คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6595/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ค่าปรับที่คู่กรณีกำหนดไว้ในสัญญาถือได้ว่าเป็นเบี้ยปรับเพื่อการที่จะชดใช้บรรเทาความเสียหายอันอาจจะมีหรือเกิดขึ้นไว้ล่วงหน้า เพื่อให้เป็นความพอใจแก่ฝ่ายที่มิได้ผิดสัญญาซึ่งต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏชัดแจ้งว่าโจทก์เสียหายเต็มตามจำนวนค่าปรับที่กำหนดไว้ในสัญญา และแม้ว่าจำเลยจะมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่ายินยอมชำระค่าปรับตามสัญญาก็ตาม หากเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลย่อมใช้ดุลพินิจลดค่าปรับหรือเบี้ยปรับตามสัญญาลงได้
สำหรับราคาสิ่งของที่ซื้อขายกันเป็นเงิน 2,064,606 บาทโจทก์ใช้สิทธิริบหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาไว้เป็นเงิน103,231 บาทแล้ว โจทก์เพิ่งมาบอกเลิกสัญญาภายหลังเป็นเวลานานถึง 307 วัน รวมค่าปรับรายวันเป็นจำนวนเงินสูงถึง 1,267,667.47 บาท จึงนับว่าสูงเกินส่วน ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจลดค่าปรับลงนั้น นับว่าเหมาะสมแก่ความเสียหายของโจทก์ตามควรแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2538 โจทก์ทำสัญญาซื้อสารเคมีเมทธิลเซ็นทรัลไลท์ จำนวน 6.10 ตัน ราคา 2,064,606บาท ไว้ใช้ในราชการจากจำเลย โดยจำเลยตกลงส่งมอบสารเคมีดังกล่าวแก่โจทก์ภายในวันที่ 5 เมษายน 2539 และจำเลยได้นำแคชเชียร์เช็คของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเตาปูนจำนวน 103,231 บาท มอบให้โจทก์เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาในสัญญาซื้อขายมีข้อตกลงว่าหากจำเลยไม่ส่งมอบสารเคมีดังกล่าวให้โจทก์หรือส่งมอบไม่ถูกต้องครบถ้วน โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญา ในกรณีที่โจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจำเลยต้องชำระค่าปรับคิดเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.20 ของราคาสารเคมีที่ยังมิได้ส่งมอบ นับถัดจากวันครบกำหนดส่งมอบจนถึงวันที่จำเลยส่งมอบให้ครบถ้วนและในระหว่างที่โจทก์ยังมิได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา หากโจทก์เห็นว่าจำเลยไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ โจทก์จะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ และมีสิทธิที่จะปรับจำเลยจนถึงวันบอกเลิกสัญญาได้อีกเมื่อครบกำหนดส่งมอบ จำเลยมิได้ส่งมอบสารเคมีที่ซื้อขายให้โจทก์ โจทก์จึงเรียกให้จำเลยชำระค่าปรับอัตราวันละ4,129.21 บาท ซึ่งเท่ากับอัตราร้อยละ 0.20 ของราคาสารเคมีที่ไม่ส่งมอบนับแต่วันที่ 6 เมษายน 2539 จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์แจ้งว่ายินยอมชำระค่าปรับแก่โจทก์ ต่อมาโจทก์เห็นว่าจำเลยไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาได้ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญากับจำเลยจำเลยทราบการบอกเลิกสัญญาวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2540 โดยโจทก์แจ้งจำเลยด้วยว่าให้นำเงินค่าปรับมาชำระให้โจทก์จนถึงวันบอกเลิกสัญญา เป็นเวลา 307 วัน วันละ 4,129.21 บาท รวมเป็นเงิน1,267,667.47 บาท และแจ้งริบหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาโจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน1,267,667.47 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 มกราคม 2541 อันเป็นวันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงินรวม 60,691.75 บาท

จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 600,000 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 มกราคม2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงว่า เบี้ยปรับที่โจทก์เรียกร้องตามฟ้องนั้นเกินส่วนที่จะเรียกร้องหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่ากรณีที่จำเลยปฏิบัติผิดสัญญาซื้อขายเนื่องจากไม่สามารถส่งมอบสิ่งของให้แก่โจทก์ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 9 ข้อ 10 สามารถแยกได้เป็น3 ขั้นตอน ดังนี้ 1. ในกรณีจำเลยไม่ส่งมอบสิ่งของตามกำหนดโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญา ริบหลักประกันเรียกราคาที่เพิ่มขึ้น และปรับจำเลยเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.20 ของราคาสิ่งของ 2. ในกรณีที่โจทก์ไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อจำเลยไม่ส่งมอบสิ่งของ จำเลยยอมให้โจทก์ปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.20 ของราคาสิ่งของ3. ภายหลังที่โจทก์ให้โอกาสจำเลยปฏิบัติตามสัญญา โดยยังไม่บอกเลิกสัญญา แต่จำเลยก็ยังไม่สามารถส่งมอบสิ่งของได้ หากโจทก์เห็นว่าจำเลยไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาริบหลักประกันเรียกราคาที่เพิ่มขึ้นและปรับจำเลยเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.20 ของราคาสิ่งของ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคู่สัญญาตกลงกันว่าหากมีการผิดสัญญาไม่ส่งมอบสิ่งของตามกำหนด จำเลยยอมเสียค่าปรับเป็นรายวันให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 0.20 ของราคาสิ่งของซึ่งอัตราค่าปรับที่กำหนดไว้ดังกล่าวเป็นอัตราที่เหมาะสมทุกประการและตามทางปฏิบัติในสัญญาซื้อขายทั่วไปก็ได้กำหนดค่าปรับไว้ในอัตราเดียวกันนี้ จำเลยก็ไม่ได้ต่อสู้เป็นประเด็นข้อพิพาทว่าค่าปรับสูงเกินส่วนแต่อย่างใดอีกทั้งจำเลยยังได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่ายินยอมชำระค่าปรับตามสัญญาให้โจทก์อีกด้วยตามเอกสารหมายจ.4 ดังนั้น เมื่อคดีได้ความว่าโจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาตามเอกสารหมาย จ.1 แล้ว จำเลยผิดสัญญาไม่ส่งมอบสิ่งของตามกำหนดจำเลยจึงต้องชำระค่าปรับรายวันให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 0.20ของราคาสิ่งของคิดเป็นค่าปรับวันละ 4,129.21 บาท นับแต่วันที่ 6เมษายน 2539 อันเป็นวันถัดจากวันครบกำหนดส่งมอบสิ่งของจนถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2540 อันเป็นวันบอกเลิกสัญญารวม307 วัน เป็นเงินรวม 1,267,667.47 บาท ทั้งนี้ไม่รวมหลักประกันตามสัญญา ซึ่งโจทก์มีสิทธิริบได้ตามสัญญาข้อ 8 ข้อ 10 เอกสารหมายจ.1 การที่ศาลชั้นต้นนำหลักประกันไปรวมเป็นส่วนหนึ่งของเบี้ยปรับโจทก์จึงไม่เห็นพ้องด้วยนั้น เห็นว่า แม้จะได้มีการกำหนดค่าปรับกันไว้ในสัญญาดังข้ออ้างของโจทก์ก็ตาม แต่ว่าเงินค่าปรับตามที่คู่กรณีกำหนดไว้นั้น ถือได้ว่าเป็นเบี้ยปรับเพื่อการที่จะชดใช้บรรเทาความเสียหายอันอาจจะมีหรือเกิดขึ้นไว้ล่วงหน้า เพื่อให้เป็นความพอใจแก่ฝ่ายที่มิได้ผิดสัญญาซึ่งต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคแรก ที่บัญญัติไว้ว่า “ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้…..”แสดงว่าเบี้ยปรับนั้น แม้จะได้กำหนดกันไว้ในสัญญาแต่กฎหมายก็มิได้บังคับไว้โดยเด็ดขาดว่าจะต้องให้เป็นไปตามนั้น ทั้งนี้ต้องพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินเท่านั้นก็หาไม่ ดังนั้นเมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏชัดแจ้งว่าโจทก์เสียหายเต็มตามจำนวนค่าปรับที่กำหนดไว้ในสัญญาและแม้ว่าจำเลยจะมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่า ยินยอมชำระค่าปรับตามสัญญาก็ตามหากเบี้ยปรับสูงเกินส่วนศาลย่อมใช้ดุลพินิจลดค่าปรับหรือเบี้ยปรับตามสัญญาลงได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383 วรรคแรก สำหรับราคาสิ่งของที่ทำการซื้อขายกันเป็นเงิน2,064,606 บาท โจทก์ใช้สิทธิริบหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาซึ่งเป็นแคชเชียร์เช็คของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเตาปูนไว้เป็นเงิน 103,231 บาทแล้ว โจทก์เพิ่งมาบอกเลิกสัญญาภายหลังเป็นเวลานานถึง 307 วัน รวมค่าปรับรายวันเป็นจำนวนเงินสูงถึง1,267,667.47 บาท จึงนับว่าสูงเกินส่วนเห็นสมควรลดลง ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจลดค่าปรับหรือเบี้ยปรับรายวันลงเป็นกำหนดให้600,000 บาทนั้น นับว่าเหมาะสมแก่ความเสียหายของโจทก์ตามควรแก่พฤติการณ์แห่งคดี จึงชอบแล้ว ไม่มีเหตุให้ศาลฎีกาเปลี่ยนแปลงแก้ไขเป็นอย่างอื่น ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share