คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 173/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลกำหนดประเด็นข้อพิพาทในข้อ (1) ว่า โจทก์จะนำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสี่เพื่อป้องกันเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้หรือไม่ และในข้อ (4) ว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรไทยคำว่า “เบต้าเดอร์มครีม”และอักษรโรมันคำว่า BETADERMCREAM หรือไม่ เมื่อพิจารณาประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวประกอบกับคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยแล้วย่อมแปลได้ว่าโจทก์มุ่งประสงค์จะอ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลย อันเป็นการฟ้องตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 มาตรา 41 มิใช่มาตรา 29 ศาลจึงวินิจฉัยได้ว่า โจทก์หรือจำเลยใครมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่ากัน ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของตำรับยาทารักษาโรคผิวหนังใช้เครื่องหมายการค้า “เบต้าเดอร์มครีม BETADERM CREAM”ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 จนถึงปัจจุบัน และได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาจากกระทรวงสาธารณสุขตลอดมา เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2526 จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “BETADERMCREAM เบต้าเดิร์ม ครีม” สำหรับสินค้า “ยาทาแก้โรคผิวหนัง”ต่อกรมทะเบียนการค้า และนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของจำเลยแล้ว เครื่องหมายการค้าซึ่งจำเลยทั้งสี่จดทะเบียนนั้น คำอักษรโรมันมีลักษณะเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ส่วนคำอักษรไทยมีลักษณะเกือบเหมือนแต่ออกเสียงเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จำเลยระบุจดทะเบียนเพื่อใช้เครื่องหมายการค้านี้กับยาทาแก้โรคผิวหนังเช่นเดียวกับโจทก์อันอาจจะเป็นการลวงให้สาธารณชนเข้าใจผิด การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 134509 ลงวันที่ 27 กันยายน 2526 เลขทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ 87962 หากจำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่ และให้จำเลยทั้งสี่ออกค่าใช้จ่ายในการเพิกถอนทั้งสิ้น
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า โจทก์มิใช่เจ้าของตำรับยาทาแก้โรคผิวหนังที่ใช้ชื่อ “เบต้าเดอร์มครีม BETADERM CREAM”ชื่อยาดังกล่าวหาใช่เครื่องหมายการค้าไม่ แต่เป็นเพียงชื่อตำรับยาโจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้า โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะนำคดีมาสู่ศาลเพื่อป้องกันเครื่องหมายการค้าของโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 134509 ลงวันที่27 กันยายน 2526 เลขทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 87962หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่โดยให้จำเลยทั้งสี่ออกค่าใช้จ่ายในการเพิกถอน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาขึ้นสู่ศาลฎีกาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ในข้อแรกว่า โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสี่เพื่อป้องกันเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ยังมิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้หรือไม่ ในข้อนี้จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า ปัญหาดังกล่าวศาลชั้นต้นได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ตรงกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 29 โจทก์ไม่ได้โต้แย้งประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว ศาลจึงต้องวินิจฉัยคดีไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474มาตรา 29 เท่านั้น จะไปวินิจฉัยตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41 ไม่ได้ เพราะเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาท เห็นว่า ประเด็นข้อพิพาทในข้อ (1)ซึ่งศาลชั้นต้นกำหนดไว้ว่า โจทก์จะนำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสี่เพื่อป้องกันเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือไม่ และประเด็นข้อพิพาทในข้อ (4) ว่าโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรไทยคำว่า “เบต้าเดอร์มครีม” และอักษรโรมันคำว่า BETADERM CREAM หรือไม่ เมื่อพิจารณาประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวประกอบกับคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยแล้วย่อมแปลได้ว่า โจทก์มุ่งประสงค์จะอ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลย อันเป็นการฟ้องตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 มาตรา 41 นั่นเอง เช่นนี้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลวินิจฉัยได้ว่า โจทก์หรือจำเลยใครมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่ากัน กรณีหาใช่เป็นเรื่องวินิจฉัยนอกประเด็นดังที่จำเลยเข้าใจไม่ ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share