คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1176/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อปรากฏว่า โจทก์อ้างมาในฟ้องตั้งแต่แรกแล้วว่าการกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์อันเป็นหลักเกณฑ์ของการกำหนดค่าทดแทนที่ดินซึ่งแก้ไขโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ข้อ 1 จำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ขอเรียกตามฟ้องและจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินที่ขอเพิ่มตามคำร้องขอแก้ไขฟ้องนั้นอาศัยหลักเกณฑ์เดียวกัน โจทก์สามารถที่จะขอแก้ไขได้ก่อนวันชี้สองสถานไม่น้อยกว่ายี่สิบเอ็ดวันและเนื้อที่หาสาระที่ขอแก้ไขมิใช่ปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ดังนี้คำร้องขอแก้ไขฟ้องของโจทก์จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 ที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขฟ้องนั้นชอบแล้ว ขณะคดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นได้มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ออกใช้บังคับ ซึ่งข้อ 1 บัญญัติให้ยกเลิกความในวรรคสี่และวรรคห้าของมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ในการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์และจำนวนเงินค่าทดแทน ให้คณะกรรมการกำหนดโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 18 มาตรา 21 มาตรา 22 และมาตรา 24” และข้อ 5 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า บทบัญญัติมาตรา 9 วรรคสี่และวรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้ให้มีผลใช้บังคับแก่การเวนคืนซึ่งการกำหนดราคาเบื้องต้น การจัดซื้อ การจ่ายหรือการวางเงินค่าทดแทนการอุทธรณ์หรือการฟ้องคดียังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้ใช้บังคับด้วย ดังนั้นในการกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งที่ดินที่ต้องเวนคืนนั้นศาลต้องพิจารณาโดยคำนึงถึง (1) ถึง (5) ของมาตรา 21แห่ง พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ด้วย ตามคำอุทธรณ์ของโจทก์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ระบุว่า ที่ดินส่วนที่เหลือไม่สามารถทำประโยชน์ในกิจการที่เหมาะสมอีกต่อไปเนื่องจากต้องตกอยู่ใต้ทางด่วน ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อย่างยิ่ง และข้อความดังกล่าวโจทก์ได้กล่าวอ้างรวมมากับข้อเรียกร้องให้ชำระเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนเพิ่มเติม เห็นได้ว่า โจทก์ประสงค์จะเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ในส่วนที่ราคาลดลงด้วย ถือว่าโจทก์ได้ร้องขอให้รัฐมนตรีฯ พิจารณาเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือราคาลดลงแล้ว โจทก์จึงมีสิทธินำคดีส่วนนี้มาฟ้องต่อศาลได้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 26 พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติว่าในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น และมาตรา 11 วรรคหนึ่งบัญญัติว่าในกรณีที่มีการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันได้ตามมาตรา 10 ให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่จ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขาย ปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยได้ทำซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันตามมาตรา 10 เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2532ตามสำเนาสัญญาซื้อขายฯ นับแต่วันดังกล่าวไปอีกหนึ่งร้อยยี่สิบวันซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยจะต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์คือวันที่6 กันยายน 2532 อันเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสาม โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันดังกล่าวในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารออมสิน มิใช่นับแต่วันที่โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนจากจำเลยที่ 1 ส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลง แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราตามคำขอของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดรวม 21 โฉนด ตำบลบางเขนฝั่งใต้ อำเภอบางซื่อ และตำบลลาดยาว(บางเขนฝั่งใต้) อำเภอบางเขน (บางซื่อ) กรุงเทพมหานครเนื้อที่รวม 4 ไร่ 3 งาน 31 ตารางวา เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2530ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรีและเขตบางเขน เขตดุสิต เขตพญาไท เขตปทุมวัน เขตบางรักเขตยานนาวา เขตห้วยขวาง เขตบางกะปิ เขตพระโขนงกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2530 ซึ่งที่ดินของโจทก์อยู่ในแนวที่จะถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวด้วย จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ได้ทำการสำรวจและกำหนดแนวเขตที่ดินเพื่อการเวนคืน และก่อสร้างทางพิเศษระบบทางด่วนขึ้นที่ 2 สายบางโคล่-แจ้งวัฒนะและสายพญาไท-ศรีนครินทร์ที่ดินของโจทก์ดังกล่าวถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษระบบทางด่วนขั้นที่ 2 สายบางโคล่-แจ้งวัฒนะรวมเป็นเนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 42 ตารางวา คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนและจำนวนเงินค่าทดแทน ได้กำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์เป็นเงิน 15,616,000 บาทและต่อมาจำเลยทั้งสองจ่ายเงินค่าทดแทนตามจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์โจทก์เห็นว่าเงินค่าทดแทนดังกล่าวต่ำกว่าราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด และไม่เป็นไปตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมจึงได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ คณะกรรมการดังกล่าวพิจารณาแล้วเห็นว่าสมควรจ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มให้แก่โจทก์อีกเป็นเงิน 1,629,000 บาท ซึ่งโจทก์ได้รับเงินแล้ว รวมเงินค่าทดแทนที่โจทก์ได้รับเนื่องจากการเวนคืนที่ดินทั้งสิ้น 17,245,000 บาท จำนวนเงินค่าทดแทนที่โจทก์ได้รับจากจำเลยทั้งสองดังกล่าวนั้นกำหนดจากราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมยังไม่ได้รวมค่าพัฒนาที่ดิน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 9 วรรคสี่ ที่ให้กำหนดราคาที่ดินโดยให้ถือราคาตามมาตรา 21(2) คือราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่หรือ (3)คือราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมหลักเกณฑ์ในบทบัญญัติมาตรา 9 วรรคสี่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ใช้บังคับมิได้การกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์โดยถือตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมนอกจากจะขัดต่อรัฐธรรมนูญแล้วยังไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ในการกำหนดราคาที่ดินที่ถูกเวนคืนของโจทก์จึงต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 21(1) ถึง (5) โจทก์ได้พัฒนาที่ดินแล้วทำให้ราคาที่ดินของโจทก์สูงขึ้น กล่าวคือเดิมสภาพที่ดินในบริเวณที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนดังกล่าวนั้นมีสภาพเป็นที่ลุ่ม มีระดับต่ำกว่าถนนรัชดาภิเษกประมาณ 2 เมตร ต่อมาประมาณปี 2528โจทก์เตรียมการที่จะปลูกสร้างบ้านเรือนบนที่ดินแปลงดังกล่าวบางส่วนเพื่อใช้อยู่อาศัย โจทก์จึงถมดินบนที่ดินทั้งแปลงรวม 21 โฉนดเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่เศษ ถมสูงกว่าระดับถนนรัชดาภิเษกประมาณ1 เมตร และได้บดอัดดินให้แน่นและเสมอกันตลอดทั้งบริเวณเสียค่าใช้จ่ายไปเป็นเงินทั้งสิ้น 4,000,000 บาท และเนื่องจากสภาพที่ดินเดิมของโจทก์เป็นที่ดินที่ยังไม่ได้มีการพัฒนาและเป็นที่ลุ่ม แต่ที่ดินอยู่ติดกับถนนรัชดาภิเษก ซึ่งเป็นย่านธุรกิจการค้ามีความเจริญ ที่ดินในบริเวณนั้นที่ยังไม่ได้มีการพัฒนามีราคาเฉลี่ยตารางวาละ 20,000 บาท ตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม และราคาท้องตลาดที่มีการซื้อขายกันในบริเวณใกล้เคียงในขณะที่พระราชกฤษฎีกาฯ ใช้บังคับมีราคาโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าตารางวาละ35,000 บาท ถึง 45,000 บาท เมื่อโจทก์ได้ทำการพัฒนาที่ดินแล้วทำให้ราคาที่ดินที่ถูกเวนคืนของโจทก์ มีราคาเพิ่มขึ้นเป็นตารางวาละ35,000 บาท ถึง 45,000 บาท ตามราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด ซึ่งได้ทำการซื้อขายกันในบริเวณย่านถนนรัชดาภิเษกในช่วงระยะเวลาที่โจทก์ทำการพัฒนาที่ดินแล้วเสร็จ แต่โจทก์ขอคิดเพียงตารางวาละ 35,000 บาท ที่ดินของโจทก์จึงมีราคาเพิ่มสูงขึ้นกว่าราคาที่ดินที่ยังไม่ได้มีการพัฒนาอีกตารางวาละ15,000 บาท ที่ดินโจทก์ถูกเวนคืนเนื้อที่รวม 2 ไร่ 3 งาน 42 ตารางวาจึงมีราคาเพิ่มสูงขึ้นเป็นเงิน 17,130,000 บาทต่อมาในปี 2529โจทก์ได้เตรียมการที่จะปลูกสร้างบ้านได้เสียค่าใช้จ่ายในการเขียนแบบแปลนบ้านไปเป็นเงิน 50,000 บาท ที่ดินส่วนที่เหลืออีก1 ไร่ 3 งาน 89 ตารางวา มีสภาพอยู่ในทางด่วนที่ยกระดับและเป็นแปลงเล็กแปลงน้อย ไม่อาจใช้ประโยชน์ใด ๆ ได้ ราคาที่ดินของโจทก์ดังกล่าวจึงมีราคาลดลง โดยไม่มีราคาเลยหรือราคาต่ำมากโจทก์ขอคิดราคาในส่วนที่ดิน ราคาลดลงในราคาตารางวาละ20,000 บาท รวมเป็นเงิน 15,780,000 บาท ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนเนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 42 ตารางวา เป็นเงินทั้งสิ้น39,970,000 บาท รวมเงินค่าทดแทนที่โจทก์ควรได้รับทั้งสิ้น55,750,000 บาท โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสองแล้วเป็นเงิน 17,245,000 บาท จึงยังคงขาดอยู่อีกเป็นเงิน38,505,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 38,505,000 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารออมสินในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ชำระเงินค่าทดแทนคือวันที่ 19 พฤษภาคม 2532 จนถึงวันฟ้อง เวลา 1 ปี 5 เดือน 15 วันเป็นเงิน 5,614,772.45 บาท และดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนที่ให้จำเลยทั้งสองจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนราคาลดลงจำนวน 1 ไร่ 3 งาน 89 วา เป็นเงิน 15,780,000 บาท นั้นโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ไม่เคยเรียกร้องค่าทดแทนในส่วนนี้มาก่อน เงินค่าทดแทนในส่วนนี้จึงยังไม่ผ่านการพิจารณาของเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และไม่ผ่านการพิจารณาอุทธรณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องร้องต่อศาลตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 และที่ดินส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนก็ยังสามารถใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์เดิมได้ เพราะโจทก์ประสงค์จะใช้ที่ดินนั้นเป็นที่อยู่อาศัย แม้สร้างทางด่วนยกระดับเสร็จแล้ว ที่ดินส่วนที่เหลือนั้นก็ยังปลูกสร้างที่อยู่อาศัยได้เช่นกัน ที่ดินของโจทก์ไม่ได้อยู่ในย่านการค้าแต่เป็นย่านที่อยู่อาศัย เพราะที่ดินดังกล่าวอยู่ติดถนนรัชดาภิเษก ซึ่งเป็นทางต้นเพราะยังไม่ได้สร้างสะพานลอยข้ามถนนวิภาวดีรังสิตมาเชื่อมต่อกับถนนรัชดาภิเษกฝั่งด้านถนนพหลโยธิน จึงยังไม่มีการจราจรผ่านถนนดังกล่าวริมสองข้างถนนไม่มีการประกอบการค้าหรือก่อสร้างสถานที่ประกอบการค้า ดังนั้น การมีทางด่วนผ่านหรือไม่จึงไม่มีผลทำให้ราคาที่ดินแตกต่างกันมาก ที่โจทก์อ้างว่า ที่ดินของโจทก์ได้พัฒนาแล้วทำให้มีราคาสูงขึ้นกว่าราคาที่ดินที่ยังไม่ได้พัฒนาอีกตารางวาละ15,000 บาท ไม่เป็นความจริง เพราะโจทก์ถมที่ดินจำนวน4 ไร่ 3 งาน 31 ตารางวา เป็นเงิน 4,000,000 บาทเฉลี่ยแล้วค่าถมดินตารางวาละ 2,071.46 บาท ถึงแม้จะมีการพัฒนาอย่างอื่นอีกก็คงใช้เงินไม่เกินหนึ่งเท่าของค่าถมดินจึงไม่มีทางที่จะทำให้ที่ดินมีราคาสูงขึ้นกว่าเดิมถึงตารางวาละ 15,000 บาทจำเลยที่ 2 ได้กำหนดค่าทดแทนให้โจทก์เป็นเงิน 15,616,000 บาทโดยชอบด้วยเหตุผลและวัตถุประสงค์ในการเวนคืนและเป็นธรรมแก่โจทก์แล้วรวมเป็นเงินค่าทดแทนที่โจทก์ได้รับทั้งสิ้น15,616,000 บาท โจทก์ไม่พอใจจึงอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พิจารณาแล้วเห็นชอบตามที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เสนอว่าที่ดินของโจทก์ทั้ง 21 โฉนด ติดเป็นที่ดินแปลงเดียวกันและยังมิได้มีการแบ่งเป็นซอย จึงกำหนดค่าทดแทนแบ่งได้เป็นสองส่วนคือส่วนที่ติดกับถนนรัชดาภิเษกระยะ 20 เมตร และส่วนที่เกิน 20 เมตรคิดค่าทดแทนเพิ่มให้โจทก์อีก 1,629,000 บาท รวมเงินค่าทดแทนและเงินเพิ่มตามคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นเงินทั้งสิ้น 17,245,000 บาท ซึ่งโจทก์ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปแล้ว อัตราดอกเบี้ยสูงสุดของเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในขณะที่มีการจ่ายเงินค่าทดแทนให้โจทก์ไม่ถึงร้อยละ 10 ต่อปีที่โจทก์คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่19 พฤษภาคม 2532 จนถึงวันฟ้องไม่ถูกต้อง เพราะโจทก์มิได้รับเงินค่าทดแทนในวันดังกล่าว แต่ได้มีการจ่ายเงินค่าทดแทนให้โจทก์เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2532 จึงต้องนับแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2532เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่ม จึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ย การเวนคืนที่ดินในครั้งนี้เพื่อสร้างทางด่วนพิเศษสายบางโคล่-แจ้งวัฒนะ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติโจทก์ควรจะเสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อประโยชน์ส่วนรวมและได้รับค่าทดแทนถึง 17,245,000 บาท เมื่อเทียบกับราคาที่ดินขณะที่โจทก์ได้มาเมื่อปี 2530 ได้มีการตีราคากันไว้ไม่ถึง2,500,000 บาท ค่าทดแทนที่โจทก์ได้รับเหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ติดถนนรัชดาภิเษก15 แปลง เนื้อที่ 903 ตารางวา ราคาตารางวาละ 30,000 บาทเป็นเงิน 27,090,000 บาท ที่ดินที่ไม่ติดถนน 6 แปลง เนื้อที่ 239ตารางวา ราคาตารางวาละ 10,000 บาท เป็นเงิน 2,390,000 บาทรวมเป็นเงินค่าทดแทนทั้งสิ้น 29,480,000 บาท โจทก์ก็ได้รับเงินค่าทดแทนแล้ว 17,245,000 บาทจำเลยต้องชำระเงินค่าทดแทนแก่โจทก์เพิ่มอีก 12,235,000 บาท ส่วนเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือที่โจทก์อ้างว่าราคาลดลงนั้น โจทก์ไม่ติดใจอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ข้อนี้ตามมาตรา 25โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลตามมาตรา 26 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 12,235,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่จำเลยทั้งสองต้องชำระเพิ่มขึ้น แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 9.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จทั้งนี้ดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 5,614,772.45 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินรวม 21 โฉนด ที่ดินดังกล่าวมีเขตติดต่อเป็นผืนเดียวกันรวมเนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 31 ตารางวา ตั้งอยู่ตำบลบางเขนฝั่งใต้อำเภอบางซื้อ และตำบลลาดยาว (บางเขนฝั่งใต้) อำเภอบางเขน(บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร ตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.21 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2530 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมืองนนทบุรีจังหวัดนนทบุรี และเขตบางเขน เขตดุสิต เขตพญาไท เขตปทุมวันเขตบางรัก เขตยานนาวา เขตห้วยขวาง เขตบางกะปิ เขตพระโขนงกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 ตามเอกสารหมาย ล.1 มีผลใช้บังคับวันที่ 1 มกราคม 2531 ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนเนื้อที่ 2 ไร่3 งาน 42 ตารางวา จำเลยทั้งสองกำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์เป็นเงิน 15,616,000 บาท โจทก์ไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนที่จำเลยทั้งสองกำหนดให้ดังกล่าว จึงได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้กำหนดเงินค่าทดแทนแก่โจทก์เพิ่มขึ้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์เพิ่มขึ้น 1,629,000 บาท รวมเป็นเงินค่าทดแทนที่โจทก์ได้รับทั้งสิ้น 17,245,000 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขฟ้องนั้นชอบหรือไม่ โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขฟ้องภายหลังจากวันชี้สองสถานเพื่อขอเพิ่มเติมจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินอันเป็นการเพิ่มเติมทุนทรัพย์ตามฟ้องโดยอ้างว่าภายหลังจากวันชี้สองสถานแล้วได้มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ออกใช้บังคับเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ของการกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืน เห็นว่า โจทก์อ้างมาในฟ้องตั้งแต่แรกแล้วว่าการกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21(1) ถึง (5) และเมื่อคำนึงหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21(1) ถึง (5) แล้ว โจทก์ควรได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งสิ้นเป็นเงิน 55,750,000 บาท อันเป็นหลักเกณฑ์ของการกำหนดค่าทดแทนที่ดินซึ่งแก้ไขโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ข้อ 1 จำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ขอเรียกตามฟ้องและจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินที่ขอเพิ่มตามคำร้องขอแก้ไขฟ้องนั้นอาศัยหลักเกณฑ์เดียวกันคือมาตาม 21(1) ถึง (5) โจทก์สามารถที่จะขอแก้ไขได้ก่อนวันชี้สองสถานไม่น้อยกว่ายี่สิบเอ็ดวัน และเนื้อหาสาระที่ขอแก้ไขมิใช่ปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน คำร้องขอแก้ไขฟ้องของโจทก์จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180ที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขฟ้องนั้นชอบแล้ว
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสองต่อไปว่าโจทก์ควรได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นหรือไม่ เห็นว่า ในขณะคดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นได้มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ออกใช้บังคับซึ่งข้อ 1 บัญญัติให้ยกเลิกความในวรรคสี่และวรรคห้าของมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ในการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์และจำนวนเงินค่าทดแทน ให้คณะกรรมการกำหนดโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 18มาตรา 21 มาตรา 22 และมาตรา 24” และข้อ 5 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า บทบัญญัติมาตรา 9 วรรคสี่และวรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้ให้มีผลใช้บังคับแก่การเวนคืนซึ่งการกำหนดราคาเบื้องต้น การจัดซื้อการจ่ายหรือการวางเงินค่าทดแทน การอุทธรณ์หรือการฟ้องคดียังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้ใช้บังคับด้วย ดังนั้นในการกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งที่ดินที่ต้องเวนคืนนั้นศาลต้องพิจารณาโดยคำนึงถึง (1) ถึง (5) ของมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 คือคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินที่จะต้องเวนคืนในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น เหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมที่ดินของโจทก์ทั้ง 21 โฉนด ตั้งอยู่ติดต่อเป็นผืนเดียวกันและตั้งอยู่ริมถนนรัชดาภิเษกมีโครงการสร้างสะพานเชื่อมถนนรัชดาภิเษกทั้ง 2 ฝั่ง ที่ดินบริเวณดังกล่าวกำลังได้รับการพัฒนาเป็นย่านที่พักอาศัย และอาคารสำนักงาน ราคาที่ดินย่อมสูงขึ้นกว่าราคาประเมินเพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม และได้ความด้วยว่าโจทก์ได้พัฒนาที่ดินโดยถมที่ดินมีความสูงกว่าถนนรัชดาภิเษกประมาณ 1 เมตร เพื่อปลูกบ้านอยู่อาศัยราคาที่ดินของโจทก์จึงสูงขึ้นอย่างแน่นอน และเนื่องจากที่ดินของโจทก์มีสภาพติดต่อเป็นผืนเดียวกัน ด้านติดกับถนนรัชดาภิเษกยางประมาณ 189 เมตร และที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนเนื้อที่รวม 2 ไร่ 3 งาน 42 ตารางวา สามารถใช้ประโยชน์ในลักษณะเดียวกันได้ทั้งหมด จึงน่าเชื่อว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินของโจทก์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันที่ 1 มกราคม 2531 อันเป็นวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ มีราคาเฉลี่ยใกล้เคียงตารางวาละ 30,000 บาท ตามที่โจทก์อุทธรณ์ขอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21(1) ถึง (5) ประกอบกันแล้ว ค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนซึ่งเป็นธรรมแก่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนและสังคมคือราคาเฉลี่ยตารางวาละ 30,000 บาท ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืน2 ไร่ 3 งาน 42 ตารางวา เป็นเงินค่าทดแทนทั้งสิ้น34,260,000 บาท โจทก์ได้รับเงินแล้ว 17,245,000 บาทโจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มอีก 17,015,000 บาท
ที่โจทก์ฎีกาขอให้กำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินส่วนที่เหลือเนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 89 ตารางวา ราคาลดลงตารางวาละ 20,000 บาท รวมเป็นเงิน 15,780,000 บาท จำเลยทั้งสองจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 21 วรรคสามนั้น เห็นว่าตามคำอุทธรณ์ของโจทก์เอกสารหมาย จ.23 ได้ระบุว่า ที่ดินส่วนที่เหลือไม่สามารถทำประโยชน์ในกิจการที่เหมาะสมอีกต่อไป เนื่องจากต้องตกอยู่ใต้ทางด่วนซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อย่างยิ่ง และข้อความดังกล่าวโจทก์ได้กล่าวอ้างรวมมากับข้อเรียกร้องให้ชำระเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนเพิ่มเติม เห็นได้ว่าโจทก์ประสงค์จะเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ในส่วนที่ราคาลดลงด้วย ถือว่าโจทก์ได้ร้องขอให้รัฐมนตรีฯ พิจารณาเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือราคาลดลงแล้วโจทก์จึงมีสิทธินำคดีส่วนนี้มาฟ้องต่อศาลตามมาตรา 26แต่ได้ความว่าที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนของโจทก์มีเนื้อที่ถึง1 ไร่ 3 งาน 89 ตารางวา โจทก์สามารถทำการก่อสร้างเป็นบ้านพักอาศัยหรือปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ได้และการเข้าออกที่ดินส่วนที่เหลือนี้ยังคงเข้าออกได้เหมือนเดิม นอกจากนี้ที่ดินที่เหลือนี้ก็อยู่ติดกับทางลงของทางด่วนสายนี้ ทำให้การเดินทางมายังที่ดินส่วนที่เหลือสะดวกยิงขึ้น ทั้งโจทก์นำสืบให้เห็นไม่ได้ว่าที่ดินส่วนที่เหลือของโจทก์ราคาลดลงอย่างไรศาลฎีกาเชื่อว่าที่ดินส่วนที่เหลือของโจทก์ราคาไม่ลดลงจึงไม่กำหนดเงินค่าทดแทนส่วนนี้ให้แก่โจทก์
ส่วนเรื่องดอกเบี้ยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 905 ต่อปี นับแต่วันที่19 พฤษภาคม 2532 เป็นการไม่ถูกต้อง เพราะดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดกฎหมายกำหนดไว้ร้อยละ 7.5 ต่อปี และจะต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันที่ทราบคำพิพากษาที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มตามคำพิพากษา เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติว่าในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น และมาตรา 11 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าในกรณีที่มีการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันได้ตามมาตรา 10 ให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่จ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขาย ปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยได้ทำซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันตามมาตรา 10 เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2532 ตามสำเนาสัญญาซื้อขายฯ เอกสารหมายจ.22 นับแต่วันดังกล่าวไปอีกหนึ่งร้อยยี่สิบวัน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยจะต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์คือวันที่ 6 กันยายน 2532อันเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสามโจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันดังกล่าวในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารออมสินมิใช่นับแต่วันที่โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนจากจำเลยที่ 1 ส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลง แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 9.5 ต่อปีตามคำขอของโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จจึงไม่ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน17,015,000 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแต่ไม่เกินร้อยละ 9.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 กันยายน 2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

Share