แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยทำความผิดข้อหาทำสุราแช่กับมีสุราแช่ และข้อหาทำสุรากลั่นกับมีสุรากลั่นคนละวันเวลากัน มิใช่ทำผิดในวันเวลาเดียวกันหรือในคราวเดียวกัน จึงเป็นการกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน ต้องลงโทษรวม 4 กระทงทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคแรก.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493มาตรา 5, 25, 30, 31, 32, 42 ทวิ 45 พระราชบัญญัติสุรา (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2497 มาตรา 4, 5, 6, 11 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา33, 91 และริบของกลางทั้งหมดเป็นของกรมสรรพสามิตด้วย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติสุราพ.ศ. 2493 มาตรา 5, 25, 30, 31, 32, 42 ทวิ, 45 พระราชบัญญัติสุรา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497 มาตรา 4, 5, 6, 11 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 เรียงกระทงลงโทษ ฐานมีภาชนะเครื่องกลั่นสุรา จำคุก 4 เดือน ฐานทำสุรากลั่นจำคุก 2 เดือนฐานทำสุราแช่ ปรับ 200 บาท ฐานมีสุรากลั่นปรับ 500 บาท ฐานมีสุราแช่ปรับ 1,000 บาท ฐานขายสุรากลั่น จำคุก 4 เดือน ฐานมีเชื้อสุราปรับ 200 บาท รวมจำคุก 10 เดือน ปรับ 1,800 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 5 เดือน ปรับ 900 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลางเป็นของกรมสรรพสามิต
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10มกราคม 2534 เวลากลางวัน จำเลยทำสุราแช่และวันที่ 17 มกราคม2534 เวลา 9 นาฬิกา จำเลยมีสุราแช่ วันที่ 17 มกราคม 2534 เวลา9 นาฬิกา จำเลยทำสุรากลั่น วันที่ 17 มกราคม 2534 เวลา 14.30นาฬิกา จำเลยมีสุรากลั่น เห็นว่า ตามฟ้องของโจทก์ดังกล่าว โจทก์กล่าวหาว่า จำเลยทำผิดข้อหาทำสุราแช่กับมีสุราแช่และข้อหาทำสุรากลั่นกับมีสุรากลั่นคนละวันเวลากัน มิใช่ทำผิดในวันเวลาเดียวกันหรือในคราวเดียวกัน จึงเป็นการกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือต้องลงโทษจำเลยฐานทำสุราแช่ ทำสุรากลั่น มีสุราแช่ และมีสุรากลั่นรวม 4 กระทง ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป…
ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษเห็นว่า ในกระทงความผิดที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกนั้น ศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำคุกที่ลงไว้ในแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก การที่จำเลยฎีกาโต้แย้งเกี่ยวกับดุลพินิจของศาลว่า สมควรรอการลงโทษให้จำเลยนั้นเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน.