คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1846/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ชั้นอุทธรณ์จำเลยที่ 4 อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ลดโทษแก่จำเลยที่ 4 เพียงประการเดียว ที่จำเลยที่ 4 ฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังและจำเลยที่ 4 ไม่ได้กระทำผิดตามฟ้องจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 4 ตลอดชีวิต แม้จำเลยที่ 4จะมิได้อุทธรณ์ในปัญหาว่าจำเลยที่ 4 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ศาลอุทธรณ์ก็ต้องวินิจฉัยปัญหานี้อีกครั้งหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง หากศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วพิพากษายืน ปัญหานี้จึงจะถึงที่สุด แต่ถ้าศาลอุทธรณ์พิพากษาเป็นอย่างอื่นคดีก็ไม่ถึงที่สุด จำเลยที่ 4 อาจยกปัญหานี้ขึ้นฎีกาได้แม้จะมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยปัญหานี้ จึงเป็นการไม่ชอบ เพราะมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาดังที่ได้บัญญัติไว้ใน มาตรา 245 วรรคสองสมควรย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหานี้ก่อน อนึ่ง ปัญหาข้อนี้เป็นเหตุลักษณะคดี จึงให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 3 ที่ถูกศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกตลอดชีวิตอีกคนหนึ่งด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 289, 340, 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และริบอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลาง
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ 3 ที่ 4 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 289(4)(6), 340, 371พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง, 8 ทวิวรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(4)(6) ซึ่งเป็นบทหนักตาม มาตรา 90 วางโทษประหารชีวิตฐานมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯมาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง จำคุกคนละ 2 ปี ฐานพาอาวุธปืนโดยมิได้รับอนุญาตลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง,72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนักจำคุกคนละ 1 ปี จำเลยที่ 1 ที่ 2ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบ มาตรา 52(2) คงลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น จำคุกคนละ 40 ปี ฐานมีอาวุธปืนโดยไม่รับอนุญาตจำคุกคนละ 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุกคนละ 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 คนละ 41 ปี 6 เดือนจำเลยที่ 3 ที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,289(4)(6), 340 ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(4)(6) ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90วางโทษประหารชีวิต คำรับสารภาพของจำเลยที่ 3 ที่ 4 ชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52(2) (ที่ถูกเป็นมาตรา 52(1) คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ที่ 4 ไว้คนละตลอดชีวิตริบอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลาง คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์ขอให้ลดโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 นั้น จำเลยที่ 4 ขอให้ศาลอุทธรณ์ลดโทษแก่จำเลยที่ 4 โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 เพียงประการเดียว ข้อที่จำเลยที่ 4ฎีกาต่อมาว่าพยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง และจำเลยที่ 4 ไม่ได้กระทำผิดตามฟ้องโจทก์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 4 ตลอดชีวิต แม้จำเลยที่ 4 จะมิได้อุทธรณ์ในปัญหาว่าจำเลยที่ 4กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ก็ต้องวินิจฉัยปัญหานี้อีกครั้งหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสองหากศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วพิพากษายืนปัญหานี้จึงจะถึงที่สุด แต่ถ้าศาลอุทธรณ์พิพากษาเป็นอย่างอื่น คดีก็ไม่ถึงที่สุด จำเลยที่ 4 อาจยกปัญหานี้ขึ้นฎีกาได้แม้ว่าจะมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยปัญหาข้อนี้ จึงเป็นการไม่ชอบเพราะศาลอุทธรณ์มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง ดังกล่าวข้างต้น สมควรย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหานี้ก่อน อนึ่งปัญหาข้อนี้เป็นเหตุลักษณะคดี จึงให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 3 ที่ถูกศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกตลอดชีวิตอีกคนหนึ่งด้วย
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคดีสำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245วรรคสอง และตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share