คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4250/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่า แผ่นซีดี-รอมที่จำเลยร่วมกับพวกขายและเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป เป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น และการที่สินค้าเหล่านี้ไม่มีฉลากจำเลยก็ทราบว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะทางราชการได้ประกาศให้ประชาชนทราบในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31(1)(2) มีโทษตามมาตรา 70 วรรคสอง แต่ไม่ผิดตามมาตรา 28,30 และ 69 เนื่องจากจำเลยไม่ได้กระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายโดยตรงหากแต่กระทำแก่งานที่บุคคลอื่นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นอยู่แล้ว
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์งานประเภทวรรณกรรมโดยนำแผ่นซีดี-รอมที่บันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งได้มีผู้ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน โดยนำออกขายเสนอขายแก่บุคคลทั่วไป อันเป็นการกระทำเพื่อแสวงกำไรในทางการค้า โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าแผ่นซีดี-รอมดังกล่าวเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย กรณีจึงต้องตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2537 มาตรา 31(1)(2) และ 70 วรรคสอง แม้คำขอท้ายฟ้องโจทก์ขอให้ลงโทษตามมาตรา 28,30 และ 69 ก็เป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคห้า และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 45 และจำเลยยังมีความผิดฐานขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลากตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 30(2) และ52 วรรคหนึ่ง อีกกรรมหนึ่งด้วย
ความผิดตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537ไม่ได้จำกัดว่าผู้กระทำความผิดจะต้องเป็นเจ้าของร้านหรือผู้จัดการร้านเท่านั้น ลูกจ้างหรือใครก็ตามหากรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่าสินค้าใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นแล้วยังนำออกขายหรือเสนอขายให้แก่ประชาชนเพื่อหากำไร กฎหมายให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ต้องรับโทษตามกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2540 เวลากลางวัน จำเลยได้กระทำผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรม กล่าวคือ จำเลยได้ละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของบริษัทไมโครซอฟต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัดผู้เสียหายที่ 1 บริษัท อโดเบ ซิสเต็มส์ จำกัด ผู้เสียหายที่ 2 บริษัทออโต้เดสก์อิงค์ ผู้เสียหายที่ 3 และบริษัท โลตัส ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด ผู้เสียหายที่ 4โดยการนำเอาแผ่นซีดีที่บันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ซึ่งได้มีผู้ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งสี่ รวมจำนวน402 แผ่น ออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยนำออกขายเสนอขายแก่บุคคลทั่วไป อันเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าแผ่นซีดีที่บันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งสี่และจำเลยได้เสนอขายแผ่นซีดีที่บันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลากตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลากฉบับที่ 58 (พ.ศ. 2536) เรื่อง กำหนดเทปเพลง วิดีโอเทปที่บันทึกเสียงและภาพและแผ่นซีดีที่บันทึกเสียงและภาพเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลากลงวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 โดยไม่ปิดฉลากจำนวน 1,611 แผ่นโดยจำเลยรู้หรือควรรู้ว่าการไม่ปิดฉลากดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมายขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 4, 6, 8, 15,28, 30, 61, 69, 75, 76, 78 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522มาตรา 3, 14, 30, 31, 52 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91และริบของกลางทั้งหมดโดยให้แผ่นซีดีของกลางที่ละเมิดลิขสิทธิ์จำนวน402 แผ่น ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และสั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง แผ่นซีดีของกลางที่ละเมิดลิขสิทธิ์จำนวน 402 แผ่นให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ ส่วนแผ่นซีดีของกลางที่เหลืออีก1,209 แผ่น ให้ริบ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในส่วนของความผิดฐานขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลากหรือการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2540 นายสรรพมัยเลขะกุล นำเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นร้านซีดีเฮ้าส์ที่อาคารพันธุ์ทิพย์พลาซ่าพบจำเลยอยู่ในร้านและพบแผ่นซีดี-รอมบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์จำนวน1,611 แผ่น อยู่ในห้องเก็บสินค้าหลังร้าน แผ่นซีดี-รอมทั้งหมดไม่ปิดฉลากตามประกาศของคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 58 (พ.ศ. 2536) และเป็นแผ่นซีดี-รอมที่ละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหายทั้งสี่จำนวน 402 แผ่น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยกับพวกร่วมกันขายและเสนอขายแผ่นซีดี-รอมที่บันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งสี่ให้แก่ประชาชน และร่วมกันขายสินค้าดังกล่าวซึ่งเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลาก

มีปัญหาต่อไปว่า จำเลยรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้หรือไม่ว่าแผ่นซีดี-รอมเหล่านั้นเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น และการที่ไม่มีฉลากนั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ปัญหาข้อนี้เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่าแผ่นซีดี-รอมที่จำเลยร่วมกับพวกขายและเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไปนั้น เป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น และการที่สินค้าเหล่านี้ไม่มีฉลากจำเลยก็ทราบว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายเพราะทางราชการได้ประกาศให้ประชาชนทราบในราชกิจจานุเบกษาแล้ว การกระทำของจำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31(1)(2) มีโทษตามมาตรา 70วรรคสอง ไม่ผิดตามมาตรา 28, 30 และ 69 เนื่องจากจำเลยไม่ได้กระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายโดยตรง หากแต่กระทำแก่งานที่บุคคลอื่นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นอยู่แล้ว คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์งานประเภทวรรณกรรมโดยนำแผ่นซีดี-รอมที่บันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งได้มีผู้ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งสี่ออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยนำออกขาย เสนอขายแก่บุคคลทั่วไปอันเป็นการกระทำเพื่อแสวงกำไรในทางการค้าโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าแผ่นซีดี-รอมดังกล่าวเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งสี่กรณีจึงต้องตามมาตรา 31(1)(2) และ 70 วรรคสอง แม้คำขอท้ายฟ้องโจทก์ขอให้ลงโทษตามมาตรา 28, 30 และ 69 ไม่ได้ขอให้ลงโทษตามมาตรา 31(1)(2) และ 70 วรรคสอง ก็ตาม ก็เป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด ศาลฎีกาจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคห้า ประกอบด้วยมาตรา 225 และ 215 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพ.ศ. 2539 มาตรา 45 นอกจากนี้จำเลยยังมีความผิดฐานขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลากตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคพ.ศ. 2522 มาตรา 30(2) และ 52 วรรคหนึ่ง อีกกรรมหนึ่งด้วย

ที่จำเลยแก้ฎีกาว่า จำเลยเป็นเพียงลูกจ้างไม่ใช่เจ้าของร้านหรือเป็นผู้จัดการซึ่งมีอำนาจเด็ดขาดในร้านหรือเกี่ยวข้องกับร้านเกิดเหตุจึงไม่ทราบว่าสินค้าที่จำเลยดูแลอยู่เป็นสินค้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นเห็นว่า ความผิดตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537ไม่ได้จำกัดว่าผู้กระทำความผิดจะต้องเป็นเจ้าของร้านหรือผู้จัดการร้านเท่านั้น ลูกจ้างหรือใครก็ตามหากรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่าสินค้าใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นแล้วยังนำออกขายหรือเสนอขายให้แก่ประชาชนเพื่อหากำไร กฎหมายให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ต้องรับโทษตามกฎหมาย คดีนี้โจทก์มีพยานหลักฐานฟังได้ว่าจำเลยรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่าสินค้าของกลางที่จำเลยร่วมกับพวกขายหรือเสนอขายให้แก่ลูกค้าเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น จำเลยจึงมีความผิดตามกฎหมายดังที่วินิจฉัยมาแล้ว”

พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2537 มาตรา 31(1)(2), 70 วรรคสอง พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคพ.ศ. 2522 มาตรา 30(2), 52 วรรคหนึ่ง ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 โดยให้ลงโทษฐานละเมิดลิขสิทธิ์จำคุก 1 ปี ปรับ 200,000 บาท ลงโทษฐานขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลากปรับ 7,000 บาท รวมลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 207,000 บาทจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน ปรับ 138,000บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน และเพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี จึงสมควรรอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติภายในกำหนดเวลาที่รอการลงโทษทุก 3 เดือน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 แผ่นซีดี-รอมของกลางที่ละเมิดลิขสิทธิ์จำนวน 402 แผ่น ให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ ของกลางนอกนั้นให้ริบ และให้จ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย

Share