คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10953/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดข้อหาพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านโดยไม่มีเหตุสมควร เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้บทที่ลงโทษจำเลยจาก พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 72 ทวิ วรรคสอง เป็น ป.อ. มาตรา 371 ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดและกำหนดโทษปรับ 100 บาท อันเป็นการแก้ไขเล็กน้อย ความผิดดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276, 278, 309, 310, 318, 371, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเรา จำคุก 6 ปี และฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร จำคุก 6 ปีรวมจำคุก 13 ปี 6 เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสอง, 309 วรรคสองและ 310 วรรคแรก เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสอง อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 ปี ฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 6 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะปรับ 100 บาท รวมจำคุก 12 ปี และปรับ 100 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยกระทำชำเรานางสาวนุชนารถ ลิ่มเฉลิมวงศ์ ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีสำหรับความผิดข้อหามีอาวุธปืนไว้ในครอบครองและพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 นั้นเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ที่ให้ยกฟ้องแล้วโจทก์มิได้ฎีกา ส่วนความผิดข้อหาพาอาวุธปืนไปในเมืองและหมู่บ้านโดยไม่มีเหตุสมควร ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้บทที่ลงโทษจากพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 72 ทวิ วรรคสอง เป็นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดและกำหนดโทษปรับ100 บาท เป็นการแก้ไขเล็กน้อย จึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในความผิดข้อหาดังกล่าว คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยกระทำความผิดฐานพรากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจารโดยผู้เสียหายที่ 1 ไม่เต็มใจไปด้วย ฐานข่มขืนใจผู้เสียหายที่ 1 และนางสาวพุ่มพวง บังเกิดจังหรีด ผู้เสียหายที่ 2ให้จำยอมไปกับจำเลยโดยมีอาวุธ ฐานหน่วงเหนี่ยวให้ผู้เสียหายทั้งสองปราศจากเสรีภาพในร่างกายและฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 โดยมีและใช้อาวุธปืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายที่ 1 และนางสาววันเพ็ญ จงประวิงเป็นประจักษ์พยานเบิกความสอดคล้องต้องกัน ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าผู้เสียหายทั้งสองและนางสาววันเพ็ญจะพร้อมใจกันให้การปรักปรำจำเลยในเรื่องที่ไม่เป็นความจริง ผู้เสียหายที่ 1 และนางสาววันเพ็ญไม่เคยรู้จักจำเลยหรือพวกของจำเลยคนใดคนหนึ่งมาก่อน จึงไม่มีเหตุผลให้เชื่อว่าผู้เสียหายที่ 1 จะยินยอมให้จำเลยกระทำชำเราโดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะเกิดเหตุมีกเรียนอยู่ที่สนามกีฬาหลายคนที่น่าจะเห็นพฤติการณ์ของพวกจำเลยกับพวกผู้เสียหาย แต่เชื่อว่าไม่ประสงค์เข้าไปเกี่ยวข้องเท่านั้น เช่นนี้ผู้เสียหายทั้งสองและนางสาววันเพ็ญย่อมไม่กล้าเสริมแต่งเรื่องราวว่ามีการขู่บังคับ หากไม่เป็นความจริง แม้โจทก์ไม่ได้ตัวผู้เสียหายที่ 2 มาเบิกความต่อศาล แต่คำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหายที่ 2 มีน้ำหนักให้รับฟังเป็นความจริงด้วยเหตุผลดังวินิจฉัยมาและศาลรับฟังได้ เนื่องจากศาลออกหมายจับแล้วยังจับตัวยังไม่ได้ กรณีมีเหตุจำเป็นและมีเหตุผลสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม คำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าว จึงเป็นพยานหลักฐานที่ศาลรับฟังประกอบคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 และนางสาววันเพ็ญเพื่อลงโทษจำเลยได้ ที่จำเลยฎีกาว่าผู้เสียหายที่ 1 และนางสาววันเพ็ญเบิกความแตกต่างกันทั้งแตกต่างกับคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นพิรุธไม่น่ารับฟังนั้น เห็นว่า ประจักษ์พยานโจทก์แต่ละคนอาจจดจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างละเอียดมากน้อยไม่เท่ากัน โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในภาวะเช่นผู้เสียหายทั้งสองและนางสาววันเพ็ญต้องประสบเช่นในคดีนี้ ถ้อยคำที่แตกต่างกันไปบ้างก็ไม่ใช่ในส่วนสาระสำคัญของคดี เป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น ไม่ถึงกับทำให้คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 และนางสาววันเพ็ญกับคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหายที่ 2 มีน้ำหนักลดน้อยลงไป การที่ผู้เสียหายที่ 1 ไปที่โรงเรียนวัดหนองหอยก็เพื่อไปดูการแข่งขันกีฬา ซึ่งยังไม่ถือว่าพ้นจากอำนาจปกครองของบิดามารดาเมื่อจำเลยใช้อาวุธปืนขู่บังคับพาตัวผู้เสียหายที่ 1 ไปกระทำชำเราด้านหลังอาคารเรียน แม้จะอยู่ในบริเวณโรงเรียน แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการพาผู้เสียหายที่ 1 ไปโดยกระทบกระเทือนล่วงอำนาจปกครองของบิดามารดาผู้เสียหายที่ 1 แล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพรากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมารับฟังได้มั่นคงโดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วย ฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้จำยอมไปกับจำเลยโดยมีอาวุธปืน ฐานหน่วงเหนี่ยวให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายและข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยมีและใช้อาวุธปืน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น เห็นว่า พฤติการณ์แห่งความผิดเป็นเรื่องที่อุกอาจร้ายแรงและเป็นภัยต่อสังคม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำคุกกระทงละ 6 ปีนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขและโทษจำคุกดังกล่าวไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะรอการลงโทษให้แก่จำเลยได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

Share