คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2128/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ช. อุทิศที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณะเพื่อให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรของตนและประชาชนทั่วไปใช้เป็นทางสัญจร ย่อมมีผลตามกฎหมายทันทีนับตั้งแต่วันที่ช. อุทิศให้ โดยไม่จำต้องจดทะเบียนให้ปรากฏเป็นทางสาธารณะอีก เมื่อที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะแล้ว แม้ต่อมาช. จะนำที่ดินดังกล่าวไปขายให้แก่จำเลยหรือจำเลยนำไป จดทะเบียนจำนองต่อ ก็หาทำให้ที่ดินพิพาทสิ้นสภาพ เป็นทางสาธารณะไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสี่ใช้ทางพิพาทที่อยู่หน้าที่ดินของโจทก์ทั้งสี่เป็นทางผ่านเข้าออกและมีประชาชนใช้ด้วย จึงเป็นทางสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ครั้นประมาณกลางปี 2536 จำเลยทั้งสามร่วมกันสร้างรั้วคอนกรีตล้อมทางพิพาทซึ่งกว้าง 6 เมตร ยาวประมาณ94 เมตร ไว้ทั้งหมดเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่และประชาชนไม่อาจใช้ทางพิพาทตามปกติ โจทก์ทั้งสี่ได้ห้ามปรามจำเลยทั้งสามแล้วแต่จำเลยที่ 1 กลับอ้างว่าจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินอันเป็นทางพิพาทจากนายชำนาญ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันเปิดทางพิพาทห้ามมิให้เกี่ยวข้องกับรื้อถอนรั้วคอนกรีตตามฟ้องและขนย้ายออกไปโดยทำทางพิพาทให้อยู่ในสภาพใช้การได้ หากจำเลยทั้งสามไม่จัดการให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการดังกล่าว โดยให้จำเลยทั้งสามร่วมกันเสียค่าใช้จ่าย
จำเลยทั้งสามให้การว่า ที่ดินพิพาทไม่เคยเป็นทางเดินมาก่อนนายชำนาญมิได้อุทิศที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณะ เมื่อปี 2522นายชำนาญขายที่ดินพิพาทพร้อมที่ดินแปลงอื่นรวม 13 แปลงให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสามจึงจัดสร้างรั้วคอนกรีตในที่ดินจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ที่ 3 และที่ 4 ขอถอนฟ้องศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ จำเลยทั้งสามร่วมกันเปิดทางพิพาทและรื้อถอนรั้วคอนกรีตพร้อมขนวัสดุออกไปจากที่ดินพิพาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2667ตามเอกสารหมาย จ.13 โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2666 ตามเอกสารหมาย จ.14 โดยมารดาโจทก์ที่ 1และที่ 2 เป็นผู้ซื้อจากที่ดินจัดสรรของนายชำนาญ เกษราเมื่อปี 2518 แปลงหนึ่ง และอีกแปลงหนึ่งเมื่อปี 2519 ตามหนังสือสัญญาการซื้อขาย เอกสารหมาย จ.2 แล้วยกให้โจทก์ทั้งสองจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 และที่ 3เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ที่ดินซึ่งโจทก์ทั้งสองอ้างว่าเป็นทางพิพาทอยู่ในโฉนดที่ดินเลขที่ 2626 ตามเอกสารหมาย ล.6ซึ่งจำเลยที่ 1 ซื้อมาจากนายชำนาญ เมื่อปี 2522 รวมกับที่ดินอีก 12 แปลง ตามเอกสารหมาย ล.7 ต่อมานายชำนาญถึงแก่ความตายเมื่อปี 2530 ครั้นปี 2536 จำเลยทั้งสามร่วมกันสร้างรั้วคอนกรีตในที่ดินพิพาทดังกล่าวปิดกั้นหน้าที่ดินของโจทก์ทั้งสอง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสามฎีกา และโจทก์ทั้งสองแก้ฎีกาว่า ที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะหรือทางภารจำยอมหรือไม่ในข้อนี้จำเลยทั้งสามนำสืบและฎีกาว่า ที่ดินพิพาทไม่มีสภาพเป็นทางแต่อย่างใด โดยอ้างว่าเป็นที่รกมีน้ำขัง ไม่มีบุคคลใดใช้เป็นทางสัญญามาก่อนเห็นว่า พยานฝ่ายโจทก์ที่ 1 และที่ 2 นอกจากโจทก์ที่ 1 และที่ 2 จะเบิกความยืนยันว่าบริเวณที่ดินพิพาทอยู่หน้าที่ดินของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 มีทางตัดผ่านเพื่อใช้เป็นทางเข้าออกสู่ที่ดินของตนได้ โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ยังมีนางสุขยิ้นหรือสุกยิ้ม สุริวงศ์ มารดาโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เบิกความว่าหลังจากพยานซื้อและรับโอนที่ดินจากนายชำนาญแล้วพยานได้ซื้อดินมาถมที่ดินทั้งสองแปลงที่ซื้อไว้กับถมทางด้วยซึ่งนายชำนาญได้ถมดินลูกรังไว้เป็นทางบ้างแล้ว ประกอบกับที่ดินของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นที่ดินในโครงการจัดสรร จึงมีเหตุน่าเชื่อได้ว่า บริเวณด้านหน้าของที่ดินทุกแปลงย่อมทำเป็นทางเพื่อใช้เป็นทางเข้าออก ข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ความจากคำเบิกความของนางอุมาวศรี โชติกสวัสดิ์ และนายเสน่ห์ เกษราพยานโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ผู้เป็นน้องสาวและน้องชายของนายชำนาญซึ่งช่วยนายชำนาญในการจัดสรรขายที่ดินต้องกันว่า ที่ดินที่จัดสรรขายทุกแปลงด้านหลังชนกันส่วนด้านหน้ามีทางผ่าน พยานหลักฐานที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 นำสืบมาจึงรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเคยมีสภาพเป็นทางสัญจรมาก่อน และได้ความจากพยานหลักฐานที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 นำสืบว่า นายชำนาญได้ทำทางในที่ดินจัดสรรรวม 7 สายเพื่อผ่านที่ดินทุกแปลงที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทางผ่านหน้าที่ดินของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นทางสายหนึ่ง นางประจวบ เกษรา ภริยาของนายชำนาญเบิกความเป็นพยานโจทก์ที่ 1 และที่ 2ว่า ที่ดินส่วนที่เป็นทางนั้น ผู้ซื้อและคนอื่นสามารถใช้เป็นทางเข้าออกได้ทุกคน ไม่ถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของพยานแต่อย่างใดทั้งได้ความจากคำเบิกความของนางอุมาวศรีด้วยว่า นายชำนาญมีเจตนาที่จะอุทิศทางเข้าออกในที่ดินจัดสรรทุกสายให้เป็นทางสาธารณะนอกจากนี้นางท่อมเกตุมี และนางอึ่ง พรหมทองพยานโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินซึ่งอยู่ติดกับบริเวณที่ดินพิพาทเบิกความยืนยันว่า พยานทั้งสองได้บริจาคที่ดินส่วนหนึ่งทำเป็นทางจนจดทางพิพาทเพื่อใช้เป็นทางสัญจรผ่านที่ดินของนายชำนาญที่จัดสรรตามที่นายชำนาญชักชวนเมื่อปี 2519 หลังจากนั้นพยานทั้งสองก็ได้ใช้เส้นทางดังกล่าวตลอดมา ดังนั้น พฤติการณ์การกระทำของนายชำนาญข้างต้นจึงเป็นการอุทิศที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณะเพื่อให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรของตน และประชาชนทั่วไปใช้เป็นทางสัญจรได้ หาใช่เป็นเพียงทางในหมู่บ้านจัดสรรเพื่อให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรใช้ประโยชน์เท่านั้นดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยไม่ ส่วนข้อที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2เห็นว่าหากนายชำนาญประสงค์ที่จะให้ที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะคงจะไม่ขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ไปนั้น ได้ความจากคำเบิกความของนางประจวบและนางอุมาวศรีว่าเหตุที่จำต้องขายที่ดินพิพาทรวมกับที่ดินแปลงอื่นให้แก่จำเลยที่ 1 ก็เนื่องจากในขณะนั้นนายชำนาญยังเป็นผู้บริหารโรงเรียนพณิชยการกำแพงเพชรของจำเลยที่ 5 มีความประสงค์จะขยายการศึกษาของโรงเรียนให้ถึงระดับอาชีวศึกษา ซึ่งตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการจะต้องมีจำนวนที่ดินตามที่กำหนดไว้ จึงจะอยู่ในข่ายที่จะเปิดสอนในระดับอาชีวศึกษาได้ การขายที่ดินพิพาทของนายชำนาญก็เพื่อให้จำเลยที่ 1 ใช้เป็นหลักฐานในการเปิดโรงเรียนชั้นอาชีวศึกษาเท่านั้น หาได้มีเจตนาที่จะใช้ที่ดินพิพาทเป็นที่ตั้งของโรงเรียนแต่อย่างใดไม่ ซึ่งได้ความต่อไปว่า หลังจากนายชำนาญขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว ทางโรงเรียนของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ล้อมรั้วกั้นที่ดินพิพาทให้อยู่ภายในเขตของโรงเรียน คงให้ประชาชนทั่วไปสามารถใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางสัญจรเข้าออกได้ตามปกติจึงส่อให้เห็นถึงความตั้งใจของนายชำนาญตั้งแต่แรกว่ามีความประสงค์ที่จะอุทิศที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณะ ซึ่งมีผลตามกฎหมายทันทีนับตั้งแต่วันที่นายชำนาญอุทิศให้โดยไม่จำต้องจดทะเบียนให้ปรากฏเป็นทางสาธารณะอีกเมื่อที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะแล้ว ต่อมานายชำนาญจะได้นำที่ดินดังกล่าวขายให้แก่จำเลยที่ 1 ก็ดี หรือจำเลยที่ 1 นำไปจดทะเบียนจำนองก็ดี ก็หาทำให้ที่ดินพิพาทสิ้นสภาพเป็นทางสาธารณะไม่ จำเลยทั้งสามจึงไม่มีสิทธิทำรั้วและประตูปิดกั้นทางพิพาท”
พิพากษายืน

Share