากษายืน