แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คำร้องขอเพิกถอนหมายบังคับคดี จะต้องกล่าวอ้างว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีฝ่าฝืนหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง หากไม่กล่าวอ้างศาลก็ชอบที่จะยกคำร้องเสียได้โดยไม่จำต้องไต่สวน เพราะถึงจะไต่สวนได้ความตามคำร้อง ศาลก็จะงดการบังคับคดีไว้ตามมาตรา 296 ไม่ได้อยู่แล้ว คำร้องขอให้ศาลไต่สวนคำร้อง และมีคำสั่งเพิกถอนหมายบังคับคดีเป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้เมื่อศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทนายความเกินอัตราขั้นสูงตามตาราง 6ศาลฎีกากำหนดให้ใหม่ตามที่ถูกต้องได้.
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและดอกเบี้ยที่ค้างชำระแก่โจทก์โดยการผ่อนชำระเป็นรายเดือน จำเลยทั้งสามผิดนัด โจทก์จึงขอให้ศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี และเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงร่วมกันดำเนินโครงการปลูกบ้านขาย และโจทก์ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จ่ายเงินเป็นค่าใช้จ่ายไปก่อน โดยยังไม่ต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงมิได้ผิดนัดการชำระหนี้ โจทก์ยังไม่มีสิทธิขอบังคับคดีและขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ขอให้ไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 3 และมีคำสั่งเพิกถอนหมายบังคับคดี
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะต้องไต่สวนเพราะมิใช่เหตุที่จะขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดีได้ จึงให้ยกคำร้องค่าคำร้องให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาข้อแรกว่า ศาลชั้นต้นชอบที่จะไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 3 เสียก่อน นั้น พิเคราะห์แล้วประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคแรก บัญญัติว่าถ้าศาลได้ออกหมายบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลภายนอกที่มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินตามหมายบังคับคดีนั้น อาจยื่นคำขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้มีคำสั่งให้ยกหรือแก้ไขหมายนั้นเสีย ฯลฯ และวรรคสองบัญญัติว่า ถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายโดยการฝ่าฝืนนั้นแล้วแต่กรณี อาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่ทราบการฝ่าฝืนนั้น ขอให้ศาลมีคำสั่งยกกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวงหรือวิธีการบังคับใด ๆ โดยเฉพาะหรือขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างใด ๆ แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่เห็นสมควร ถ้าคำขอนั้นลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้ยื่น ลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะยื่นคำร้องต่อศาลในเวลาเดียวกันนั้น ขอให้มีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ในระหว่างที่ศาลวินิจฉัยชี้ขาดก็ได้… เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงมีสิทธิที่จะขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีได้ และตามคำร้องของจำเลยที่ 3 หาได้กล่าวอ้างว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีฝ่าฝืนหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งอย่างใดไม่ ดังนี้ ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะยกคำร้องของจำเลยที่ 3 เสียได้โดยไม่จำต้องทำการไต่สวนต่อไปเพราะถึงจะไต่สวนได้ความตามคำร้องศาลก็จะงดการบังคับคดีไว้ตามมาตรา296 ที่จำเลยที่ 3 อ้างไม่ได้อยู่แล้ว…
จำเลยที่ 3 ฎีกาข้อต่อไปว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดค่าทนายความให้จำเลยที่ 3 ใช้แทนโจทก์สูงกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด เห็นว่าคดีนี้จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 3และมีคำสั่งเพิกถอนหมายบังคับคดี คดีของจำเลยที่ 3 ในชั้นนี้จึงเป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ซึ่งตาราง 6 อัตราค่าทนายความท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งขั้นสูงในศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกากำหนดไว้ไม่เกิน 1,500 บาทศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท เกินอัตราขั้นสูงตามตารางดังกล่าว จึงเป็นการไม่ถูกต้อง…”
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ และชั้นฎีกาศาลละ 1,500 บาท แทนโจทก์.