แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์งานสร้างสรรค์ประเภทโสตทัศนวัสดุแถบ บันทึกภาพ (วีดีโอ เทป) ภาพยนตร์มีชื่อภาษาไทยว่า คิงคอง ภาค 2 ของบริษัทอินเตอร์คอนติเนนตัล ฟิล์ม ดิสตริบิวเตอร์ส์ (ฮ่องกง) จำกัดผู้เสียหายซึ่งเป็นนิติบุคคล เป็นงานมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายฮ่องกง ซึ่งเป็นประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์และประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย กฎหมายของประเทศฮ่องกงได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของภาคีอื่น ๆ แห่งอนุสัญญาดังกล่าวเป็นคำบรรยายฟ้องที่มีข้อความสำคัญแสดงให้เห็นว่า แถบ บันทึกภาพยนตร์ของผู้เสียหายตามฟ้องเข้าหลักเกณฑ์ที่จะได้รับความคุ้มครองตาม มาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มีข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่จำเป็นสำหรับการบรรยายฟ้องแล้ว.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๒๑ มาตรา๔, ๑๓, ๒๕, ๒๗, ๔๒, ๔๓, ๔๔, ๔๗, ๔๙ พระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๓, ๔และให้ของกลางตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ กับจ่ายค่าปรับที่จำเลยชำระตามคำพิพากษาแก่เจ้าของลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๓, ๒๗, ๔๒, ๔๔ วรรคสองพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศพ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๓, ๔ ให้ลงโทษปรับจำเลย ๑๐,๐๐๐ บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ให้วีดีโอเทปของกลางตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์และให้จ่ายค่าปรับแก่เจ้าของลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่ง ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ของกลางคืนเจ้าของ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๓๐เวลาประมาณ ๑๖.๒๐ นาฬิกา เจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจนครบาลสมเด็จเจ้าพระยาจับกุมจำเลยในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้าพร้อมยึดของกลางม้วนเทปวีดีโอเรื่องคิงคองภาค ๒ จำนวน ๓ ม้วน และสมุดรายชื่อผู้เช่าวีดีโอ ๑ เล่ม เป็นของกลางและวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์งานสร้างสรรค์ประเภทโสตทัศนวัสดุแถบบันทึกภาพ (วีดีโอเทป) ภาพยนตร์มีชื่อภาษาไทยว่า คิงคองภาค ๒ ของบริษัทอินเตอร์คอนติเนนตัลฟิล์มดิสตริบิวเตอร์ส(ฮ่องกง) จำกัด ผู้เสียหายซึ่งเป็นนิติบุคคล อันเป็นงานลิขสิทธิ์ตามกฎหมายฮ่องกงซึ่งเป็นประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ และประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย และกฎหมายของประเทศฮ่องกงได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของภาคีอื่น ๆ แห่งอนุสัญญาดังกล่าว คำบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวมีข้อความสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า แถบบันทึกภาพภาพยนตร์ของผู้เสียหายตามฟ้องเข้าหลักเกณฑ์ที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๒๑ ซึ่งบัญญัติว่า งานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย และกฎหมายของประเทศนั้นได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของภาคีอื่น ๆแห่งอนุสัญญาดังกล่าว หรืองานอันมีลิขสิทธิ์ขององค์การระหว่างประเทศซึ่งประเทศไทยร่วมเป็นสมาชิกอยู่ด้วยย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ดังนั้น ข้อความดังกล่าวที่โจทก์บรรยายในฟ้องจึงเป็นข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่จำเป็นสำหรับการฟ้องคดีอาญาในกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์เกี่ยวด้วยงานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายต่างประเทศซึ่งโจทก์จะต้องนำสืบให้ได้ความเช่นนั้น จึงจะลงโทษจำเลยตามฟ้องได้ แต่สำหรับการนำสืบข้อเท็จจริงและรายละเอียดดังกล่าว โจทก์มีร้อยตำรวจตรีอดิศักดิ์ เทพวรรณ์ พนักงานสอบสวนเบิกความเพียงว่า ฮ่องกงไม่ได้เป็นประเทศและมิได้มีรายชื่อเป็นภาคีในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมทำที่กระเบอร์น เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๘๘๖ แต่ฮ่องกงเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษ และประเทศอังกฤษเป็นภาคีในอนุสัญญาดังกล่าว ประเทศอังกฤษให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ในประเทศไทยด้วยคำเบิกความของพยานโจทก์ปากนี้เป็นการกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอยเพราะโจทก์มิได้ส่งอ้างเอกสารเกี่ยวกับเรื่องนี้สนับสนุนแต่ประการใด ทั้งคำเบิกความดังกล่าวก็ไม่สอดคล้องกับคำฟ้องของโจทก์เพราะคำฟ้องของโจทก์ระบุชัดว่าฮ่องกงเป็นประเทศที่เป็นภาคีในอนุสัญญาดังกล่าว คำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะให้ฟังได้ว่ากฎหมายของประเทศฮ่องกงตามฟ้องหรือของประเทศอังกฤษตามที่พยานโจทก์เบิกความให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ประเภทโสตทัศนวัสดุแถบบันทึกภาพ (วีดีโอเทป) ภาพยนตร์ของประเทศไทยซึ่งเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาดังกล่าว จึงฟังไม่ได้ว่าลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตามฟ้องได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. ๒๕๒๑ ที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยจึงลงโทษจำเลยตามฟ้องไม่ได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.