คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3345/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากอสังหาริมทรัพย์ค่าเช่าไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท ต่อห้อง กับให้จำเลยใช้ค่าขาดประโยชน์คิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 50,000 บาท แม้โจทก์จะกล่าวอ้างว่าอาจนำห้องพิพาทออกให้บุคคลอื่นเช่าจะได้ค่าเช่าเดือนละ10,500 บาท ต่อห้องแต่โจทก์ขอคิดค่าขาดประโยชน์จากจำเลยเดือนละ 10,000 บาท ต่อห้อง ซึ่งหมายถึงห้องพิพาทอาจให้เช่าได้เดือนละ 10,000 บาท หรือมากกว่านี้ต่อห้องก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์เดือนละ 5,000 บาท ต่อห้อง โดยโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาข้อเท็จจริงจึงยุติว่าห้องพิพาทอาจให้เช่าในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท ต่อห้อง กรณีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคสอง ผู้ให้เช่าไม่จำต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ให้เช่าเพราะวัตถุประสงค์ของสัญญาเช่ามีเพียงให้ผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่า เมื่อจำเลยให้การรับว่าได้ทำสัญญาเช่าตึกพิพาทจากโจทก์สัญญาเช่าย่อมผูกพันโจทก์และจำเลย โดยโจทก์ไม่จำต้องบรรยายมาในคำฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตึกพิพาทหรือได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง คำฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากตึกแถวสองห้อง และส่งมอบการครอบครองคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับตึกแถวสองห้องกับให้จำเลยชดใช้ค่าขาดประโยชน์จำนวนเงิน 50,000 บาทและอัตราเดือนละ 10,000 บาท ต่อห้อง นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะย้ายออกจากตึกแถวและส่งมอบการครอบครองคืนโจทก์
จำเลยให้การว่า สัญญาเช่าที่จำเลยทำกับโจทก์เป็นโมฆะค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมาสูงเกินไป และฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากตึกพิพาทห้องเลขที่ 182/7 และ 182/8 ถนนจรัญสนิทวงแขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร พร้อมส่งมอบการครอบครองแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย และให้จำเลยใช้ค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์เดือนละ 5,000 บาท ต่อห้องนับแต่วันที่ครบกำหนดตามสัญญาเช่าแต่ละฉบับ (วันที่ 30 มิถุนายน และวันที่31 กรกฎาคม 2538) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะออกจากตึกพิพาทและส่งมอบการครอบครองคืนโจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากอสังหาริมทรัพย์ค่าเช่าไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท ต่อห้องกับให้จำเลยใช้ค่าขาดประโยชน์คิดถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 50,000 บาท แม้โจทก์จะกล่าวอ้างว่าอาจนำห้องพิพาทออกให้บุคคลอื่นเช่าจะได้ค่าเช่าเดือนละ 10,500 บาท ต่อห้อง แต่โจทก์ขอคิดค่าขาดประโยชน์จากจำเลยเดือนละ 10,000 บาท ต่อห้องซึ่งหมายถึงห้องพิพาทอาจให้เช่าได้เดือนละ 10,000 บาท หรือมากกว่านี้ต่อห้องก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์เดือนละ 5,000 บาทต่อห้อง โดยโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาข้อเท็จจริงจึงยุติว่าห้องพิพาทอาจให้เช่าในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท ต่อห้อง กรณีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสอง ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยทำสัญญาเช่าห้องพิพาททั้งสองฉบับโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งสัญญาเช่า และศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์สูงเกินไป เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกามาไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายฟ้องให้แจ้งชัดว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในตึกพิพาททั้ง 2 ห้อง หรือไม่เห็นว่า การให้เช่าผู้ให้เช่าไม่จำต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ให้เช่า เพราะวัตถุประสงค์ของสัญญาเช่ามีเพียงให้ผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่า เมื่อจำเลยให้การรับว่าได้ทำสัญญาเช่าตึกพิพาทจากโจทก์สัญญาเช่าย่อมผูกพันโจทก์และจำเลย โดยโจทก์ไม่จำต้องบรรยายมาในคำฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตึกพิพาทหรือได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง คำฟ้องของโจทก์แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้น คำฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุมฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share