แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ชายและหญิงเพียงแต่ประกอบพิธีแต่งงานเพื่ออยู่กินกันตามประเพณีโดยไม่มีเจตนาจะจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย เงินที่ฝ่ายชายมอบให้แก่ฝ่ายหญิงจึงมิใช่ของหมั้นและสินสอดตามกฎหมายแม้จะมีการหมั้นกันตามประเพณีและมอบทรัพย์สินให้แก่กันในขณะหญิงอายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ก็ตาม ฝ่ายชายก็หามีสิทธิเรียกคืนไม่.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นบิดาโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นบิดามารดาจำเลยที่ 3 โจทก์ที่ 1 ได้สู่ขอและหมั้นจำเลยที่ 3 ให้โจทก์ที่ 2 ด้วยเงินสด 4,000 บาท วันทำพิธีสมรสโจทก์ทั้งสองได้มอบเงินค่าสินสอดให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 อีก 11,000 บาทและต้องเสียค่าอาหารและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการทำพิธีสมรสเป็นเงิน10,150 บาท แต่เมื่อทำพิธีสมรสแล้วจำเลยที่ 3 ไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรสและไม่ยอมอยู่กินเป็นสามีภริยากับโจทก์ที่ 2 ต่อมาโจทก์ทั้งสองทราบความจริงว่าขณะหมั้นจำเลยที่ 3 อายุไม่ครบ 17 ปีการหมั้นจึงตกเป็นโมฆะจำเลยทั้งสามต้องคืนเงินของหมั้นและสินสอดกับชดใช้ค่าอาหารและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสามไม่คืนและไม่ชดใช้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 25,150 บาทกับดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้แต่เรียกสินสอดจากโจทก์อย่างเดียวเป็นเงิน 15,000 บาท หลังทำพิธีสมรสโจทก์ที่ 2 อยู่กินกับจำเลยที่ 3 เป็นเวลา 2 เดือนเศษ แล้วออกจากบ้านจำเลยไปเอง โจทก์ที่ 2 ไม่เคยเรียกร้องให้มีการจดทะเบียนสมรสจำเลยที่ 3 ยังพร้อมที่จะจดทะเบียนสมรสและอยู่กินกับโจทก์ที่ 2จำเลยทั้งสามไม่ผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 15,000บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยทั้งสามไม่ต้องคืนเงินของหมั้นและเงินสินสอดแก่โจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีคงมีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยทั้งสามจะต้องคืนเงินของหมั้นและเงินสินสอดแก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่ …พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงตามที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบไม่โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ได้หมั้นกันเมื่อวันที่ 22 พฤาภาคม 2529 และแต่งงานกันเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2530 โดยโจทก์ที่ 2 มอบเงินจำนวน 4,000 บาทให้จำเลยที่ 3 เป็นของหมั้น และโจทก์ที่ 1 มอบเงินจำนวน 11,000บาท ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นสินสอด ขณะหมั้นจำเลยที่ 3อายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ หลังแต่งงานและอยู่กินด้วยกันนานประมาณ1 เดือน โจทก์ที่ 2 ได้หนีออกจากบ้านจำเลยทั้งสามไป แต่ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 3 เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรสนั้นศาลฎีกาเห็นว่า ทางพิจารณาข้อเท็จจริงไม่ปรากฏจากการนำสืบของโจทก์เลยว่า ทั้งก่อนและในวันแต่งานฝ่ายโจทก์ได้เคยพูดกับทางฝ่ายจำเลยถึงเรื่องการจดทะเบียนสมรสให้เป็นกิจจะลักษณะ ตลอดเวลาที่อยู่กินด้วยกันประมาณ 1 เดือน โจทก์ที่ 2 ก็ไม่เคยขอให้จำเลยที่ 3 ไปจดทะเบียนสมรส กลับได้ความจากโจทก์ที่ 2 เองว่า โจทก์ที่ 2 ไม่เคยมีความคิดที่จะจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 3 มาก่อนโจทก์ที่ 2 ไปขอให้จำเลยที่ 3 ไปจดทะเบียนสมรสตามคำแนะนำของทนายความ นอกจากนั้น โจทก์ที่ 2 ยังเบิกความว่า แม้จำเลยที่ 3 อายุไม่ครบ 17 ปี โจทก์ที่ 2 ก็จะแต่งงานด้วย ซึ่งแสดงว่าโจทก์ที่ 2 มุ่งประสงค์จะแต่งงานอยู่กินกับจำเลยที่ 3 ตามประเพณีเป็นสำคัญ หาได้นำพาต่อการจดทะเบียนสมรสไม่ เมื่อโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 3 เพียงแต่ประกอบพิธีแต่งงานเพื่ออยู่กินกันตามประเพณีไม่มีเจตนาจะจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายเงินทั้งหลายที่ฝ่ายโจทก์มอบให้แก่ฝ่ายจำเลยจึงไม่ใช่ของหมั้นและสินสอดตามกฎหมายแม้จะมีการหมั้นกันตามประเพณีและมอบทรัพย์สินให้แก่กัน ในขณะจำเลยที่ 3 อายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ โจทก์ก็หามีสิทธิเรียกคืนไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.