แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยตั้งทนายความไว้ 2 คน คือ ธ.และอ. การเลื่อนคดีครั้งแรก จำเลยอ้างเหตุว่า ธ. ทนายความเจ็บป่วยท้องเสียเพราะอาหารเป็นพิษโจทก์ไม่ค้าน ความจริงจำเลยอาจให้ อ. เข้าทำหน้าที่ได้เพราะไม่ปรากฏว่าในวันดังกล่าวอ. มีภาระกิจหรือความจำเป็นอื่นใด ต่อมาในการสืบพยานจำเลยครั้งที่ 2 จำเลยขอเลื่อนคดีอ้างว่าตัวจำเลยติดประชุม โดยตัวจำเลยก็ทราบวันนัดในครั้งนี้ล่วงหน้านานแล้ว ตามบัญชีระบุพยานจำเลยนอกจากจะอ้างจำเลยเป็นพยาน แล้ว ยังอ้าง ว.และสมุห์บัญชีธนาคารก.เป็นพยานอีกด้วยโดยเฉพาะว. เป็นพยานนำ แต่จำเลยก็มิได้นำพยานเหล่านี้มาสืบ แสดงให้เห็นความไม่ขวนขวายเท่าที่ควรอยู่ในตัว ในการเลื่อนครั้งที่ 2 นี้ ศาลได้กำชับว่าให้จำเลยเตรียมพยาน มาให้พร้อมมิฉะนั้นถือว่าไม่ติดใจสืบพยานเนื่องจาก จำเลยได้เลื่อนคดีติดกันเป็นครั้งที่ 2 แล้ว ต่อมา ในวันสืบพยานจำเลยครั้งที่ 3 จำเลยขอเลื่อนคดีอีกโดยอ้างว่า ธ. ทนายความป่วยกล้ามเนื้อขาอักเสบ ตามรายงานแพทย์ไม่มีรายละเอียดอื่น แสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้นำพา ต่อคำสั่งกำชับของศาล ทั้งจำเลยอาจให้ทนายคนอื่น ซักถามพยานแทนได้แต่ไม่ทำเช่นนั้น ประกอบกับโจทก์ คัดค้านการขอเลื่อนคดี ที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานจำเลย นั้นชอบแล้ว โจทก์ได้รับแลกเช็คพิพาทซึ่งมีจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายโจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คและได้รับประโยชน์ แห่งข้อสันนิษฐานตามกฎหมายว่าเป็นผู้ทรงโดยสุจริต ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 ประกอบกับ มาตรา 904 จำเลยมีหน้าที่นำสืบว่าโจทก์ไม่สุจริตคบคิดกัน ฉ้อฉลกับผู้มีชื่อดังที่จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดี เมื่อจำเลย มิได้นำสืบในข้อนี้จึงต้องรับผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณต้นเดือนพฤษภาคม 2538 จำเลยที่ 2 ได้นำเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาสนามเป้า ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2538 วันที่ 21 สิงหาคม 2538 และวันที่ 25 สิงหาคม 2538 จำนวนเงิน 900,000 บาท 800,000 บาท และ 800,000 บาท ตามลำดับ มีจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายมาสลักหลังแลกเงินสดไปจากโจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำเช็คเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 2,684,619 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 2,500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า เมื่อประมาณปลายเดือนเมษายน 2538จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คพิพาทจำนวน 3 ฉบับ มอบให้นายวินิต สุรวิลาศ นำไปแลกเงินสด นายวินิตได้นำเช็คพิพาทดังกล่าวไปขอแลกเงินสดจากนายดีเนช ปานเด แต่นายดีเนช ปานเดไม่สามารถรับแลกเงินสด นายวินิตจึงมอบเช็คพิพาทให้นายดีเนช ปานเด ช่วยนำไปแลกเงินสดให้ ต่อมานายดีเนช ปานเดแจ้งแก่นายวินิตว่าได้นำเช็คพิพาทไปขอแลกเงินสดกับโจทก์และมอบเช็คทั้ง 3 ฉบับ ให้แก่โจทก์ไว้แล้ว แต่ต่อมาโจทก์แจ้งแก่นายวินิตว่าไม่สามารถรับเงินแลกเงินสดได้และได้คืนเช็คพิพาทให้นายดีเนช ปานเดแล้ว นายวินิตจึงไปขอเช็คพิพาทคืนจากนายดีเนช ปานเด แต่ได้รับการผัดผ่อนเรื่อยมา จนกระทั่งนายดีเนช ปานเด ต้องคดีอาญา และได้หลบหนีกลับต่างประเทศ จำเลยที่ 1 จึงมีคำสั่งให้ธนาคารตามเช็คระงับการจ่ายเงิน การที่โจทก์นำเช็คพิพาทมาฟ้อง เป็นการร่วมคบคิดกันฉ้อฉลระหว่างโจทก์ จำเลยที่ 2 และนายดีเนช ปานเดความจริงแล้ว จำเลยที่ 2 ไม่เคยนำเช็คพิพาทไปแลกเงินสดกับโจทก์ โจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงเช็คพิพาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน2,500,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 900,000 บาท นับแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2538 และของต้นเงิน 800,000 บาทนับแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2538 และวันที่ 25 สิงหาคม 2538 ตามลำดับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่จะวินิจฉัยประการแรกว่าการที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานจำเลยที่ 1 ชอบหรือไม่ เห็นว่าคดีนี้จำเลยที่ 1 ตั้งทนายความไว้ 2 คน คือนายธนา ธรรมวิหารและนายอนุชาติ ตระกูลมุทุตา การเลื่อนคดีครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2540 จำเลยที่ 1 อ้างเหตุว่า นายธนาทนายความเจ็บป่วยท้องเสียเพราะอาหารเป็นพิษ โจทก์ไม่ค้าน ซึ่งความจริงแล้วจำเลยที่ 1 อาจให้นายอนุชาติเข้าทำหน้าที่ได้เพราะไม่ปรากฏว่าในวันดังกล่าวนายอนุชาติมีภาระกิจหรือความจำเป็นอื่นใด ต่อมาในการสืบพยานจำเลยที่ 1 ครั้งที่ 2 จำเลยขอเลื่อนคดีอ้างว่าตัวจำเลยที่ 1 ติดประชุม โดยที่จำเลยที่ 1 ก็ทราบวันนัดในครั้งนี้ล่วงหน้านานแล้ว ซึ่งตามบัญชีระบุพยานจำเลยฉบับวันที่ 25 ตุลาคม 2539 นอกจากจะอ้างจำเลยที่ 1 เป็นพยานแล้วยังอ้างนายวินิต สุรวิลาศ และสมุห์บัญชีธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด เป็นพยานอีกด้วย โดยเฉพาะปากนายวินิตเป็นพยานนำแต่จำเลยที่ 1 ก็มิได้นำพยานเหล่านี้มาสืบ แสดงให้เห็นความไม่ขวนขวายเท่าที่ควรอยู่ในตัว ในการเลื่อนครั้งที่ 2 นี้ศาลได้กำชับในรายงานกระบวนพิจารณาว่าให้จำเลยเตรียมพยานมาให้พร้อม มิฉะนั้นถือว่าไม่ติดใจสืบพยานเนื่องจากจำเลยได้เลื่อนคดีติดกันเป็นครั้งที่ 2 แล้ว ต่อมาในวันสืบครั้งที่ 3 จำเลยที่ 1 ขอเลื่อนคดีอีกโดยอ้างว่านายธนาทนายความป่วยกล้ามเนื้อขาอักเสบ ตามรายงานแพทย์ไม่มีรายละเอียดอื่นแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มิได้นำพาต่อคำสั่งกำชับของศาลทั้งจำเลยที่ 1 อาจให้ทนายคนอื่นซักถามพยานแทนได้ แต่ไม่ทำเช่นนั้นประกอบกับโจทก์คัดค้านการขอเลื่อนคดี ที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานจำเลยที่ 1 นั้นชอบแล้ว
ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คโดยสุจริตหรือไม่ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบโจทก์ได้ความว่า โจทก์ได้รับแลกเช็คพิพาทดังกล่าวซึ่งมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย จำเลยที่ 2ลงลายมือชื่อเป็นผู้อาวัล โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คและได้รับประโยชน์แห่งข้อสันนิษฐานตามกฎหมายว่าเป็นผู้ทรงโดยสุจริต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 ประกอบกับมาตรา 904จำเลยมีหน้าที่นำสืบว่าโจทก์ไม่สุจริตคบคิดกันฉ้อฉลกับจำเลยที่ 2ดังที่จำเลยที่ 1 ต่อสู้อย่างไร เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้นำสืบในข้อนี้จึงต้องรับผิด
พิพากษายืน