คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2097/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทำไม้อันเป็นการทำให้เสื่อม สภาพป่า อันเป็นป่าสงวนแห่งชาติและเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าบริเวณเขาบรรทัด กับมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11,73พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14,31และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535มาตรา 38,54 เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพผิดตามฟ้องการกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดต่อกฎหมายทั้งสามฉบับดังกล่าว อีกทั้งความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ก็มีโทษหนักกว่าความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ มาตรา 31 วรรคหนึ่งด้วย ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทว่าความผิดฐานตัดโค่นไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติกับความผิดฐานตัดโค่นไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเป็นความผิดกรรมเดียวกันให้ลงโทษฐานตัดโค่นไม้ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯซึ่งเป็นบทหนักจึงไม่ถูกต้อง อีกทั้งความผิดฐานแปรรูปไม้หวงห้าม และมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองก็เป็นความผิดที่ผู้กระทำมีเจตนาต่างกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยแม้โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขึ้นมาศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง โดยไม่แก้โทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามาเพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซื้อหรือรับไว้ด้วยประการใดซึ่งเครื่องเลื่อยยนต์ เลื่อยโซ่ พร้อมอุปกรณ์1 เครื่อง ราคารวมค่าอากรแล้ว 8,778 บาทซึ่งเป็นของต้องห้ามต้องจำกัดมิให้นำเข้าราชอาณาจักรและจำเลยรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อห้ามหรือข้อจำกัดดังกล่าว และจำเลยได้เข้าไปใช้เลื่อยยนต์เลื่อยโซ่ตัดโค่นทำไม้ โดยตัดโค่นต้นไม้ทองสุกขนาดใหญ่ 1 ต้น(ขนาด 2 คนโอบ) ในบริเวณที่ดินป่าเขาบรรทัด อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียสภาพป่า อันเป็นป่าสงวนแห่งชาติ และเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า คิดเป็นค่าเสียหายของรัฐ 580.80 บาทโดยฝ่าฝืนกฎหมายแล้วในเวลาเดียวกันภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้จำเลยได้ใช้เลื่อยโซ่ เลื่อยยนต์ แปรรูปไม้ทองสุกอันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. โดยเลื่อยผ่าออกเป็นชิ้นเป็นแผ่นจำนวน40 ชิ้นแผ่น และต้นไม้ทองสุกผ่าซีก อีก 1 ท่อน และจำเลยมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้ทองสุกแปรรูปแล้ว จำนวน 40 ชิ้นแผ่น กับอีก1 ท่อน เกินกว่า 0.20 ลูกบาศก์เมตร อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 6, 7,11, 47, 48, 73, 74, 74 ทวิ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 มาตรา 6, 14, 31 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพ.ศ. 2535 มาตรา 38, 54 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 27 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 48 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคหนึ่ง, 74, 74 ทวิ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มาตรา 38, 54 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานซื้อหรือรับไว้ซึ่งเครื่องเลื่อยโซ่ยนต์ สิ่งของต้องห้ามนำเข้าในราชอาณาจักรปรับ 35,112 บาท ฐานตัดโค่นไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติกับความผิดฐานตัดโค่นต้นไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเป็นความผิดกรรมเดียวกันให้ลงโทษฐานตัดโค่นไม้ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุก 1 ปีและปรับ 10,000 บาท ฐานแปรรูปไม้หวงห้ามประเภท ก. โดยไม่ได้รับอนุญาต กับฐานมีไม้หวงห้ามประเภท ก. ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดกรรมเดียวกันให้ลงโทษฐานแปรรูปไม้หวงห้ามประเภท ก. โดยไม่ได้รับอนุญาตแต่เพียงกรรมเดียวปรับ 5,000 บาท รวมจำคุก 1 ปี และปรับ 50,112 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก6 เดือน ปรับ 25,056 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อนเพื่อให้จำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดีต่อไป ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 บังคับค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รอการลงโทษให้จำเลยและไม่ปรับจำเลยเฉพาะในฐานความผิดฐานตัดโค่นไม้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้นเห็นว่า จำเลยใช้เลื่อยโซ่ยนต์ ในการกระทำความผิด พฤติการณ์แห่งคดีค่อนข้างร้ายแรงและการตัดไม้ทำลายป่า นอกจากส่งผลเสียหายแก่ป่าไม้ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศชาติแล้วยังเป็นการทำลายแหล่งต้นน้ำลำธาร ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพของสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ สมควรที่จะปราบปรามอย่างเด็ดขาดเพื่อป้องปรามมิให้ผู้อื่นกระทำความผิดเช่นนี้อีก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รอการลงโทษจำคุกให้จำเลยนั้นเป็นการใช้ดุลพินิจในการลงโทษที่เหมาะสมแก่ความผิดของจำเลยแล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง การกระทำของจำเลยที่เข้าไปใช้เลื่อยโซ่ยนต์ ตัดโค่นต้นไม้ทองสุกขนาดใหญ่ 1 ต้น นั้น โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทำไม้อันเป็นการทำให้เสื่อมสภาพป่าอันเป็นป่าสงวนแห่งชาติและเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าบริเวณป่าเขาบรรทัด กับมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 11, 73 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507มาตรา 14, 31 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535มาตรา 38, 54 เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพผิดตามฟ้อง การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดต่อกฎหมายทั้งสามฉบับดังกล่าวแต่ศาลชั้นต้นมิได้ปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ อีกทั้งความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ มาตรา 54 วรรคหนึ่งก็มีโทษหนักกว่าความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติมาตรา 31 วรรคหนึ่ง ด้วย ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทว่าความผิดฐานตัดโค่นไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติกับความผิดฐานตัดโค่นไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเป็นความผิดกรรมเดียวกัน ให้ลงโทษฐานตัดโค่นไม้ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นบทหนักจึงไม่ถูกต้อง อีกทั้งความผิดฐานแปรรูปไม้หวงห้ามและมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองก็เป็นความผิดที่ผู้กระทำมีเจตนาต่างกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทว่าเป็นความผิดกรรมเดียวกัน ให้ลงโทษฐานแปรรูปไม้หวงห้ามเพียงบทเดียว จึงไม่ถูกต้องอีกเช่นกันปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขึ้นมาศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง โดยไม่แก้โทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามาเพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212”
พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะข้อหาทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11,73 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพ.ศ. 2535 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง, 54 วรรคหนึ่ง เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และความผิดฐานแปรรูปไม้หวงห้ามและมีไม้แปรรูปหวงห้ามไว้ในครอบครองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันต้องลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share