คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1243/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.เป็นผู้จัดการมรดกของ ฉ.ตามคำสั่งศาล จึงเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกไว้แทนผู้รับพินัยกรรม ป.ตายขณะที่ยังไม่ได้แบ่งทรัพย์มรดก จำเลยเข้าเป็นผู้จัดการมรดกของ ป.ตามคำสั่งศาลโดยระบุรายการทรัพย์สินต่าง ๆ ของ ป.ไว้เป็นอย่างเดียวกับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมของ ฉ. จึงถือว่าจำเลยครอบครองทรัพย์มรดกของ ฉ. สืบต่อจาก ป. และตามคำฟ้องแสดงว่าโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัวด้วย มิใช่ฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดกของ ป.แต่ประการเดียว ดังนี้ เมื่อโจทก์เป็นทายาทผู้มีสิทธิตามพินัยกรรมของ ฉ.ด้วยผู้หนึ่ง ได้ทวงถามจำเลยให้แบ่งปันทรัพย์มรดกแล้ว จำเลยปฏิเสธ สิทธิของโจทก์จึงถูกโต้แย้ง โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลย
พินัยกรรมข้อ 4 ระบุว่า ป.ผู้เดียวมีสิทธิในทรัพย์สินของผู้ทำพินัยกรรมแต่ให้บุตรคนอื่น ๆ ถือประโยชน์ได้บ้าง และเมื่อ ป.ถึงแก่กรรมลงให้จัดการแบ่งทรัพย์สินดังต่อไปนี้ เว้นแต่ข้อ 4.10 ให้จัดการทันที และความในข้อต่อๆ ไปกล่าวถึงการยกทรัพย์สินให้บุคคลอื่น ๆ แต่ละคนไว้อย่างละเอียดรวมทั้งการยกให้แก่ ป.ด้วย และความในข้อ 4.10 กล่าวถึงการแบ่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลต่างๆ ไว้ยกเว้น ป. ดังนี้หากผู้ทำพินัยกรรมประสงค์จะยกทรัพย์สินให้ ป. แต่ผู้เดียวก็ไม่จำเป็นต้องระบุข้อความดังกล่าวซ้ำอีก พินัยกรรมดังกล่าวตีความได้ว่า เมื่อ ป.ถึงแก่กรรมลงจึงให้มีการแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาททั้งหลาย ระหว่างที่ ป.ยังมีชีวิตอยู่ ให้ทรัพย์มรดกยังคงรวมกันอยู่เท่านั้น หาใช่มีความหมายเลยไปถึงขนาดที่ว่าให้ทรัพย์มรดกทั้งหมดตกได้แก่ ป.แต่ผู้เดียวไม่
โจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์ตามพินัยกรรม 2 รายการ แต่ทรัพย์ 2 รายการนี้ไม่ปรากฏในบัญชีทรัพย์ท้ายคำร้องขอจัดการมรดกของจำเลย และจำเลยให้การโต้แย้งกรรมสิทธิ์ว่าไม่ใช่เป็นของผู้ทำพินัยกรรม ดังนี้ ปัญหาว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นทรัพย์มรดกหรือไม่ เมื่อโจทก์อ้างว่าเป็นมรดก โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบ.
ศาลพิพากษาให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกอันเป็นอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ประเภทที่มิใช่ตัวเงิน ความรับผิดของจำเลยมีเพียงหนี้ที่จะต้องแบ่งทรัพย์มรดกที่มิใช่หนี้เงิน จำเลยจึงไม่ต้องเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ศาลมีคำสั่งตั้งนางประยงค์ เป็นผู้จัดการมรดกของนายฉลาด หลังจากศาลมีคำสั่งดังกล่าวแล้วนางประยงค์ได้ถึงแก่ความตายขณะที่ยังจัดการมรดกไม่เสร็จ ต่อมาศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางประยงค์ จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนางประยงค์ซึ่งรับโอนสิทธิและสวมสิทธิการจัดการมรดกจากนางประยงค์ผู้จัดการมรดกคนเดิม และในฐานะส่วนตัว ก็มิได้จัดการมรดกตามหน้าที่ เพราะตามพินัยกรรมของนายฉลาด โจทก์ได้รับทรัพย์สินต่าง ๆ รวมเป็นเงินราว ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์ขอให้จำเลยแบ่งปันมรดกแล้วจำเลยเพิกเฉย ขอให้จำเลยแบ่งปันมรดกพร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยมีฐานะเพียงผู้จัดการมรดกของนางประยงค์ มิได้รับโอนสิทธิหรือสวมสิทธิการจัดการมรดกจากนางประยงค์โจทก์มิใช่ทายาทของนางประยงค์ จึงไม่มีส่วนในทรัพย์มรดกของนางประยงค์ไม่มีอำนาจฟ้อง ทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมมีแต่ชื่อนางประยงค์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ทั้งสินสมรสระหว่างนายฉลาดและนางประยงค์ก็ยังมิได้แบ่งแยกจากกันพินัยกรรมที่ระบุว่ายกทรัพย์สินให้โจทก์ไม่มีผลบังคับ และตามพินัยกรรมข้อ ๔ ระบุว่านางประยงค์ผู้เดียวมีสิทธิในทรัพย์สินของผู้ทำพินัยกรรม จึงตัดทายาทอื่นทั้งหมดมิให้รับมรดก ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมจำนวน ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่นางประยงค์ร้องขอจัดการมรดกของนายฉลาดได้ระบุบัญชีทรัพย์ของนายฉลาดท้ายคำร้องเกือบทั้งหมดตรงกับทรัพย์สินที่นายฉลาดระบุไว้ในพินัยกรรม อันมีทรัพย์สินตามรายการที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งรวมอยู่ด้วย ครั้นเมื่อจำเลยร้องขอจัดการมรดกของนางประยงค์ ในบัญชีท้ายคำร้องก็คงระบุทรัพย์สินของนางประยงค์ไว้ตรงกันกับบัญชีทรัพย์ที่นางประยงค์ยื่นไว้ชั้นขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายฉลาดเป็นส่วนใหญ่ และจำเลยมิได้ต่อสู้เลยว่าทรัพย์สินดังกล่าวมิได้มีอยู่ เมื่อนางประยงค์เป็นผู้จัดการมรดกของนายฉลาด จึงเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกไว้แทนผู้รับพินัยกรรม ต่อมานางประยงค์ตายขณะที่ยังไม่ได้แบ่งทรัพย์มรดกตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมดังกล่าว และจำเลยเข้าเป็นผู้จัดการมรดกนางประยงค์ โดยระบุรายการทรัพย์สินต่าง ๆ ของนางประยงค์ไว้อย่างเดียวกับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมของนายฉลาดและศาลได้ตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางประยงค์แล้ว จึงถือว่าจำเลยครอบครองทรัพย์มรดกของนายฉลาดสืบต่อจากนางประยงค์ เมื่อปรากฏข้อความตามพินัยกรรมดังกล่าวถึงโจทก์ว่าเป็นทายาทมีสิทธิตามพินัยกรรมของนายฉลาดด้วยผู้หนึ่งและตามคำฟ้องแสดงว่าโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัวด้วย มิใช่ฟ้องในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของนางประยงค์แต่ประการเดียว โจทก์ได้ทวงถามจำเลยซึ่งเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกของนายฉลาด ให้แบ่งปันมรดกตามสิทธิของโจทก์ จำเลยปฏิเสธสิทธิของโจทก์ถูกโต้แย้งแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย
ที่ข้อ ๔ แห่งพินัยกรรมระบุว่า ‘นางประยงค์ผู้เดียวมีสิทธิในทรัพย์สินของข้าพเจ้าถึงแก่กรรมแล้ว แต่ให้บุตรคนอื่น ๆ ถือประโยชน์ได้บ้าง และเมื่อนางประยงค์ถึงแก่กรรมลงให้จัดแบ่งทรัพย์สินดังต่อไปนี้ เว้นแต่ข้อ ๔.๑๐ ให้จัดการทันที’ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า นางประยงค์ หิรัญศิริ ผู้เดียวเป็นผู้รับพินัยกรรม และกรณีต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๐๗ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ผู้ทำพินัยกรรมเขียนวกวนสับสนไปบ้าง แต่ไม่ถึงขนาดที่ศาลอุทธรณ์เข้าใจ เพราะข้อความตอนท้ายระบุว่า ‘เมื่อนางประยงค์ถึงแก่กรรมลงให้จัดแบ่งทรัพย์สินดังต่อไปนี้………’ มีความหมายว่าให้แบ่งทรัพย์สินเมื่อนางประยงค์ตายแล้ว มิใช่ให้นางประยงค์แบ่งทรัพย์สินที่ยกให้โดยพินัยกรรมให้แก่บุคคลอื่นขณะตนมีชีวิต เนื่องจากเป็นการพ้นวิสัยที่นางประยงค์จะเป็นผู้แบ่งทรัพย์สินเองเมื่อตนตายไปแล้วได้และความในข้อต่อๆไป แห่งพินัยกรรมกล่าวถึงการยกทรัพย์สินให้บุคคลอื่น ๆ แต่ละคนไว้อย่างละเอียดรวมทั้งการยกให้แก่นางประยงค์ หิรัญศิริด้วยเช่น ข้อ ๔.๖, ๔.๘, ๔.๑๖ ระบุชัดว่าให้ทรัพย์สินในข้อต่าง ๆ เหล่านั้นแก่นางประยงค์ หิรัญศิริหากผู้ทำพินัยกรรมประสงค์จะยกทรัพย์สินให้นางประยงค์ หิรัญศิริ ผู้เดียว ก็ไม่จำเป็นต้องระบุยืนยันข้อความดังกล่าวซ้ำอีก โดยเฉพาะข้อความท้ายสุดของข้อ ๔ ที่ว่า’ให้จัดแบ่งทรัพย์สินดังต่อไปนี้ เว้นแต่ข้อ ๔.๑๐ ให้จัดการทันที’ ซึ่งความในข้อ ๔.๑๐ นี้ก็กล่าวถึงการแบ่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลต่าง ๆ ไว้ ยกเว้นนางประยงค์ หิรัญศิริ หากผู้ทำพินัยกรรมประสงค์จะยกทรัพย์สินให้แก่นางประยงค์ หิรัญศิริ ผู้เดียวก็ไม่จำเป็นต้องระบุข้อความดังกล่าวไว้ ข้อความตามข้อ ๔.๑๐ กลับสนับสนุนข้อความในข้อ ๔ ที่ว่า เมื่อนางประยงค์ หิรัญศิริถึงแก่กรรมลง จึงให้มีการแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาททั้งหลาย ระหว่างที่นายประยงค์ หิรัญศิริ ยังมีชีวิตอยู่ให้ทรัพย์มรดกยังคงรวมกันอยู่เท่านั้น หาใช่มีความหมายเลยไปถึงขนาดที่ว่าให้ทรัพย์มรดกทั้งหมดตกได้แก่นางประยงค์ หิรัญศิริ ผู้เดียวและนางประยงค์ หิรัญศิริ จะเป็นผู้แบ่งให้แก่ทายาทดังที่ศาลอุทธรณ์เข้าใจไม่ พินัยกรรมรายนี้จึงมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย
สำหรับเงินสดในธนาคารกรุงเทพ จำกัด (ตามพินัยกรรมข้อ ๔.๒๓) และเงินที่ขายม้าแข่งกับอุปกรณ์ (ตามพินัยกรรมข้อ ๔.๒๔) ซึ่งระบุให้โจทก์มีสิทธิได้รับเงินส่วนแบ่งด้วยนั้นทั้งสองรายการนี้ไม่ปรากฏตามบัญชีทรัพย์ท้ายคำร้องขอจัดการมรดกของนางประยงค์ หิรัญศิริ และของจำเลย จำเลยให้การต่อสู้มาแต่แรกว่าทรัพย์สินตามพินัยกรรมไม่ใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ทำพินัยกรรม เท่ากับโต้แย้งกรรมสิทธิ์ตามพินัยกรรมข้อ ๔.๒๓ และ ข้อ ๔.๒๔ แล้วปัญหาว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์มรดกหรือไม่ เมื่อโจทก์อ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกโจทก์ย่อมมีหน้าที่นำสืบให้สมตามคำฟ้อง
ที่โจทก์ขอดอกเบี้ยสำหรับจำนวนเงินที่ประมาณราคาทรัพย์มรดกที่ตนมีสิทธิได้รับมาด้วยนั้น เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดก ศาลพิพากษาให้จำเลยแบ่งให้แก่โจทก์ อันมรดกเหล่านั้นเป็นอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ประเภทมิใช่ตัวเงินความรับผิดของจำเลยมีเพียงหนี้ที่จะต้องแบ่งทรัพย์มรดกที่มิใช่หนี้เงิน จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยแบ่งบ้านและที่ดินโฉนดตามฟ้องบางส่วนแก่โจทก์

Share