คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 758/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เช็คที่ลูกค้าจ่ายให้แก่บริษัท จำเลยซึ่งเป็นผู้ครอบครองในฐานะกรรมการของบริษัทมีหน้าที่ต้องนำเช็คทั้งหมดเข้าบัญชีของบริษัทเพื่อให้ธนาคารเรียกเก็บเงินตามเช็ค แต่จำเลยไม่นำเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินและไม่นำเงินมาลงบัญชีเป็นรายได้ของบริษัทเพื่อลวงให้บริษัทและผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ คดีโจทก์จึงมีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัดสมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นบุตรและทายาทโดยชอบธรรมของนายอุดม พิจิตรพงศ์ชัย ซึ่งถึงแก่กรรมแล้ว จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายอุดม ผู้ตาย โจทก์จำเลยและนายอุดมผู้ตายต่างถือหุ้นในบริษัทโรงงานเหล็กกรุงเทพฯ จำกัด และจำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท จำเลยครอบครองเช็ค 22 ฉบับ ซึ่งลูกค้าได้สั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้ให้แก่บริษัท เมื่อเช็คแต่ละฉบับถึงกำหนดชำระเงิน จำเลยมีหน้าที่เรียกเก็บเงินเพื่อเป็นรายได้ของบริษัทแต่จำเลยไม่ดำเนินการดังกล่าว โดยจำเลยกับพวกงดเว้นไม่นำเช็คดังกล่าวไปลงบัญชี และเมื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คแต่ละฉบับได้ก็ไม่นำลงบัญชีเป็นรายได้บริษัท และจำเลยร่วมกับพวกเบียดบังเอาเช็คดังกล่าวไปเป็นของจำเลยหรือบุคคลที่สาม ขอให้ลงโทษตามพระราชกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดบริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352, 353, 354, 83, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาโดยอธิบดีกรมอัยการรับรองให้ฎีกาได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นตามทางไต่สวนได้ความว่า จำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทโรงงานเหล็กกรุงเทพฯ จำกัด มีหน้าที่ดำเนินกิจการของบริษัทตามทางไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ยังนำสืบว่ามีเช็คพิพาทอยู่จำนวน 22 ฉบับเป็นเงิน 5,913,162.34 บาท ซึ่งลูกค้าจ่ายให้แก่บริษัทโรงงานเหล็กกรุงเทพฯ จำกัด ตามบัญชีเช็คเอกสารหมาย จ.3 เช็คทั้งหมดอยู่ในความครอบครองดูแลของนายอุดมก่อนจะเสียชีวิตและอยู่ในความครอบครองของบริษัทโรงงานเหล็กกรุงเทพฯ จำกัดเมื่อบิดาเสียชีวิตจำเลยเป็นผู้ครอบครองในฐานะกรรมการผู้จัดการของบริษัทมีหน้าที่ต้องนำเช็คทั้งหมดเข้าบัญชีของบริษัทโรงงานเหล็กกรุงเทพฯ จำกัด เพื่อให้ธนาคารเรียกเก็บเงินตามเช็คแต่จำเลยละเว้นไม่นำเช็คไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินและไม่นำเงินมาลงบัญชีเป็นรายได้ของบริษัทโรงงานเหล็กกรุงเทพฯ จำกัดตามคำฟ้องและทางไต่สวนมูลฟ้องได้ความว่า จำเลยเป็นบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินการของบริษัทโรงงานเหล็กกรุงเทพฯ จำกัดไม่นำเช็ค 22 ฉบับ ตามบัญชีเช็คเอกสารหมาย จ.3 ไปเข้าบัญชีธนาคารของบริษัทโรงงานเหล็กกรุงเทพฯ จำกัด และไม่นำเงินมาเข้าบัญชีของบริษัทดังกล่าวเพื่อลวงให้บริษัทและผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ คดีของโจทก์จึงมีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดบริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42(2) ฎีกาส่วนนี้ของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนความผิดฐานยักยอกที่โจทก์ฟ้องจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 นั้น ได้ความตามคำเบิกความของโจทก์ว่า เช็คที่ฟ้องศาลนี้จำนวน 22 ฉบับ อยู่ในรายการที่หายไปตามเอกสารหมาย จ.3 แต่เช็ค 22 ฉบับ ในคดีนี้ไม่ทราบว่าหายไปไหนอย่างไร ตามทางไต่สวนมูลฟ้องจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ยักยอกเช็คพิพาท22 ฉบับไป คดีจึงไม่มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352นอกจากนี้ข้อเท็จจริงได้ความต่อไปว่าเช็คพิพาททั้ง 22 ฉบับเป็นเช็คที่ลูกค้าสั่งจ่ายให้แก่บริษัทโรงงานเหล็กกรุงเทพฯ จำกัด ไม่ใช่เช็คส่วนตัวของนายอุดมเจ้ามรดก จึงไม่ใช่ทรัพย์ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่จัดการมรดกในฐานผู้จัดการมรดกของจำเลย จึงไม่มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 และ 354 ตามที่โจทก์ฟ้อง ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองข้อหานี้ชอบแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า คดีโจทก์มีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดบริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42(2) ให้ศาลชั้นต้นประทับฟ้องของโจทก์ในข้อหาดังกล่าว นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share