คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 780/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินจำนวน 4 แปลงของจำเลยออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ประมูลซื้อที่ดินได้1 แปลง ส. ประมูลซื้อที่ดินได้ 3 แปลง จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการขายทอดตลาด ศาลชั้นต้นสั่งในคำร้องว่านัดไต่สวน สำเนาให้โจทก์ เจ้าพนักงานบังคับคดีและผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดจะคัดค้านประการใดให้ยื่นคำคัดค้านเข้ามาก่อนหรือในวันนัด มิฉะนั้นถือว่าไม่คัดค้าน ให้ผู้ร้องนำส่งใน 7 วันส. ผู้ซื้อทรัพย์ได้ทราบคำสั่งศาลดังกล่าวแล้ว ไม่ได้แถลงคัดค้านคำร้องของจำเลยก่อนหรือในวันนัดไต่สวนทั้งในวันนัดไต่สวนครั้งแรกส. ผู้ซื้อทรัพย์ก็มาศาลและฟังการพิจารณาโดยตลอดก็มิได้แถลงคัดค้านคำร้องของจำเลยดังนี้ถือว่าส. ผู้ซื้อทรัพย์ไม่ติดใจคัดค้าน ส. ผู้ซื้อทรัพย์ไม่ได้เข้ามาในคดีเกี่ยวกับการร้องคัดค้านการขายทอดตลาดตั้งแต่แรก จึงไม่มีสิทธิที่จะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งเป็นคำพิพากษาที่วินิจฉัยข้อโต้แย้งระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของส. ผู้ซื้อทรัพย์

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาโจทก์ขอบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดิน 5 แปลงของจำเลยที่ 1 มาขายทอดตลาด โจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อได้ 1 แปลงส่วนที่ดินที่เหลืออีก 3 แปลง นางสุภาณีเป็นผู้ประมูลซื้อได้จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้แจ้งวันนัดขายทอดตลาดที่ดินให้จำเลยที่ 1 ทราบ และการขายทอดตลาดเป็นไปโดยมิชอบและฝ่าฝืนกฎหมาย โดยโจทก์กับพวก สมรู้กันประมูลซื้อทรัพย์โดยไม่สุจริตและเจ้าพนักงานบังคับคดีขายที่ดินทั้ง 4 แปลงในราคาต่ำกว่าความเป็นจริง ขอให้มีคำสั่งยกเลิกการขายทอดตลาดที่ดินทั้ง 4 แปลงดังกล่าว แล้วขายทอดตลาดใหม่
โจทก์คัดค้านว่า จำเลยที่ 1 ทราบวันนัดขายทอดตลาดทรัพย์แล้วขอให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยทราบวันนัดขายทอดตลาดแล้วและฟังไม่ได้ว่าราคาทรัพย์ที่ขายทอดตลาดต่ำกว่าราคาที่เป็นจริงและโจทก์ซื้อทรัพย์ไว้โดยไม่สุจริต มีคำสั่งให้ยกคำร้องจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกเลิกการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดทั้ง 4 แปลงของจำเลยที่ 1 แล้วให้ดำเนินการขายทอดตลาดใหม่
นางสาวสุภาณีผู้ซื้อทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่านางสาวสุภาณีผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดมีสิทธิฎีกาหรือไม่ข้อเท็จจริงปรากฏตามสำนวนว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องลงวันที่14 มิถุนายน 2531 อ้างว่าการขายทอดตลาดเป็นไปโดยไม่ชอบ ขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการขายทอดตลาดนั้น ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งไว้ที่หน้าแรกของคำร้องดังกล่าวว่า “นัดไต่สวน สำเนาให้โจทก์เจ้าพนักงานบังคับคดีและผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดจะคัดค้านประการใดให้ยื่นคำคัดค้านเข้ามาก่อนหรือในวันนัด มิฉะนั้นถือว่าไม่คัดค้านให้ผู้ร้องนำส่งใน 7 วัน” และศาลชั้นต้นได้นัดไต่สวนวันที่ 27 กรกฎาคม 2531 ซึ่งต่อมาพนักงานเดินหมายได้นำหมายนัดแจ้งให้ผู้ซื้อทรัพย์ทราบว่า จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดดังสำเนาคำร้องที่ส่งมาพร้อมหมายนี้ โดยส่งให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2531 ปรากฏตามรายงานการเดินหมายเอกสารลำดับที่ 54 ในสำนวน แม้จะปรากฏตามสำเนาหมายนัดเอกสารอันดับ 41 (แผ่นที่ 2) ในสำนวนว่า ในหมายนัดดังกล่าวมิได้แจ้งคำสั่งศาลที่ว่าจะคัดค้านประการใดให้ยื่นคำคัดค้านเข้ามาก่อนหรือวันนัดมิฉะนั้นให้ถือว่าไม่คัดค้าน ให้ผู้ซื้อทรัพย์ทราบด้วยก็ตาม แต่ก็ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2531 ก่อนวันนัดไต่สวน ผู้ซื้อทรัพย์ได้ยื่นคำแถลงขออนุญาตถ่ายคำร้องที่จำเลยที่ 1 ร้องคัดค้านการขายทอดตลาดดังกล่าวพร้อมคำสั่งศาลด้วยซึ่งศาลชั้นต้นอนุญาตให้ถ่าย และผู้ซื้อทรัพย์ได้รับภาพถ่ายเอกสารดังกล่าวไปแล้วในวันที่ 1 กรกฎาคม 2531 นั้นเอง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ซื้อทรัพย์ได้ทราบคำสั่งศาลดังกล่าวข้างต้นแล้ว แต่ไม่ปรากฏว่าผู้ซื้อทรัพย์ได้แถลงคัดค้านคำร้องของจำเลยที่ 1 ก่อนหรือในวันนัดไต่สวนแต่อย่างใด ในวันนัดไต่สวนครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม2531 ผู้ซื้อทรัพย์ก็มาศาลและอยู่ฟังการพิจารณาโดยตลอดก็มิได้แถลงคัดค้านคำร้องของจำเลยที่ 1 ดังนั้นจึงต้องถือว่าผู้ซื้อทรัพย์ไม่ติดใจคัดค้านตามที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งไว้แล้ว ผู้ซื้อทรัพย์จึงไม่ได้เข้ามาในคดีเกี่ยวกับการร้องคัดค้านการขายทอดตลาดตั้งแต่แรก ผู้ซื้อทรัพย์จึงไม่มีสิทธิที่จะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ซึ่งเป็นคำพิพากษาที่วินิจฉัยข้อโต้แย้งระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เท่านั้น ฉะนั้นศาลฎีกาจึงไม่อาจรับวินิจฉัยฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์ได้
พิพากษาให้ยกฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์

Share