คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 751/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้และภาษีการค้าเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2529 เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการประเมินดังกล่าวอยู่ในช่วงระยะเวลาที่พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14)พ.ศ. 2529 ยกเว้นการเรียกตรวจสอบไต่สวน ประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีจนกว่าจะถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2529 เป็นการยกข้อกล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินโดยไม่มีอำนาจ เป็นการฝ่าฝืนต่อมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติกำหนดดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลได้โดยไม่ต้องอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก่อน อย่างไรก็ตามผู้ต้องเสียภาษีที่จะได้รับยกเว้นการเรียกตรวจสอบไต่สวนประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากรตามมาตรา 30 จะต้องเป็นผู้ที่ได้ยื่นคำขอเสียภาษีอากรตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดภายในเดือนกรกฎาคม2529 และได้ชำระภาษีอากรตามจำนวนที่ต้องเสียภายในระยะเวลาและหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ซึ่งต้องไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันที่ยื่นคำขอด้วย แต่ตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นคำขอเสียภาษีและชำระภาษีตามหลักเกณฑ์และภายในระยะเวลาตามพระราชกำหนด ดังกล่าว โจทก์คงกล่าวอ้างเพียงว่าโจทก์ไม่มีเงินได้และไม่ได้กระทำการค้าที่จะต้องเสียภาษี จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะได้รับยกเว้นการเรียกตรวจสอบไต่สวน ประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีตามพระราชกำหนด เป็นฟ้องที่ไม่อาจรับไว้พิจารณาได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยเป็นกรมในรัฐบาล สังกัดกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2529เจ้าพนักงานประเมินสำนักงานสรรพากรเขตพื้นที่ 7 ได้แจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรดาและภาษีการค้าของโจทก์ประจำปีพ.ศ. 2519 และ 2520 ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงธันวาคม ของทั้งสองปีดังกล่าวซึ่งโจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีตามใบแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เลขที่ฝ.1 ต.1/1038/1/43061-43062 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2529จำนวนเงิน 1,973,832.19 บาท และใบแจ้งการประเมินภาษีการค้าเลขที่ ฝ.1 ต.1/1038/3/04555-04556 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2529จำนวนเงิน 2,430,868.44 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น4,404,700.63 บาท เหตุที่โจทก์ไม่ยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีให้แก่จำเลยในปี พ.ศ. 2519 และ 2520 เพราะในสองปีดังกล่าวโจทก์ไม่มีเงินได้ และไม่ได้ประกอบการค้าอันจะต้องเสียภาษีและตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14)พ.ศ. 2529 มาตรา 30 ได้ให้โอกาสแก่ผู้ต้องเสียภาษีที่ยังมิได้เสียภาษีเงินได้และภาษีการค้า ยื่นคำขอเสียภาษี สำหรับเงินได้หรือรายรับที่มีอยู่ก่อนปี พ.ศ. 2527 หรือ ในปี พ.ศ. 2527 นั้นโดยให้ยื่นคำขอเสียภาษีตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดภายในเดือนกรกฎาคม 2529 ซึ่งหากผู้ใดยื่นคำขอเสียภาษีภายในกำหนดเวลาดังกล่าว และชำระภาษีภายในกำหนดเวลาและหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดแล้ว ก็จะได้รับยกเว้นจากการตรวจสอบไต่สวนการประเมิน หรือการมีคำสั่งให้เสียภาษี ตลอดจนได้รับการยกเว้นความผิดอาญาด้วย แต่ผู้ที่จะได้รับยกเว้นนั้น จะต้องมิใช่บุคคลที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินหรือสั่งให้เสียหรือนำส่งภาษีอากร ก่อนที่พระราชกำหนดดังกล่าวใช้บังคับ และพระราชกำหนด ดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2529ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้และภาษีการค้า เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2529 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการประเมินดังกล่าวอยู่ในช่วงระยะเวลาที่กฎหมายยกเว้นจนกว่าจะถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2529 ตามพระราชกำหนดดังกล่าวอันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงเป็นโมฆะและการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเกิน 5 ปี ตามประมวลรัษฎากรจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในวันที่ 19 มกราคม 2532 จำเลยได้ยึดทรัพย์สินของโจทก์คือที่ดินโฉนดเลขที่ 90 หน้าสำรวจ 93แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษี ตามแบบแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรม เลขที่ ฝ.1 ต.1/1038/1/43061-43062 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2529 และตามแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้าเลขที่ ฝ.1 ต.1/1038/3/04555-04556 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2529ทั้ง 4 ฉบับ รวมเป็นเงิน 4,404,700.63 บาท และให้ปล่อยการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 90 หน้าสำรวจ 93 แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรีกรุงเทพมหานคร ด้วย
ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มิได้อุทธรณ์การประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 ฟ้องโจทก์จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7(1) และมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 จึงมีคำสั่งไม่รับฟ้อง คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดให้โจทก์
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 7(2)จึงไม่จำต้องอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก่อนนั้น เห็นว่าคดีนี้โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้ และภาษีการค้าเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2529 เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการประเมินดังกล่าวอยู่ในช่วงระยะเวลาที่พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529 ยกเว้นการเรียกตรวจสอบไต่สวน ประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีจนกว่าจะถึงวันที่31 กรกฎาคม 2529 อันเป็นการยกข้อกล่าวอ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินโดยไม่มีอำนาจเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14)พ.ศ. 2529 มาตรา 30 โจทก์จึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องศาลได้ โดยไม่ต้องอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก่อน ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 55/2530 ระหว่าง นางเปลี่ยน รัชตะทรัพย์โจทก์ กรมสรรพากรกับพวก จำเลย อย่างไรก็ตามผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรที่จะได้รับยกเว้นการเรียกตรวจสอบไต่สวน ประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากร ตามมาตรา 30 แห่งพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529 นั้น จะต้องเป็นผู้ที่ได้ยื่นคำขอเสียภาษีอากรตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดภายในเดือนกรกฎาคม 2529 และได้ชำระภาษีอากรตามจำนวนที่ต้องเสียตามมาตรานี้ ภายในระยะเวลาและหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ซึ่งต้องไม่เกินสองปีนับแต่วันยื่นคำขอด้วย แต่ตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่า โจทก์ได้ยื่นคำขอเสียภาษีและชำระภาษีตามหลักเกณฑ์และภายในระยะเวลาตามพระราชกำหนดดังกล่าวแต่อย่างใด โดยโจทก์ยังคงกล่าวอ้างและยืนยันในคำฟ้องปฏิเสธว่า โจทก์ไม่มีเงินได้ และไม่ได้กระทำการค้าที่จะต้องเสียภาษี กรณีของโจทก์จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะได้รับยกเว้นการเรียกตรวจสอบไต่สวน ประเมิน หรือมีคำสั่งให้เสียภาษีตามพระราชกำหนดดังกล่าว คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ไม่อาจรับไว้พิจารณาพิพากษาได้ ที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share