แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การฟ้องคดีฐานละเมิดอาจเกิดขึ้นได้ทั้งกรณีที่มีสัญญาและไม่มีสัญญาต่อกันแล้วแต่ว่าการกระทำละเมิดเกิดจากเหตุและกรณีใดเป็นรายกรณีไป โดยอาศัยพฤติการณ์แห่งคดีเป็นหลัก และผู้ที่มีสิทธิฟ้อง นั้นต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย หาใช่เพียงแต่เป็นผู้เสียหาย โดยพฤตินัยเท่านั้นไม่ และบางกรณีต้องเป็นผู้เสียหายตามสัญญาที่ ได้ทำไว้ต่อ กันเท่านั้น โจทก์มิได้ทำสัญญาเป็นผู้เช่าโทรศัพท์กับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย จำเลยที่ 1 เป็นแต่เพียงผู้ครอบครองและใช้โทรศัพท์โดยได้รับมอบหมายมาจากบริษัท ค. เจ้าของอาคารที่โจทก์เช่าตั้งสำนักงานประกอบกิจการอยู่เท่านั้น แม้โจทก์ได้ชำระค่าเช่าและค่าบริการโทรศัพท์ให้จำเลยที่ 1 ตลอดมา ก็ถือว่าโจทก์เป็นแต่เพียง มีสิทธิใช้โดยพฤตินัยเท่านั้น หาได้มีสิทธิผูกพันกับจำเลยที่ 1 ไม่ โจทก์ยังไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 ให้เป็นผู้เช่าโทรศัพท์ แทนผู้เช่าเดิม การชำระค่าเช่าและค่าบริการโทรศัพท์ของโจทก์จึง เป็นการชำระแทนผู้เช่าเดิม โจทก์จึงไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับจำเลย ที่ 1จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2528 จำเลยที่ 3 ได้ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตสั่งระงับการใช้โทรศัพท์ ซึ่งโจทก์เป็นผู้ครอบครองและใช้ในการปฏิบัติงานโดยอ้างว่าโจทก์ค้างชำระค่าใช้บริการ ทั้ง ๆ ที่โจทก์ไม่เคยค้างชำระและจำเลยที่ 3 ระงับการใช้โทรศัพท์โดยมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบก่อนว่าจะต้องนำค่าใช้โทรศัพท์ที่ค้างไปชำระ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากลูกความของสำนักงานโจทก์ไม่สามารถติดต่อกับโจทก์ได้ เป็นเหตุให้ลูกความไม่ทราบนัดที่จะต้องไปศาลอย่างน้อย 3 คดี ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายคิดถึงวันฟ้องเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 100,000 บาทและขาดประโยชน์ที่ไม่ได้ใช้โทรศัพท์หมายเลขดังกล่าวคิดเป็นเงินวันละ 3,000 บาท จำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามต่อสายโทรศัพท์หมายเลข 2330567 ให้โจทก์ใช้เช่นเดิม และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 100,000 บาท กับค่าขาดประโยชน์และค่าเสียหายจากวันฟ้องในอัตราวันละ 3,000 บาท แก่โจทก์จนกว่าโจทก์จะได้ใช้โทรศัพท์ดังกล่าว
จำเลยทั้งสามให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์มิได้เป็นผู้เช่าโทรศัพท์ การที่จำเลยที่ 3 ขออนุมัติปลดฟิวส์งดให้บริการใช้โทรศัพท์จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ นอกจากนี้โจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน จำเลยที่ 2 เป็นผู้อำนวยการของจำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้แทนของนิติบุคคล และได้ทำหน้าที่ตามระเบียบข้อบังคับแล้ว จึงไม่ต้องรับผิดในฐานะส่วนตัวเช่นกันโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม ก่อนที่จำเลยที่ 3 จะขออนุมัติปลดฟิวส์งดให้บริการนั้น จำเลยที่ 3 ได้ตรวจสอบหลักฐานพบว่า ผู้เช่าโทรศัพท์เลขหมายดังกล่าว คือ บริษัทสายการบิน ทีดับบลิว เอ จำกัด ค้างชำระค่าเช่าประจำเดือนมีนาคม 2527 และมกราคม จำนวน 628 บาท และ 684 บาท ตามลำดับ จำเลยที่ 3 จึงมีหนังสือทวงถามไปตามที่อยู่ในทะเบียนติดตั้ง แต่ส่งให้ผู้เช่าไม่ได้โดยได้รับแจ้งว่าย้ายไปแล้ว เมื่อครบกำหนดเวลาตามระเบียบ จำเลยที่ 3 จึงขออนุมัติปลดฟิวส์จำเลยที่ 3 กระทำการโดยสุจริต จึงไม่เป็นละเมิดและไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมาเป็นเรื่องที่โจทก์คาดคะเนเอาเองลอย ๆ โดยมิได้แสดงให้แจ้งชัดว่าเสียหายอย่างไร จึงเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 30,000 บาท คำขออื่นสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 3ให้ยก และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1และที่ 3 ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสามนำสืบรับกันโดยไม่โต้แย้งเป็นอย่างอื่นฟังได้เบื้องต้นว่า โจทก์ได้เช่าห้องของอาคารพาณิชย์ดุสิตธานี ถนนพระราม 4เขตบางรัก กรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเจ้าของผู้ให้บริการเช่าโทรศัพท์ มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้อำนวยการและจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าหน้าที่เร่งรัดหนี้ของจำเลยที่ 1 ประจำอยู่ที่ชุมสายสุรวงศ์ เมื่อ พ.ศ. 2518จำเลยที่ 1 ได้ให้บริษัทสายการบิน ที ดับบลิว เอ จำกัด ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ในอาคารพาณิชย์ดุสิตธานี ทำสัญญาเช่าโทรศัพท์หมายเลข 2330567 ดังปรากฏตามสัญญาเช่าเอกสาร ล.8 ต่อมาบริษัทสายการบินดังกล่าว ย้ายออกไปจากอาคารพาณิชย์ดุสิตธานี และได้มอบเครื่องโทรศัพท์ให้บริษัทดุสิตธานีจำกัดไว้ บริษัทดุสิตธานี จำกัดจึงนำโทรศัพท์ดังกล่าวให้โจทก์ใช้โดยตอนแรก บริษัทจะออกค่าเช่าและค่าบริการแทนไปก่อนแล้วโจทก์จึงนำมาชำระให้แก่บริษัท ครั้นภายหลังโจทก์ได้นำค่าเช่าและค่าบริการไปชำระให้แก่จำเลยที่ 1 เองและได้ติดต่อขอเป็นผู้เช่าโทรศัพท์แทนบริษัทสายการบินดังกล่าวจำเลยที่ 1 รับเรื่องไว้แล้ว แต่ยังไม่ดำเนินการให้ระหว่างที่โจทก์ครอบครองและใช้โทรศัพท์อยู่ ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ตรวจพบว่าผู้เช่าโทรศัพท์ดังกล่าวยังค้างชำระค่าเช่าและค่าบริการประจำเดือนมีนาคม 2527 เป็นเงินจำนวน 628 บาท จำเลยที่ 3 จึงส่งหนังสือแจ้งเตือนผู้เช่าไปพร้อมกับใบแจ้งหนี้ประจำเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์2528 ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.3 และ ล.9 (แผ่นที่ 2) โดยส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ ปรากฏว่าส่งให้ผู้เช่าไม่ได้เพราะได้ย้ายไปแล้วทางพนักงานไปรษณีย์จึงส่งเอกสารดังกล่าวกลับคืนมาให้ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3 ต่อมาผู้เช่าได้นำเงินค่าเช่าและค่าบริการโทรศัพท์ไปชำระเฉพาะประจำเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2528 เท่านั้นโดยไม่ยอมชำระที่ค้างประจำเดือนมีนาคม 2527 จนครบกำหนดเวลาที่แจ้งเตือนแล้ว จำเลยที่ 3 จึงขออนุมัติปลดฟิวส์และทำการปลดฟิวส์งดมิให้ใช้บริการ โจทก์จึงใช้โทรศัพท์ดังกล่าวไม่ได้ ปัญหาสำคัญที่ควรวินิจฉัยเสียก่อนมีว่าการที่จำเลยที่ 3 ทำการปลดฟิวส์ระงับการใช้โทรศัพท์ที่โจทก์ใช้อยู่นั้น เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตซึ่งเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาในข้อแรกว่าศาลอุทธรณ์พิจารณาโดยตั้งประเด็นขึ้นมาใหม่ว่าจำเลยที่ 3 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ แล้วพิพากษาว่าโจทก์มิใช่ผู้เช่าโทรศัพท์โจทก์เป็นบุคคลภายนอกการกระทำของจำเลยที่ 3จึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ ซึ่งเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นได้ตั้งไว้ และไม่เป็นประเด็นที่โต้แย้งกันมาแต่ศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคแรกและศาลอุทธรณ์ยังวินิจฉัยอีกว่าโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1เพราะโจทก์ไม่ใช่ผู้เช่าโทรศัพท์ ไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1จึงเท่ากับวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ซึ่งศาลชั้นต้นไม่ได้ตั้งประเด็นไว้นั้น เห็นว่าประเด็นแห่งคดีนี้มีอยู่โดยตรงแล้วว่า จำเลยที่ 3 ได้ทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์มิใช่ผู้เช่าโทรศัพท์และเป็นบุคคลภายนอกนั้นเป็นการพิจารณาถึงสิทธิของโจทก์ว่ามีต่อจำเลยทั้งสามอย่างไรบ้างเพื่อที่จะให้เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 3 ซึ่งทำให้โจทก์ไม่ได้ใช้โทรศัพท์นั้นเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ดังที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ทั้งเหตุที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นมาวินิจฉัยนี้ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับประเด็นที่โต้แย้งกันโดยตรง ซึ่งจำเลยทั้งสามได้ให้การต่อสู้และนำสืบมาแต่ต้นแล้วและไม่ขัดกับที่ศาลชั้นต้นได้ตั้งประเด็นไว้ทั้งนี้ เพราะการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ย่อมเห็นได้ว่าได้นำสิทธิของโจทก์ที่โจทก์มีต่อจำเลยทั้งสามและพฤติการณ์แห่งคดีมาวินิจฉัยการกระทำของจำเลยที่ 3 ว่า เป็นละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ความรับผิดฐานละเมิดนั้นอาจเกิดแก่บุคคลใดที่ไม่ใช่คู่สัญญาก็ได้จึงไม่จำเป็นต้องมีนิติสัมพันธ์ต่อกันมาก่อนอย่างเช่นในกรณีของเอกเทศสัญญา และเรื่องนี้โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยเกี่ยวกับสัญญาเช่าแต่ฟ้องฐานละเมิด โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายได้นั้น เห็นว่า การฟ้องฐานละเมิดอาจเกิดขึ้นได้ทั้งกรณีที่มีสัญญาและไม่มีสัญญา ซึ่งแล้วแต่ว่าการกระทำละเมิดนั้นเกิดขึ้นจากเหตุและกรณีใดเป็นเรื่อง ๆ ไป ทั้งนี้ต้องอาศัยพฤติการณ์แห่งคดีเป็นหลักและผู้ที่มีสิทธิฟ้องคดีฐานละเมิดนั้นต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหาใช่เพียงแต่เป็นผู้เสียหายโดยพฤตินัยเท่านั้นไม่ และบางกรณีต้องเป็นผู้เสียหายตามสัญญาที่ได้ทำไว้ต่อกันเท่านั้น บุคคลภายนอกแม้จะได้รับความเสียหายก็ไม่มีสิทธิฟ้องคดีได้เพราะมิใช่เป็นการทำละเมิดต่อผู้นั้นดังเช่นคดีนี้ ข้อเท็จจริงฟังยุติแล้วว่าโจทก์มิได้ทำสัญญาเป็นผู้เช่าโทรศัพท์กับจำเลยที่ 1 แต่การที่ผู้ใดจะมีสิทธิติดตั้งใช้โทรศัพท์จากจำเลยที่ 1 ต้องขอและได้รับอนุญาต แล้วทำสัญญาเป็นผู้เช่ากับจำเลยที่ 1 เสียก่อน จำเลยที่ 1 จึงจะจัดการติดตั้งให้เช่าใช้โทรศัพท์ได้ เมื่อได้ทำสัญญาเช่าไว้แล้วมีการจงใจหรือประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่ฝ่ายใด ก็ถือได้ว่ามีการทำละเมิดเกิดขึ้นโดยนิตินัย แต่กรณีของโจทก์เห็นได้ชัดว่าเป็นแต่เพียงผู้ครอบครองและใช้โทรศัพท์โดยได้รับมอบหมายมาจากบริษัทดุสิตธานี จำกัด เจ้าของอาคารที่โจทก์เช่าตั้งสำนักงานประกอบกิจการอยู่เท่านั้น แม้โจทก์ได้ชำระค่าเช่า และค่าบริการโทรศัพท์ให้จำเลยที่ 1 ตลอดมา ก็ถือว่าโจทก์เป็นแต่เพียงมีสิทธิใช้โดยพฤตินัยเท่านั้น หาได้มีสิทธิผูกพันกับจำเลยที่ 1 ไม่การที่โจทก์ชำระค่าเช่าและค่าบริการโทรศัพท์เท่ากับเป็นการชำระแทนผู้เช่าเดิมและใช้โดยอาศัยสิทธิของผู้เช่าเดิมคือบริษัทสายการบินที ดับบลิว เอ จำกัด ทั้งนี้เพราะสัญญาเช่าโทรศัพท์ระหว่างบริษัทดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 ยังมิได้เลิกกันและโจทก์ยังไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 ให้เป็นผู้เช่าโทรศัพท์แทนบริษัทดังกล่าวและข้อเท็จจริงปรากฏและฟังได้ว่าตั้งแต่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาให้บริษัทสายการบินดังกล่าวเป็นผู้เช่าโทรศัพท์ตามสัญญาเอกสารหมาย ล.8เป็นต้นมาจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือติดต่อและแจ้งเก็บเงินค่าเช่าและค่าบริการโทรศัพท์กับผู้เช่าตลอดมา หาได้มีเอกสารติดต่อกับโจทก์โดยตรงไม่ แม้แต่ค่าเช่าและค่าบริการโทรศัพท์ที่จำเลยที่ 3 ตรวจพบว่ามีค้างชำระประจำเดือนมีนาคม 2527 แล้วจำเลยที่ 3ได้ส่งหนังสือแจ้งเตือนให้นำเงินไปชำระตามเอกสารหมาย ล.3 และล.9 (แผ่นที่ 2) ก็ตาม มีข้อความเป็นตัวอักษรในหนังสือเอกสารดังกล่าวชัดแจ้งว่า บริษัทสายการบิน ที ดับบลิว เอ จำกัดซึ่งเป็นผู้เช่า หาใช่หนังสือไปถึงโจทก์ไม่แสดงว่าจำเลยที่ 1ยังคงถือว่าบริษัทสายการบินดังกล่าวเป็นคู่สัญญาเช่าโทรศัพท์เครื่องพิพาทกับจำเลยที่ 1 ตลอดมา จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีนิติสัมพันธ์เกี่ยวกับการใช้หรือครอบครองโทรศัพท์กับจำเลยที่ 1แต่ประการใด ฉะนั้นการที่โจทก์อ้างว่าเป็นละเมิดต่อโจทก์เพราะไม่แจ้งให้โจทก์ทราบก่อนปลดฟิวส์ โจทก์มีสิทธินำคดีมาฟ้องจึงรับฟังไม่ได้ ทั้งเมื่อโจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ก็ไม่ต้องแจ้งให้โจทก์ทราบ ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ทั้งสิ้นและที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 3 ไม่ได้ส่งเอกสารหมาย ล.3 ซึ่งเป็นใบแจ้งเตือนให้ผู้เช่านำเงินไปชำระค่าเช่าและค่าบริการโทรศัพท์ตามที่อยู่ของผู้เช่านั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสามมีหลักฐานเป็นซองจดหมายใส่เอกสารและได้จ่าหน้าซองถึงที่อยู่ของผู้เช่าซึ่งได้ให้ไว้ตรงตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย ล.8 ชัดแจ้งแล้ว ประกอบกับนายแสวง วรรณจู ซึ่งเป็นพยานของโจทก์เองเบิกความยืนยันว่าซองเอกสารหมาย จ.3 ส่งให้ผู้รับไม่ได้ พยานจึงลงชื่อไว้บนซองแสดงว่าจำเลยที่ 3 ได้ส่งใบแจ้งเตือนให้ผู้เช่านำเงินไปชำระค่าเช่าและค่าบริการโทรศัพท์ประจำเดือนมีนาคม 2527 ที่ค้างชำระอยู่แก่จำเลยที่ 1 แล้ว แม้โจทก์จะไม่ทราบก็ตาม ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องแจ้งให้โจทก์ทราบดังที่วินิจฉัยข้างต้น ฉะนั้นเมื่อครบกำหนดตามใบแจ้งเตือนแล้วผู้เช่ายังไม่นำเงินค่าเช่าและค่าบริการโทรศัพท์ไปชำระ การที่จำเลยที่ 3 ขออนุมัติและทำการปลดฟิวส์ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้กระทำการตามหน้าที่และตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ว่าด้วยการงดให้บริการแก่ผู้เช่าโทรศัพท์ที่ค้างชำระค่าบริการ พ.ศ. 2526 ตามเอกสารหมาย จ.30 แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 3 ได้กระทำไปโดยสุจริตไม่ผิดระเบียบของจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์โดยไม่ต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นอีกต่อไป ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.