แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องคดีนี้ว่า คดีก่อนศาลมิได้มีคำพิพากษา ให้ใช้คำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ และเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 แบ่งแยกที่ดินออกเป็น 2 โฉนดทั้งที่ศาลมิได้พิพากษาให้แบ่งแยกตามรูปแผนที่ท้ายฟ้อง ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นคำฟ้องที่โต้แย้งเกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาว่าไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 302 วรรคหนึ่ง มิใช่ฟ้องเป็นคดีใหม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ศาลจังหวัดสมุทรสาครพิพากษาให้จำเลยคดีดังกล่าวซึ่งเป็นโจทก์คดีนี้จดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 12796 ตำบลคลองมะเดื่อ อำเภอกระทุ่มแบนจังหวัดสมุทรสาคร ให้โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 คดีนี้ ต่อมาจำเลยที่ 2 กับเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาคร สาขากระทุ่มแบนซึ่งเป็นข้าราชการอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกันนำคำพิพากษาดังกล่าวไปทำการรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในที่ดิน โดยทำการแบ่งแยกออกเป็น 2 โฉนด คือ โฉนดเลขที่ 12796จำนวนเนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 56.5 ตารางวา โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และโฉนดเลขที่ 23146 จำนวนเนื้อที่ 3 งาน 78.3 ตารางวาจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยศาลไม่ได้พิพากษาให้ใช้คำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ และไม่ได้พิพากษาให้แบ่งแยกที่ดินให้เป็นไปตามรูปแผนที่เอกสารท้ายฟ้องแต่อย่างใดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเดือนละ 3,000 บาท ขอให้เพิกถอนการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 12796 ตำบลคลองมะเดื่อ(คลองกระทุ่มแบน) อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาครและการออกโฉนดที่ดินเลขที่ 23146 ตำบลคลองมะเดื่อ(คลองกระทุ่มแบน) อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจดทะเบียนเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 23146ให้โฉนดที่ดินเลขที่ 12796 มีเนื้อที่เท่าเดิม หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 23146 ให้แก่โจทก์เพื่อนำไปจดทะเบียนเพิกถอน และให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าขาดประโยชน์ให้โจทก์อัตราเดือนละ 3,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะจดทะเบียนเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 23146 เสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 2 ได้ยื่นขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 12796 ต่อเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 โดยแสดงคำพิพากษาใบสำคัญแสดงว่าคดีถึงที่สุดและแผนที่สังเขปแสดงรูปที่ดิน ผลการรังวัดเพื่อแบ่งแยกที่ดินตามคำพิพากษาปรากฏว่า ที่ดินมีเนื้อที่น้อยกว่าที่ระบุไว้ตามโฉนดจึงแบ่งแยกเนื้อที่ลดลงตามส่วน เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลซึ่งถึงที่สุด จึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายและโดยสุจริต ไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนการแบ่งแยกและออกโฉนดตามคำพิพากษาของศาลหรือหากฟังว่าเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1กระทำละเมิดก็เป็นเรื่องเฉพาะตัว เพราะจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นตัวการ มิได้รู้เห็นหรือมีคำสั่งให้ปฏิบัติ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์เพราะยังคงครอบครองที่ดินส่วนของโจทก์ตลอดมาและไม่ได้ทำประโยชน์แต่อย่างใด โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าขาดประโยชน์อย่างไร คำฟ้องในส่วนนี้จึงเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องสืบพยาน จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยาน และพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่าที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการแบ่งแยกที่ดินและการออกโฉนดที่ดินเป็นคดีนี้ โดยบรรยายฟ้องว่าศาลจังหวัดสมุทรสาครมีคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 177/2534 ให้โจทก์จดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 12796 ให้จำเลยที่ 2 จำนวน 380.6 ส่วนจากที่ดินทั้งหมด 1,141.6 ส่วน แล้วจำเลยที่ 2 นำคำพิพากษาของศาลจังหวัดสมุทรสาครไปใช้ประกอบการขอรังวัดเพื่อแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมทั้ง ๆ ที่ศาลมิได้พิพากษาให้ใช้คำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์และเจ้าพนักงานรังวัดของจำเลยที่ 1แบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกเป็น 2 โฉนด ตามรูปแผนที่ท้ายฟ้องทั้ง ๆ ที่ศาลมิได้พิพากษาให้แบ่งแยกตามรูปแผนที่ เป็นการละเมิดต่อโจทก์นั้น เห็นได้ว่า คำฟ้องดังกล่าวเป็นคำฟ้องที่โต้แย้งเกี่ยวกับการดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาว่าปฏิบัติไม่ถูกต้องตามคำพิพากษากระทำในสิ่งที่ศาลมิได้พิพากษาไว้ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 302 วรรคหนึ่งโดยศาลที่มีอำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องเหล่านี้ก็คือศาลจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้นไว้ หากในชั้นบังคับคดีดังกล่าวมีเหตุอันควรสงสัยเกี่ยวกับการบังคับตามคำพิพากษา ก็อาจขอให้ศาลอธิบายคำพิพากษาได้ โดยจะต้องไปว่ากล่าวกันในคดีเดิมมิใช่ว่าเมื่อมีปัญหาเกี่ยวด้วยการบังคับคดีก็ฟ้องคดีใหม่ต่อไป จะทำให้ไม่รู้จักจบสิ้นที่โจทก์นำเรื่องเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาคดีคดีเดิมมาฟ้องเป็นคดีนี้โดยอ้างว่าเป็นการละเมิดไม่ถูกต้อง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน