แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 1 โดยวิธีปิดหมาย ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคสองกำหนดให้เวลาล่วงเลย 15 วัน จึงจะมีผล ปรากฏว่าทำการปิดหมายแก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2531 การนับเวลาล่วงพ้น 15 วันจึงเริ่มนับแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2531 แล้วเริ่มนับกำหนด ยื่นคำให้การภายใน 8 วัน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคแรก ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน2531 ครบกำหนดในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2531 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องยื่นคำให้การต่อศาลชั้นต้นภายใน กำหนดเวลาดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 1ยื่นคำร้องขอขยายเวลายื่น คำให้การในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2531 โดยมิได้อ้างเหตุสุดวิสัย ที่ทำให้ไม่สามารถยื่นคำร้องได้ก่อนสิ้นระยะเวลาที่จะยื่น คำให้การได้ กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 23 ชอบที่ศาลชั้นต้น จะสั่งยกคำร้องได้.
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,171,821.93 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยเจ้าพนักงานศาลนำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปส่งให้จำเลยทั้งสองได้โดยวิธีปิดหมาย ต่อมาจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายเวลายื่นคำให้การมีกำหนด 20 วัน ศาลชั้นต้นสั่งให้ยกคำร้องเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น อนุญาตให้ขยายเวลายื่นคำให้การอีก 10 วัน จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิม และมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ขยายเวลายื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง
ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การส่วนจำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การ แต่ในวันนัดสืบพยานโจทก์จำเลยทั้งสองขาดนัดพิจารณาศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ขยายเวลายื่นคำให้การ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ขยายเวลายื่นคำให้การชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 1 โดยวิธีปิดหมาย ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79วรรคสอง กำหนดให้เวลาล่วงแล้ว 15 วัน จึงจะมีผล ปรากฏตามรายงานการส่งหมายของเจ้าพนักงานศาลว่า ทำการปิดหมายแก่จำเลยที่ 1เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2531 การนับเวลาล่วงพ้น 15 วัน จึงเริ่มนับแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2531 แล้วเริ่มนับกำหนดยื่นคำให้การภายใน 8 วัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177วรรคแรก ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2531 ครบกำหนดในวันที่ 21พฤศจิกายน 2531 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องยื่นคำให้การต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนดเวลาดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายเวลายื่นคำให้การในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2531 โดยมิได้อ้างเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ไม่สามารถยื่นคำร้องได้ก่อนสิ้นระยะเวลาที่จะยื่นคำให้การได้ กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 23 ชอบที่ศาลชั้นต้นจะสั่งยกคำร้องได้
พิพากษายืน.