คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 751/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรจะได้รับยกเว้นการเรียกตรวจสอบไต่สวนประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากรตามมาตรา 30 แห่ง พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม ป.รัษฎากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529 นั้น จะต้อง เป็นผู้ที่ ได้ยื่นคำขอเสียภาษีอากรตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากร กำหนดภายในเดือนกรกฎาคม 2529 และได้ชำระภาษีอากรตามจำนวนที่ ต้องเสียภายในระยะเวลาและหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ซึ่งต้องไม่เกินสองปีนับแต่วันที่ยื่นคำขอ แต่ตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่า โจทก์ได้ยื่นคำขอเสียภาษีและชำระภาษีตามหลักเกณฑ์และภายในระยะเวลา ตามพระราชกำหนด ดังกล่าว โดยโจทก์ยังคงกล่าวอ้างและยืนยันในคำฟ้องปฏิเสธว่า โจทก์ไม่มีเงินได้และไม่ได้กระทำการค้าที่จะต้องเสียภาษีกรณีของโจทก์จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะได้รับยกเว้นการเรียกตรวจสอบไต่สวน ประเมินหรือมีคำสั่งให้เสียภาษีตามพระราชกำหนดดังกล่าว คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่อาจรับไว้พิจารณาพิพากษาได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีตามแบบแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและปล่อยการยึดที่ดิน ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าโจทก์มิได้อุทธรณ์การประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 ฟ้องโจทก์จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7(1) และมาตรา 8แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรกลางและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มีคำสั่งไม่รับฟ้องคืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดให้โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร วินิจฉัยว่า “โจทก์ฟ้องคดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528มาตรา 7(2) จึงไม่จำต้องอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก่อน นั้น เห็นว่าคดีนี้โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้ และภาษีการค้าเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์2529 เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการประเมินดังกล่าวอยู่ในช่วงระยะเวลาที่พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529 ยกเว้นการเรียกตรวจสอบไต่สวน ประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีจนกว่าจะถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2529 อันเป็นการยกข้อกล่าวอ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าเจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินโดยไม่มีอำนาจเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529 มาตรา 30 โจทก์จึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องศาลได้ โดยไม่ต้องอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก่อน ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 55/2530ระหว่างนางเปลี่ยน รัชตะทรัพย์ โจทก์ กรมสรรพากรกับพวก จำเลยอย่างไรก็ตาม ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรที่จะได้รับยกเว้นการเรียกตรวจสอบไต่สวนประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากร ตามมาตรา 30 แห่งพระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529นั้น จะต้องเป็นผู้ที่ได้ยื่นคำขอเสียภาษีอากรตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดภายในเดือนกรกฎาคม 2529 และได้ชำระภาษีอากรตามจำนวนที่ต้องเสียตามมาตรานี้ ภายในระยะเวลาและหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ซึ่งต้องไม่เกินสองปีนับแต่วันที่ยื่นคำขอด้วย แต่ตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่า โจทก์ได้ยื่นคำขอเสียภาษีและชำระภาษีตามหลักเกณฑ์และภายในระยะเวลาตามพระราชกำหนดดังกล่าวแต่อย่างใด โดยโจทก์ยังคงกล่าวอ้างและยืนยันในคำฟ้องปฏิเสธว่า โจทก์ไม่มีเงินได้ และไม่ได้กระทำการค้าที่จะต้องเสียภาษีกรณีของโจทก์จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะได้รับยกเว้นการเรียกตรวจสอบไต่สวน ประเมิน หรือมีคำสั่งให้เสียภาษีตามพระราชกำหนดดังกล่าวคำฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ไม่อาจรับไว้พิจารณาพิพากษาได้ ที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share