คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1078/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยซื้อทองจากโจทก์โดยวิธีผ่อนส่ง โจทก์ให้จำเลยลงชื่อในสัญญารับเป็นตัวแทนไว้ แต่การปฏิบัติระหว่างโจทก์จำเลยไม่ใช่เรื่องตัวการตัวแทน จำเลยไม่ชำระเงินค่าทองให้โจทก์ ก็เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2531 จำเลยในฐานะตัวแทนจำหน่ายสินค้าให้โจทก์ได้รับมอบสินค้าซึ่งเป็นสร้อยข้อมือทองคำและสร้อยคอทองคำรวม 4 รายการ เป็นเงินทั้งสิ้น 46,400 บาทของโจทก์เพื่อนำไปขายโดยกำหนดส่งสินค้าหรือเงินที่จำหน่ายได้คืนภายในวันที่ 19 กันยายน 2531 แต่ระหว่างวันที่ 20 สิงหาคม2531 ถึงวันที่ 29 กันยายน 2531 เวลากลางวันและกลางคืนวันเวลาใดไม่ปรากฏชัดจำเลยได้เบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าวของโจทก์ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 วรรคแรก ให้จำคุก 4 เดือน จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์เป็นเจ้าของร้านขายทอง ก่อนเกิดเหตุ จำเลยรับทองของโจทก์ไปจำหน่ายโดยรับจากนางอารมย์ ชัยเฉลิมศักดิ์ อีกต่อหนึ่งเมื่อขายทองได้แล้วจำเลยจะชำระเงินให้แก่นางอารมย์ นางอารมย์จะนำมาชำระให้โจทก์อีกต่อหนึ่ง ภายหลังจำเลยได้รับทองจากโจทก์ไปจำหน่ายโดยตรงแล้วไม่นำทองมาคืนหรือชำระเงินค่าทองให้โจทก์มีปัญหาตามที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยรับทองจากโจทก์ไปจำหน่ายในฐานะตัวแทนโจทก์หรือในฐานะผู้ซื้อไปขายเพื่อหวังกำไรเท่านั้นโจทก์มีพยานคือตัวโจทก์เบิกความยืนยันว่า จำเลยตกลงเป็นตัวแทนจำหน่ายทองของโจทก์โดยมีข้อตกลงกันว่าทองที่จำเลยรับไปแล้วจะขายได้หรือไม่ก็ตาม จำเลยจะต้องนำเงินที่ขายได้หรือทองที่รับไปมาส่งมอบคืนให้โจทก์ภายใน 30 วัน จำเลยจะต้องขายในราคาที่โจทก์กำหนดไว้เท่านั้นจำเลยจะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินร้อยละ 3 ของราคาที่กำหนดไว้ ก่อนที่โจทก์กับจำเลยจะได้ทำสัญญารับเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าตามเอกสารหมาย จ.1 จำเลยเคยรับทองจากโจทก์ไปขาย แต่ได้ทำสัญญาในรูปของการให้ยืมทรัพย์ นางอารมณ์ซึ่งรับทองจากร้านโจทก์ไปขายเช่นเดียวกับจำเลยได้เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า เดิมจำเลยรับทองจากพยานไปขาย ซึ่งเป็นทองที่พยานรับมาจากร้านของโจทก์อีกต่อหนึ่ง ต่อมาพยานเห็นว่าวิธีการดังกล่าวทำให้พยานต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับทองที่จำเลยรับไปจากพยาน พยานจึงพาจำเลยไปรับทองจากโจทก์โดยตรง ดังนี้ จะเห็นได้ว่าก่อนเกิดเหตุ จำเลยเคยรับทองไปจากโจทก์ โดยไม่มีการทำสัญญารับเป็นตัวแทนจำหน่าย แต่ได้ทำสัญญาในรูปการให้ยืมทรัพย์ และการที่จำเลยรับทองจากนางอารมย์ไปขายก็ไม่มีการทำสัญญารับเป็นตัวแทนจำหน่ายแต่อย่างใด และหลังจากจำเลยทำสัญญารับเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ในคดีนี้แล้ว โจทก์เบิกความรับว่าจำเลยยังได้รับทองจากโจทก์ไปจำหน่ายอีกหลายครั้ง แต่ไม่ปรากฏว่ามีหนังสือสัญญารับเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์เช่นเดียวกับเอกสารหมาย จ.1 แต่อย่างใด คงมีเฉพาะวันที่ 20 สิงหาคม 2531เท่านั้น เอกสารหมาย ล.1 นางอารมย์พยานโจทก์เบิกความรับว่าเป็นเอกสารเกี่ยวกับการทำการค้าทองระหว่างพยานกับจำเลย พยานเป็นผู้เขียนรายการต่าง ๆ ในเอกสาร แสดงว่าจำเลยได้รับทองจากนางอารมย์จริง ซึ่งเอกสารดังกล่าวได้ระบุวันที่รับของไว้ด้วยปรากฏว่า หลังจากวันที่ 20 สิงหาคม 2531 แล้วยังมีรายการที่จำเลยรับของไปอีกและมีข้อความว่ามีการชำระกันเป็นงวด ๆ ซึ่งตรงกับที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยได้ซื้อทองจากโจทก์โดยวิธีผ่อนส่งโดยโจทก์จะทำหลักฐานการผ่อนชำระเงินเป็น 2 ฉบับ โจทก์เป็นผู้เก็บไว้ 1 ฉบับ จำเลยเก็บไว้ 1 ฉบับ ตามเอกสารหมาย ล.1 แต่โจทก์ให้จำเลยลงชื่อในสัญญารับเป็นตัวแทนไว้ตามเอกสารหมาย จ.1โดยจำเลยมิได้เป็นตัวแทนของโจทก์ การปฏิบัติระหว่างโจทก์จำเลยดังนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องตัวการตัวแทน หากแม้จะฟังว่าจำเลยยังไม่ได้ชำระเงินค่าทองให้โจทก์ ก็เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น ทั้งโจทก์ก็นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยได้เบียดบังทรัพย์ไว้โดยทุจริตแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามที่โจทก์ฎีกา”
พิพากษายืน

Share