แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามฟ้องเดิมของโจทก์เป็นเรื่องที่ขอให้บังคับจำเลยคืนหรือ ใช้ราคาทรัพย์สินที่ยักยอกไป ส่วนจำเลยฟ้องแย้งอ้างว่าโจทก์ ขู่บังคับให้จำเลยลาออกโดยมิชอบ ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าจ้าง สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย ดังนั้น ฟ้องเดิม เป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน และฟ้องแย้งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงาน และตามกฎหมายว่าด้วยการ คุ้มครองแรงงาน แม้ว่าทั้งฟ้องเดิมและ ฟ้องแย้งจะเป็นคดีแรงงานก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงตลอดจนหลักฐานที่จะ นำสืบเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นแตกต่างกัน ไม่มีความเกี่ยวพันกัน จึงไม่เป็นฟ้องแย้งที่จะรับรวมไว้พิจารณากับฟ้องเดิม.
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ ได้ยักยอกทรัพย์สินของโจทก์ไปหลายรายการ รวมราคา 8,434,705.59บาท โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาต่อศาลแขวงพระนครเหนือศาลไต่สวนมูลฟ้องและประทับรับฟ้องแล้ว คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาปรากฏตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 17042/2527 เนื่องจากโจทก์ได้เรียกให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยักยอกไป ศาลแขวงพระนครเหนือได้สั่งให้โจทก์แยกฟ้องต่อศาลที่มีอำนาจเพราะศาลดังกล่าวไม่มีอำนาจพิจารณาในทุนทรัพย์ดังกล่าว โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์สินที่ยักยอกไปรวมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง เป็นเงิน 9,371,309.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินต้น 8,434,705.59 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ทรัพย์สินของโจทก์ตามฟ้องไม่ได้สูญหายไปโจทก์สมคบกับผู้สอบบัญชีทำรายการเท็จขึ้น เพื่อฉ้อโกงจำเลยและฟ้องคดีอาญาเพื่อบีบบังคับให้จำเลยต้องจ่ายเงินอันไม่ควรต้องจ่ายให้แก่โจทก์ คดีของโจทก์ขาดอายุความ 1 ปีแล้ว โจทก์ขู่บังคับให้จำเลยลาออกโดยมิชอบ โจทก์จึงต้องจ่ายเงินเดือนที่ค้างและค่าชดเชยแก่จำเลย 180 วัน ตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้องโจทก์และให้โจทก์จ่ายเป็นเงิน 80,000 บาท แก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยลาออกจากงานโดยสมัครใจจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างและค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นดังนี้ ข้อ 1 จำเลยได้ยักยอกทรัพย์ของโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างหรือไม่ เพียงใด และกำหนดประเด็นอื่น ๆ อีก 3 ข้อ แล้วมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีชั่วคราว เพื่อรอฟังผลคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลย เมื่อคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้วให้โจทก์จำเลยแถลงให้ศาลทราบเพื่อนำคดีนี้ขึ้นพิจารณาต่อไป
ศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษาคดีส่วนอาญาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 ให้จำคุก 2 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาพิพากษายืน โจทก์จึงได้ร้องขอให้ศาลแรงงานกลางยกคดีนี้พิจารณาต่อไป
จำเลยยื่นคำคัดค้านฉบับลงวันที่ 30 กันยายน 2534 ความว่าเนื่องจากศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่า จำเลยมิได้ยักยอกทรัพย์ของโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างตามที่กล่าวมาในฟ้องแต่อย่างใดประเด็นข้อ 1 ที่ศาลแรงงานกลางกำหนดไว้ว่า “จำเลยได้ยักยอกทรัพย์ของโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างหรือไม่ เพียงใด” จึงเป็นอันยุติลงแล้ว ไม่จำเป็นต้องนำสืบพยานในประเด็นนี้อีก ขอให้ศาลแรงงานกลางตัดประเด็นข้อนี้ออกไป
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า คดีนี้เป็นคดีแรงงาน ซึ่งมิใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จึงไม่จำต้องฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 46 ดังนั้น ข้อเท็จจริงในประเด็นข้อ 1 สำหรับคดีนี้จึงยังไม่ยุติ ศาลแรงงานกลางต้องฟังข้อเท็จจริงต่อไป และมีคำสั่งต่อไปด้วยว่า ฟ้องแย้งของจำเลยไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งศาลที่ให้รับฟ้องแย้งของจำเลยไว้และให้ตัดประเด็นข้อพิจารณาข้ออื่น ๆ ให้คงเหลือประเด็นที่ว่า จำเลยได้ยักยอกทรัพย์ของโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างหรือไม่ เพียงใดและเพิ่มเติมประเด็นอีกข้อหนึ่งว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 28 ตุลาคม 2534
จำเลยแถลงคัดค้านว่า ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้คู่ความสืบพยานในประเด็นที่ว่า จำเลยได้ยักยอกทรัพย์ของโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างหรือไม่ เพียงใดอีกนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แล้วยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาในข้อ 2.1 ว่า คำสั่งของศาลแรงงานกลางที่ให้โจทก์นำสืบพยานในประเด็นที่ว่า จำเลยได้ยักยอกทรัพย์ของโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างหรือไม่ เพียงใด อีกนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมายและอุทธรณ์ในข้อ 2.2 ว่า คำสั่งของศาลแรงงานกลางที่ไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าอุทธรณ์ข้อ 2.1 เป็นอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาจึงไม่รับ ส่วนอุทธรณ์ข้อ2.2 เป็นการไม่รับคำคู่ความซึ่งมิได้ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องจึงรับเฉพาะอุทธรณ์ข้อ 2.2
จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์ข้อ 2.1ศาลฎีกามีคำสั่งว่าจำเลยอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวไม่ได้เพราะเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ให้ยกคำร้อง
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงาน วินิจฉัยว่า “อุทธรณ์ข้อ 2.2 ของจำเลยที่ว่าฟ้องแย้งของจำเลยกล่าวหาว่าโจทก์ประพฤติผิดหน้าที่นายจ้างโดยมิได้จ่ายค่าจ้างสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยจึงเป็นคดีแรงงานที่มีมูลมาจากฟ้องเดิม ฟ้องแย้งจึงชอบด้วยกฎหมายที่ศาลแรงงานกลางไม่รับฟ้องแย้งเป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้อง เห็นว่าตามฟ้องเดิมของโจทก์เป็นเรื่องที่ขอให้บังคับจำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์สินที่ยักยอกไป ส่วนจำเลยฟ้องแย้งอ้างว่าโจทก์ขู่บังคับให้จำเลยลาออกโดยมิชอบ ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าจ้าง สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย ดังนั้น ฟ้องเดิมเป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน และฟ้องแย้งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานและตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน แม้ว่าทั้งฟ้องเดิมและฟ้องแย้งจะเป็นคดีแรงงานก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงตลอดจนหลักฐานที่จะนำสืบเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นแตกต่างกัน ไม่มีความเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกันฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่อาจรับไว้พิจารณารวมกับฟ้องเดิมของโจทก์ได้ ที่ศาลแรงงานกลางไม่รับฟ้องแย้งนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.