คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 710/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมายื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การและฟ้องแย้งหลังจากวันชี้สองสถานแล้วถึงหนึ่งเดือนเศษ เมื่อคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยมิได้ยกข้อต่อสู้อะไรขึ้นใหม่ นอกจากรายละเอียดปลีกย่อยเพิ่มเติมที่มีอยู่ในคำให้การเดิม ข้อต่อสู้ที่ขอเพิ่มเติมใหม่เป็นข้อเท็จจริงซึ่งจำเลยย่อมทราบได้ดีว่ามีอยู่แล้วมาแต่ต้น ซึ่งจำเลยอาจยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การและฟ้องแย้งก่อนวันชี้สองสถานได้แม้จำเลยจะสงวนสิทธิที่จะฟ้องบังคับโจทก์ตามฟ้องแย้งไว้ในคำให้การเดิมและคดีมิใช่เป็นคดีอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ก็ไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การและฟ้องแย้งได้โดยชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180
กรณีได้ความตามที่จำเลยยอมรับว่า จำเลยได้สิทธิอาศัยมาโดยข้อตกลงด้วยวาจาที่โจทก์ให้ไว้กับจำเลย ย่อมถือได้ว่าจำเลยได้ทรัพย์สิทธิมาโดยนิติกรรม กรณีต้องตกอยู่อยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1299 วรรคแรก เพราะมิใช่การได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมดังบัญญัติไว้ในวรรค 2 เมื่อไม่ได้ทำเป็นหนังสือจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สิทธิอาศัยอันเป็นทรัพย์สิทธิที่จำเลยกล่าวอ้างได้มาจึงยังไม่บริบูรณ์ตามกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยรื้อถอนโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ ห้ามเกี่ยวข้อง โดยอ้างว่า โจทก์ยอมให้จำเลยซึ่งเป็นผู้อาศัยมาแต่เดิม โจทก์ได้บอกกล่าวจำเลยแจ้งให้รื้อถอนออกไปภายใน ๓๐ วันแล้ว จำเลยไม่ปฏิบัติตาม
จำเลยให้การว่า โจทก์ยินยอมให้จำเลยปลูกบ้านเรือนอยู่ในที่ดินของโจทก์ได้จนตลอดชีวิตของจำเลย และตกลงสัญญาจะจดทะเบียนสิทธิอาศัยให้แต่แล้วโจทก์กลับเพิกเฉยทั้ง ๆ ที่จำเลยทวงเตือนแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลย จำเลยขอสงวนสิทธิที่จะฟ้องขอให้โจทก์จดทะเบียนสิทธิอาศัยให้จำเลยในโอกาสต่อไป
หลังวันชี้สองสถานแต่ก่อนวันสืบพยาน จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การและฟ้องแย้งว่าโจทก์ขายที่ดินของโจทก์ให้ผู้มีชื่อ ผู้ซื้อตกลงยอมให้จำเลยปลูกบ้านอยู่อาศัยได้จนตลอดชีวิตและจะไปจดทะเบียนสิทธิอาศัยให้แล้วต่อมาผู้ซื้อขายกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนให้โจทก์ โจทก์ก็ได้ตกลงยินยอมจะจดทะเบียนสิทธิอาศัยให้จำเลย ขอให้บังคับโจทก์ไปจดทะเบียนสิทธิอาศัยให้จำเลย
ศาลชั้นต้นสั่งว่า จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การและฟ้องแย้งหลังจากศาลชี้สองสถานไปแล้วถึง ๑ เดือนเศษ ทั้งคดีไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่จำเลยสงวนสิทธิไว้ในคำให้การก็ไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิยื่นภายหลังวันชี้สองสถาน จึงไม่รับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การและฟ้องแย้งแล้วสั่งงดสืบพยานของโจทก์และจำเลยวินิจฉัยคดีว่า สิทธิอาศัยเป็นทรัพย์สิทธิชนิดหนึ่งซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๙ บัญญัติไว้ว่า การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่สมบูรณ์เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อจำเลยยอมรับว่า โจทก์ตกลงกับจำเลยด้วยวาจาจะยินยอมให้จำเลยมีสิทธิอาศัยในที่พิพาทนี้ตลอดไป ข้อตกลงนี้มิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่สมบูรณ์ (บริบูรณ์) ตามกฎหมายดังกล่าว จำเลยจึงยังไม่มีสิทธิอาศัย ถือได้ว่าเป็นการอยู่โดยละเมิด พิพากษาให้จำเลยรื้อถอนออกไปจากที่ดินของโจทก์ ห้ามเกี่ยวข้อง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาในปัญหาทั้งสองประการ
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การและฟ้องแย้งว่าแม้จำเลยจะสงวนสิทธิฟ้องบังคับโจทก์ให้จดทะเบียนสิทธิอาศัยไว้ในคำให้การเดิมของจำเลยก็หามีผลให้จำเลยมีสิทธินอกเหนือไปจากที่กฎหมายบังคับไว้ไม่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘๐ บัญญัติว่า”ฯลฯ คู่ความที่ขอแก้ไขคำฟ้องหรือคำให้การ อาจยื่นคำร้องได้ก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานแล้วแต่กรณี ฯลฯ” เมื่อจำเลยมิได้ยกข้อต่อสู้อะไรขึ้นใหม่ นอกจากรายละเอียดปลีกย่อยเพิ่มเติมขึ้นมา ข้อต่อสู้ที่ขอเพิ่มเติมใหม่เป็นข้อเท็จจริงซึ่งจำเลยย่อมทราบได้ดีว่ามีอยู่แล้วมาตั้งแต่ต้นซึ่งจำเลยอาจยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การและฟ้องแย้งก่อนวันชี้สองสถานได้ แต่จำเลยกลับมายื่นหลังจากศาลทำการชี้สองสถานไปแล้วถึงหนึ่งเดือนเศษ ทั้งคดีนี้ไม่ใช่คดีอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนจำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การและฟ้องแย้งได้
ในปัญหาข้อขับไล่จำเลย เมื่อความปรากฏตามที่จำเลยยอมรับว่าจำเลยได้สิทธิอาศัยมาโดยข้อตกลงด้วยวาจาที่โจทก์ให้ไว้กับจำเลยอันถือได้ว่าเป็นการได้มาโดยนิติกรรม กรณีก็ต้องตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๙ วรรคแรก เพราะมิใช่การได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๒๙๙ วรรค ๒สิทธิอาศัยเป็นทรัพย์สิทธิอย่างหนึ่งเมื่อไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ย่อมไม่อาจได้มาโดยบริบูรณ์ได้ ส่วนข้อผูกพันอันเป็นบุคคลสิทธินั้นโจทก์ย่อมบอกเลิกเสียได้ คดีนี้จำเลยก็มิได้ปฏิเสธเรื่องการบอกกล่าวล่วงหน้าของโจทก์ให้จำเลยจัดการรื้อถอนโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ไว้ในคำให้การ ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้จึงฟังได้ว่าจำเลยได้รับคำบอกกล่าวนั้นแล้ว ไม่จำต้องสืบพยานต่อไปดังจำเลยฎีกา
พิพากษายืน

Share