คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 470/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าหลังจาก ห. ตาย โจทก์และ ล. ได้รับมรดกที่พิพาทและร่วมกันครอบครองโดยมิได้แบ่งแยก ต่อมาโจทก์ไปอุปสมบทเป็นพระภิกษุ และ ล. ตาย จำเลยซึ่งเป็นบุตรของ ล. ไปขอออกน.ส. 3 ก. เป็นของตนฝ่ายเดียว ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยแบ่งที่ พิพาทให้ เป็นกรณีโจทก์ฟ้องในฐานะที่โจทก์เป็นเจ้าของรวมมิใช่ ในฐานะเป็นทายาทโดยธรรมเรียกร้องเอาทรัพย์มรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1622เพราะเมื่อ ห. ตาย โจทก์ และ ล. ได้รับมรดก มาแล้ว ที่พิพาทจึงมิใช่มรดกของ ห.อีกต่อไป แต่เป็นทรัพย์สินร่วมกันของโจทก์และ ล.เมื่อจำเลยไม่ยอมแบ่งที่พิพาทให้โจทก์ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ในกรณีเช่นนี้โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง แม้โจทก์จะเป็นพระภิกษุก็ไม่มีกฎหมายห้ามฟ้อง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรของนายห้อย สุขดีหรือสุกดี และนางละม้าย สุขดีหรือสุกดี จำเลยทั้งห้าเป็นบุตรของนางละมูล โหงอ่อนพี่สาวโจทก์ นางละม้ายมารดาโจทก์ตายก่อนนายห้อย นายห้อยบิดาโจทก์ตายไปประมาณ 20 ปี ก่อนตายนายห้อยมีที่ดิน ส.ค.1 หนึ่งแปลงเนื้อที่ 16 ไร่ 1 งาน 58 ตารางวา ตั้งอยู่ที่ตำบลเกรียงไกรอำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ หลังจากนายห้อยตายโจทก์และนางละมูลมารดาของจำเลยทั้งห้าได้รับมรดกที่ดินแปลงดังกล่าวมาและได้ร่วมกันหรือแทนกันครอบครองตลอดมาโดยมิได้แบ่งแยก ต่อมาเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2528 โจทก์ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุครั้นต้นปี พ.ศ. 2530 นางละมูลตาย หลังจากนางละมูลตายแล้วจำเลยทั้งห้าไปขอออก น.ส.3 ก. สำหรับที่ดินดังกล่าว วันที่24 สิงหาคม 2530 พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่จำเลยทั้งห้าเป็น น.ส.3 ก. เลขที่ 276 ตำบลเกรียงไกรอำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ วันที่ 28 สิงหาคม 2530โจทก์ทราบจึงไปยื่นคำคัดค้านต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และบอกกล่าวให้จำเลยทั้งห้าไปจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ตามส่วนจำเลยทั้งห้าไม่ยอม ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าไปจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 276 ตำบลเกรียงไกร อำเภอเมืองนครสวรรค์จังหวัดนครสวรรค์ แล้วจดทะเบียนเป็นชื่อโจทก์ จำนวน 8 ไร่79 ตารางวา หากจำเลยทั้งห้าไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งห้า และถ้าหากไม่สามารถปฏิบัติตามคำขอดังกล่าวได้ ให้นำที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งห้าตามส่วน
จำเลยทั้งห้าให้การว่า ก่อนตายนายห้อยได้ยกที่ดินซึ่งพิพาทกันในคดีนี้ให้แก่นางละมูลมารดาจำเลยทั้งห้า และยกบ้านในที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ ซึ่งต่อมาโจทก์ได้ขายบ้านดังกล่าวให้แก่นางละมูลมารดาจำเลยทั้งห้าแล้ว นางละมูลได้ครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตนเองตลอดมา ไม่เคยครอบครองแทนหรือร่วมกับโจทก์แต่อย่างใดที่ดินพิพาทมิใช่มรดกของนายห้อย และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์เป็นพระภิกษุจะมาฟ้องขอแบ่งมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมไม่ได้
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าไปจดทะเบียนแบ่งที่ดินน.ส.3 ก. เลขที่ 276 เล่ม 3 ข. หน้า 26 ตำบลเกรียงไกรอำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ให้แก่โจทก์ จำนวน 8 ไร่79 ตารางวา หากจำเลยทั้งห้าไม่ไปจัดการจดทะเบียนให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งห้าแทน หากไม่สามารถจดทะเบียนแบ่งแยกได้ให้นำที่ดินดังกล่าวมาขายทอดตลาด นำเงินมาแบ่งกันระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งห้าตามส่วน
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า โจทก์เป็นพระภิกษุจะฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกคือที่ดินพิพาทในฐานะเป็นทายาทโดยธรรมไม่ได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1622 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นข้ออื่นอีกต่อไป พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในปัญหาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่า หลังจากนายห้อยบิดาโจทก์ตาย โจทก์และนางละมูลมารดาของจำเลยทั้งห้าได้รับมรดกที่ดินพิพาทมาและได้ร่วมกันหรือแทนกันครอบครองมาตลอดโดยมิได้แบ่งแยก ต่อมาโจทก์ไปอุปสมบทเป็นพระภิกษุ และภายหลังนางละมูลตาย จำเลยทั้งห้าได้ไปขอออก น.ส.3 ก.สำหรับที่ดินพิพาทในชื่อของจำเลยทั้งห้าฝ่ายเดียว โจทก์ขอให้จำเลยทั้งห้าแบ่งที่ดินพิพาทให้ จำเลยทั้งห้าไม่ยอมขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้ เห็นว่า ตามฟ้องโจทก์เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้าขอให้แบ่งที่ดินพิพาทให้ในฐานะที่โจทก์เป็นเจ้าของรวมอยู่กึ่งหนึ่ง มิใช่ในฐานะที่โจทก์เป็นทายาทโดยธรรมเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกเพราะเมื่อนายห้อยเจ้ามรดกตายโจทก์และนางละมูลมารดาจำเลยทั้งห้าได้รับมรดกมาแล้ว ที่ดินพิพาทจึงมิใช่มรดกของเจ้ามรดกอีกต่อไป แต่เป็นทรัพย์สินร่วมกันของโจทก์และนางละมูลมารดาของจำเลยทั้งห้า เมื่อนางละมูลตายส่วนของนางละมูลตกแก่จำเลยทั้งห้า โจทก์ขอแบ่งส่วนของตน จำเลยทั้งห้าไม่ยอมจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้แบ่งแม้โจทก์จะเป็นพระภิกษุ ก็หามีบทกฎหมายห้ามมิให้โจทก์ในฐานะเจ้าของรวมฟ้องจำเลยทั้งห้าไม่…
สำหรับปัญหาในประเด็นข้ออื่น ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังมิได้วินิจฉัยและโจทก์มิได้ฎีกาขึ้นมาด้วย จึงเห็นสมควรให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2วินิจฉัยต่อไป”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาพิพากษาใหม่ในประเด็นที่ยังมิได้วินิจฉัยค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกานี้ ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2สั่ง เมื่อพิพากษาใหม่.

Share