แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลมีคำสั่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดก แม้จำเลยจะได้ครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแต่ผู้เดียวตลอดมา ก็ต้องถือว่าจำเลยครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย จำเลยจะยกอายุความ 1 ปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 มาใช้บังคับหาได้ไม่ คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นางคล้าม เพ็งสุข กับนายปลั่ง เพ็งสุข สมรสกันก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 มีบุตรด้วยกัน 7 คนคือ นายแจ่ม เพ็งสุข นางผิว นาคอุไร นายแพ เพ็งสุข นางยิ้มแก้วสกุลณี นางขันธ์ ร้ายใจบุญ (โจทก์) นายถนอม เพ็งสุข (จำเลย)และนายจัน เพ็งสุข นายปลั่งถึงแก่กรรมไปนานแล้ว นายจันถึงแก่กรรมก่อนนางคล้ามและไม่มีผู้รับมรดกแทนที่ ขณะที่นางคล้ามถึงแก่กรรมเหลือทายาทที่ยังมีชีวิตอยู่คือ นางผิว นายแจ่ม นายแพ นางยิ้มโจทก์และจำเลย นางคล้ามมีมรดกคือที่ดินโฉนดเลขที่ 47705มีเนื้อที่ประมาณ 1 งาน 23 ตารางวา และที่ดินโฉนดเลขที่ 47706มีเนื้อที่ประมาณ 8 ไร่ 90 ตารางวา ที่ดินทั้ง 2 แปลงตั้งอยู่ที่ตำบลลาดพร้าว อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร มีราคา 5,119,500 บาทจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางคล้ามตามคำสั่งศาล จำเลยไม่จัดสรรผลประโยชน์ที่ได้จากกองมรดกแก่ทายาทอื่นตามส่วน ไม่จัดทำบัญชีทรัพย์แสดงรายรับรายจ่ายของกองมรดกและไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกรวมทั้งผลประโยชน์ที่ได้จากกองมรดกให้แก่ทายาทรวมทั้งโจทก์ตามส่วนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวโจทก์มีสิทธิ 1 ส่วน เท่ากับ 1 ไร่ 1 งาน68.83 ตารางวา มีราคาประมาณ 853,250 บาท โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยแบ่งปันทรัพย์มรดกให้โจทก์หลายครั้ง แต่จำเลยเพิกเฉยตลอดมา ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์มรดกเฉพาะส่วนของโจทก์ ซึ่งจะนำไปให้ผู้อื่นเช่าได้ในราคาตารางวาละ 5 บาทต่อเดือน คิดเป็นเงินประมาณเดือนละ 2,800 บาท จึงขอให้บังคับจำเลยแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้โจทก์ 1 ใน 6 ส่วน เป็นเนื้อที่ 1 ไร่1 งาน 68.83 ตารางวา หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และถ้าไม่สามารถแบ่งที่ดินให้แก่โจทก์ได้ให้นำออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินที่ได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาทและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินเดือนละ 2,800 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะแบ่งมรดกให้แก่โจทก์เสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกต่อศาลแพ่งเพราะต้องการที่จะโอนที่ดินเป็นของจำเลยแต่ผู้เดียวตามพินัยกรรมโจทก์ไม่ได้คัดค้านหรือโต้แย้งสิทธิรวมทั้งทายาทอื่นด้วยเพราะทายาทแต่ละคนได้รับส่วนแบ่งไปครบแล้วทุกคน จำเลยใช้ที่ดินตามฟ้องทำนาตลอดมา คดีโจทก์ขาดอายุความเพราะไม่ได้ฟ้องภายใน 1 ปีและโจทก์ไม่เคยเรียกร้องสิทธิหรือเข้าทำประโยชน์หรือครอบครองร่วมกับจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ใช้ค่าเสียหายเป็นเงินเดือนละ 2,800 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินโฉนดเลขที่47705 และเลขที่ 47706 ตำบลลาดพร้าว อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานครให้แก่โจทก์ 1 ใน 6 ส่วน หากแบ่งไม่ได้ให้นำออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินแบ่งให้โจทก์ 1 ใน 6 ส่วน ส่วนคำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาในประการแรก ขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งงดสืบพยานจำเลยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2528 นั้นเห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวเป็นกรณีสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยได้แถลงไว้ในวันนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 27 สิงหาคม 2528ว่า ถ้านัดหน้าจำเลยไม่สามารถได้พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองมาไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ จำเลยก็ไม่ติดใจสืบพยานต่อไป ครั้นถึงวันนัดต่อมา คือวันที่ 1 ตุลาคม 2528 จำเลยไม่สามารถนำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองดังกล่าวมาศาล และจำเลยก็มิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองดังกล่าวมาจากพนักงานเจ้าหน้าที่เขตบางกะปิผู้ครอบครองพินัยกรรมนั้น การที่จำเลยกล่าวอ้างว่า ทนายจำเลยถอนตัวจำเลยไม่มีความรู้ในการดำเนินกระบวนพิจารณา และจำเลยมีพินัยกรรมฉบับที่อยู่กับจำเลยมาแสดง เป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาประวิงคดี การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งถือว่าจำเลยไม่ติดใจสืบพยานจำเลยตามที่จำเลยได้เคยแถลงไว้เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2528ดังกล่าว จึงเป็นการชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปตามฎีกาของจำเลยมีว่า โจทก์มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกตามฟ้องหรือไม่ นั้น เห็นว่า จำเลยกล่าวอ้างว่า เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยแต่ผู้เดียว แต่จำเลยก็ไม่สามารถนำพินัยกรรมฉบับที่กล่าวอ้างมาแสดงต่อศาล ยิ่งกว่านั้นโจทก์ได้มีหนังสือของนายธงไชย ม่วงเพ็ง ผู้ช่วยผู้อำนวยการ เขตบางกะปิรักษาราชการแทนผู้อำนวยการเขตบางกะปิ ส่งศาลพร้อมเอกสารหมาย จ.9ซึ่งเป็นพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง ทำเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2511มีใจความว่า นางคล้ามเจ้ามรดกไม่ประสงค์จะยกทรัพย์สินให้ทายาทคนหนึ่งคนใดโดยเฉพาะเจาะจง จึงทำเอกสารฝ่ายเมืองฉบับนี้ยกเลิกพินัยกรรมฉบับอื่นโดยสิ้นเชิง ซึ่งเป็นผลให้ทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมทุกคน โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมจึงมีสิทธิรับมรดกตามฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วนั้นเห็นว่าการที่ศาลแพ่งมีคำสั่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดก และแม้จำเลยได้ครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแต่ผู้เดียวตลอดมา ก็ต้องถือว่าจำเลยครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย จำเลยจึงจะยกอายุความ 1 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มาใช้บังคับหาได้ไม่คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ”
พิพากษายืน.