คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1772/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญาซื้อขายข้าวระหว่างโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 กับจำเลยทำขึ้นตามข้อกำหนดและเงื่อนไขทั่วไปตามที่ระบุในสัญญาของ กาฟต้า โดยสัญญาดังกล่าวระบุว่า ข้อพิพาทใด ๆที่เกิดขึ้นจากหรือตามสัญญานี้จะต้องพิจารณาตัดสินโดยอนุญาโตตุลาการตาม กฎอนุญาโตตุลาการข้อที่ 125 ของกาฟต้าที่ใช้บังคับในวันทำสัญญานี้ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญานี้และถือว่าคู่สัญญาต่างทราบกันดีอยู่แล้ว กฎอนุญาโตตุลาการและแบบฟอร์มสัญญาดังกล่าวจึงผูกพันใช้บังคับได้ กฎอนุญาโตตุลาการข้อที่ 125 เปิดโอกาสให้คู่กรณีเพียงแต่ใช้สิทธิอุทธรณ์คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และส่งเอกสารเพิ่มเติมได้เท่านั้น ส่วนกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็เป็นผู้ที่ได้รับเลือกไว้แล้วตามข้อ 9 ของข้อบังคับว่าด้วยการอนุญาโตตุลาการฉบับที่ 125 หาได้ให้ คู่กรณีแต่งตั้งกรรมการในชั้นพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณา อุทธรณ์ไม่ เมื่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ และคำชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เป็นไปตามกฎอนุญาโตตุลาการข้อที่ 125 ของกาฟต้าตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาซื้อขายแล้ว แม้วิธีพิจารณาของอนุญาโตตุลาการตามกฎดังกล่าว จะแตกต่างไปจากบทบัญญัติในพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 อยู่บ้าง จำเลยต้องปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว จะอ้างว่าขัดต่อพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการฯ เพราะมิได้ แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการในชั้นพิจารณาอุทธรณ์หาได้ไม่ ทั้ง คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการและคำชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณา อุทธรณ์ก็เป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศที่อยู่ ในบังคับแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับ ชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ฉบับนครนิวยอร์ก ลงวันที่10 มิถุนายน 2501(ค.ศ. 1958) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอันจะได้ รับรองและบังคับในราชอาณาจักรไทยตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการฯ มาตรา 29 วรรคหนึ่ง ซึ่งศาลจะทำคำสั่งปฏิเสธไม่บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ก็ต่อเมื่อปรากฏว่ามีเหตุตามมาตรา 34 และ มาตรา 35 เมื่อโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2ฟ้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศฉบับนครนิวยอร์กฯ ซึ่งศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับ ตามคำชี้ขาดเสียได้ต่อเมื่อจำเลยซึ่งจะถูกบังคับสามารถ พิสูจน์ได้ว่ามีกรณีตามที่ระบุไว้ในอนุมาตรา(1) ถึง (6) ของมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติ อนุญาโตตุลาการฯ กรณีใด กรณีหนึ่งหรือมีกรณีตามที่ระบุไว้ในมาตรา 35 เท่านั้น แต่ก็ ไม่ปรากฏกรณีดังกล่าว ดังนั้น คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการและ คำชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงเป็นคำชี้ขาดของ อนุญาโตตุลาการต่างประเทศที่อยู่ในบังคับแห่งอนุสัญญาว่าด้วย การยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ฉบับนครนิวยอร์กฯ อันจะได้รับการรับรองและบังคับในราชอาณาจักรไทยตามพระราชบัญญัติ อนุญาโตตุลาการฯ มาตรา 29 วรรคหนึ่ง และผูกพันจำเลย โจทก์ขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ที่อยู่ในบังคับแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้ บังคับคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศฉบับนครนิวยอร์ก กรณีจึงอยู่ใต้บังคับแห่ง มาตรา 34(6) ของพระราชบัญญัติ อนุญาโตตุลาการฯ ให้ศาลปฏิเสธคำชี้ขาดที่ยังไม่มีผลผูกพัน เป็นยุติ ฉะนั้น แม้อนุญาโตตุลาการของกาฟต้า จะมีคำชี้ขาดในวันที่ 25 มีนาคม 2535 ก็ตาม แต่เมื่อกรณียังสามารถอุทธรณ์ คำชี้ขาดไปยังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของกาฟต้าได้คำชี้ขาดดังกล่าวจึงยังไม่มีผลผูกพันเป็นยุติ จึงต้องถือตามคำชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งมีผลผูกพันเป็นยุติดังนั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 และจำเลยนำข้อพิพาท เสนออนุญาโตตุลาการชี้ขาด เมื่ออนุญาโตตุลาการชี้ขาดแล้ว โจทก์ที่ 1 และจำเลยได้อุทธรณ์คำชี้ขาดต่อคณะกรรมการพิจารณา อุทธรณ์ตามกฎอนุญาโตตุลาการข้อที่ 125 ส่วนโจทก์ที่ 2 ยื่นเอกสารผลการพิจารณา คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัย ให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ที่ 1 และ โจทก์ที่ 2 เมื่อวันที่15 กุมภาพันธ์ 2536 ซึ่งโจทก์ทั้งสอง และจำเลยได้รับทราบตามพระราชบัญญัติ อนุญาโตตุลาการฯ มาตรา 21 วรรคสี่ โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2537 อันมีผลเป็นการยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการคำร้องขอของโจทก์จึงยื่นภายในระยะเวลาที่พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการฯ มาตรา 30 กำหนดไว้แล้ว เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองได้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันฟ้องไว้โดย โจทก์ที่ 1 ขอคิดอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อ25.1บาทและ1ปอนด์สเตอร์ลิง ต่อ 38 บาท ส่วนโจทก์ที่ 2 ขอคิดอัตรา 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 25.50 บาท และ 1 ปอนด์สเตอร์ลิง ต่อ 38 บาท ดังนั้น หากอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ ศาลพิพากษาหรือ ในวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนก่อนวันพิพากษาสูงกว่าอัตรา ที่โจทก์ขอ ก็คงให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนได้ไม่เกินไปกว่าอัตรา ที่โจทก์ขอไว้

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกันโดยเรียกบริษัทเจ็ท เอ็นเตอร์ไพร์เซส จำกัด ว่า โจทก์ที่ 1 เรียกบริษัทซิโซสตราด เอส.เอ. ว่า โจทก์ที่ 2 และจำเลยทั้งสองสำนวนเป็นบุคคลคนเดียวกัน
โจทก์ที่ 1 ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาซื้อข้าวจำนวน 30,000 เมตริกตัน จากจำเลย ภายหลังมีข้อโต้แย้งกันว่าต่างฝ่ายต่างผิดสัญญา โจทก์ที่ 1 และจำเลยได้นำข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการของสมาคมการค้าเมล็ดข้าวและอาหาร กรุงลอนดอน (กาฟต้า) วินิจฉัยชี้ขาด ตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาซื้อขายข้าวอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดวินิจฉัยไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของโจทก์ที่ 1 ในส่วนที่โจทก์ที่ 1 เรียกร้องให้จำเลยชำระเงินจำนวน 934,491 ดอลลาร์ สหรัฐ โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์คำชี้ขาดต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของกาฟต้า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำชี้ขาดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2536 ชี้ขาดว่าจำเลยผิดสัญญาซื้อขายทำให้โจทก์ที่ 1 สูญเสียผลกำไรอันควรได้เป็นเงิน 656,509.50 ดอลลาร์สหรัฐพร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับจากวันที่ 28 กรกฎาคม 2532 จนถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2536 สำหรับประเด็นการจ่ายเงินค่าชดเชยในการขนถ่ายสินค้าล่าช้าให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน 201,662.28 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับจากวันที่ 1 กันยายน 2532 จนถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2536 ให้แก่โจทก์ที่ 1คำชี้ขาดเป็นที่สุดแล้ว แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตาม ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าเสียหาย 1,244,349.06 ดอลลาร์ สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปีของต้นเงิน 858,171.78 ดอลลาร์ สหรัฐนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับชำระค่าใช้จ่ายอนุญาโตตุลาการเป็นเงิน 11,472.65 ปอนด์สเตอร์ลิง แก่โจทก์ที่ 1
โจทก์ที่ 2 ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่าโจทก์ที่ 2 ได้ทำสัญญาซื้อข้าวจำนวน 15,000 ตันจากจำเลย ต่อมาจำเลยได้ส่งสินค้าตามสัญญาซื้อขายให้แก่โจทก์ที่ 2 แล้วแต่มีข้อพิพาทในเรื่องการคำนวณค่าชดเชยในการขนถ่ายสินค้าลงเรือฮังฟุกเกินกว่าระยะเวลาการขนถ่ายสินค้าที่กำหนดไว้และพิพาทในเรื่องการคำนวณเงินตอบแทนในการขนถ่ายสินค้าขึ้นลงเร็วกว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ซึ่งโจทก์ที่ 2 ต้องชำระให้จำเลยโจทก์ที่ 2 ได้ยื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการตามกฎอนุญาโตตุลาการข้อที่ 125ของสมาคมการค้าเมล็ดข้าวและอาหาร กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ(กาฟต้า) โจทก์ที่ 2 และจำเลยได้แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการเข้าร่วมพิจารณาที่กรุงลอนดอน และได้วินิจฉัยชี้ขาดเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2535 ให้จำเลยชำระเงินค่าชดเชยการขนถ่ายเกินกำหนดเวลาเป็นเงิน 48,756.25 ดอลลาร์ สหรัฐ และค่าตอบแทนการขนถ่ายสินค้าลงเรือเร็วกว่าระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งโจทก์ที่ 2 ต้องชำระให้แก่จำเลยพร้อมดอกเบี้ยของเงิน จำนวน 48,756.25 ดอลลาร์ สหรัฐในอัตราร้อยละ 11 ต่อปี นับจากวันที่ 13 กันยายน 2532 จนถึงวันที่ 18 มีนาคม 2535 จำเลยได้อุทธรณ์คำชี้ขาดไปยังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามกฎหมายอนุญาโตตุลาการข้อที่ 125 ของกาฟต้าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยยืนตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชั้นต้นให้จำเลยชำระเงิน 48,756.25 ดอลลาร์ สหรัฐพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับจากวันที่ 13 กันยายน 2532 ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2536 แก่โจทก์ที่ 2 คำชี้ขาดเป็นที่สุดแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน48,756.25 ดอลลาร์ สหรัฐ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จและให้ชำระค่าใช้จ่ายอนุญาโตตุลาการจำนวน 2,863.75 ปอนด์สเตอร์ลิง แก่โจทก์ที่ 1
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การในทำนองเดียวกันว่า การขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศนี้จะต้องทำเป็นคำร้องขอต่อศาล คำฟ้องโจทก์ทั้งสองจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของอนุญาโตตุลาการตามฟ้องไม่ใช่คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 ไม่มีผลผูกพันจำเลย กฎอนุญาโตตุลาการข้อที่ 125 และแบบฟอร์มของสัญญาหมายเลข 119 ของสมาคมการค้าเมล็ดข้าวและอาหารกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จำเลยมิได้ลงลายมือชื่อในแบบสัญญาดังกล่าว โจทก์ทั้งสองมิได้ฟ้องคดีภายในเวลา 1 ปี นับแต่วันแจ้งคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการให้จำเลย คดีจึงขาดอายุความคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งสองให้จำเลยชำระเงินเป็นเงินตราต่างประเทศนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,244,349.06 ดอลลาร์ สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงิน 858,171.78 ดอลลาร์ สหรัฐ นับแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2537จนกว่าจะชำระเสร็จและเงินจำนวน 11,472.65 ปอนด์สเตอร์ลิง แก่โจทก์ที่ 1 กับให้ชำระเงินจำนวน 70,756.25 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงิน 48,756.25 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จและเงินจำนวน 2,863.75 ปอนด์สเตอร์ลิง แก่โจทก์ที่ 2 โดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันที่มีคำพิพากษา
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้เป็นยุติว่า ประเทศไทย ประเทศสาธารณรัฐปานามา และประเทศอังกฤษ ต่างเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ฉบับนครนิวยอร์ก ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2501 (ค.ศ. 1958) โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทภายใต้กฎหมายของประเทศเบอร์มิวดาโจทก์ที่ 2 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐปานามา เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2532 และวันที่ 28 ตุลาคม 2531 โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ได้ทำสัญญาซื้อข้าวจากจำเลยตามเอกสารหมาย จ.9 คำแปลเอกสารหมาย จ.10 และเอกสารหมาย จ.32 คำแปลเอกสารหมาย จ.33 สัญญาดังกล่าวทำขึ้นตามข้อกำหนดและเงื่อนไขทั่วไปตามที่ระบุในสัญญาของกาฟต้า หมายเลข 119 (ซึ่งคู่สัญญายอมรับว่าคู่สัญญาได้ทราบและเข้าใจแล้ว) นอกจากนี้ผู้ซื้อและผู้ขายแสดงเจตนาโดยชัดแจ้งยอมรับข้อกำหนดเกี่ยวกับการประนีประนอมยอมความ และกฎอนุญาโตตุลาการข้อที่ 125 ของกาฟต้า ต่อมาได้เกิดกรณีพิพาทระหว่างโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 กับจำเลยสืบเนื่องมาจากจำเลยส่งมอบข้าวให้โจทก์ที่ 1 ล่าช้าและไม่ครบตามสัญญา ส่วนโจทก์ที่ 2 ปรากฏว่าจำเลยส่งมอบข้าวตามสัญญาแต่คำนวณค่าชดเชยการขนถ่ายสินค้าเกินกว่าระยะเวลาการขนถ่ายสินค้าที่กำหนดไว้ โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 และจำเลยได้เสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย อนุญาโตตุลาการได้ชี้ขาดตามคำชี้ขาดเลขที่ 10029 และเลขที่ 10025 เอกสารหมายจ.19 และ จ.36 พร้อมคำแปล โจทก์ที่ 1 และจำเลยได้อุทธรณ์คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามกฎอนุญาโตตุลาการข้อที่ 125 ของกาฟต้า ส่วนโจทก์ที่ 2 มิได้อุทธรณ์เพียงแต่ยื่นเอกสารผลการพิจารณา คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2536 ตามเอกสารหมาย จ.20 และ จ.39 พร้อมคำแปล
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า คำชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามฟ้องเป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 และผูกพันจำเลยหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า กรรมการในคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการของกาฟต้า ฝ่ายจำเลยมิได้ตั้งอนุญาโตตุลาการจึงไม่ชอบตามกฎหมาย และจำเลยมิได้ลงนามยอมรับกฎอนุญาโตตุลาการข้อที่ 125 และแบบฟอร์มของสัญญาหมายเลข 119 ของกาฟต้า ในปัญหานี้ เห็นว่า สัญญาซื้อขายข้าวระหว่างโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 กับจำเลยตามฟ้องคู่สัญญาทำขึ้นตามข้อกำหนดและเงื่อนไขทั่วไปตามที่ระบุในสัญญาของกาฟต้า โดยสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.9 และ จ.10 ข้อ 29(ก) อนุญาโตตุลาการได้กำหนดในทำนองเดียวกับสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.32 และ จ.33 ว่าข้อพิพาทใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากหรือตามสัญญานี้จะต้องพิจารณาตัดสินโดยอนุญาโตตุลาการตามกฎอนุญาโตตุลาการข้อที่ 125 ของกาฟต้าที่ใช้บังคับในวันทำสัญญานี้ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญานี้และถือว่าคู่สัญญาต่างทราบกันดีอยู่แล้ว ตามเอกสารหมาย จ.15 คำแปลเอกสารหมาย จ.18 กฎอนุญาโตตุลาการและแบบฟอร์มสัญญาดังกล่าว จึงผูกพันใช้บังคับได้ข้อเท็จจริง ได้ความว่าเมื่อเกิดกรณีพิพาทโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 และจำเลยได้แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการแต่ละฝ่าย โดยโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 แต่งตั้งนายเอ.จี.สก๊อตต์ เป็นอนุญาโตตุลาการจำเลยแต่งตั้งนายเค.อี.แฮรส์ เป็นอนุญาโตตุลาการ มีนายอาร์ โรเฟ เป็นประธานอนุญาโตตุลาการเมื่ออนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดแล้ว โจทก์ที่ 1 และจำเลยได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามกฎอนุญาโตตุลาการข้อที่ 125 ของกาฟต้า ส่วนโจทก์ที่ 2 มิได้อุทธรณ์เพียงแต่ยื่นเอกสารผลการพิจารณา ทั้งนี้ตามกฎอนุญาโตตุลาการ ข้อที่ 125 เปิดโอกาสให้คู่กรณีเพียงแต่ใช้สิทธิอุทธรณ์คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และส่งเอกสารเพิ่มเติมได้เท่านั้น ส่วนกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็เป็นผู้ที่ได้รับเลือกไว้แล้วดังปรากฏตามข้อ 9 ของข้อบังคับว่าด้วยการอนุญาโตตุลาการ ฉบับที่ 125 เอกสารหมาย จ.15 และคำแปลหมาย จ.18 หาได้ให้คู่กรณีแต่งตั้งกรรมการในชั้นพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ เมื่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของอนุญาโตตุลาการและคำชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เป็นไปตามกฎอนุญาโตตุลาการข้อที่ 125 ของกาฟต้า ตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาซื้อขายแล้ว แม้วิธีพิจารณาของอนุญาโตตุลาการตามกฎดังกล่าวจะแตกต่างไปจากบทบัญญัติในพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 อยู่บ้าง จำเลยต้องปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวจะอ้างว่าขัดต่อพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 เพราะมิได้แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการในชั้นพิจารณาอุทธรณ์หาได้ไม่ ทั้งคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการและคำชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามฟ้องเป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศที่อยู่ในบังคับแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ฉบับนครนิวยอร์ก ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2501 (ค.ศ. 1958) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอันจะได้รับการรับรองและบังคับในราชอาณาจักรไทยตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการพ.ศ. 2530 มาตรา 29 วรรคหนึ่ง ซึ่งศาลจะทำคำสั่งปฏิเสธไม่บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ ก็ต่อเมื่อปรากฏว่ามีเหตุดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 38 และมาตรา 35 คดีนี้โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ฟ้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศฉบับนครนิวยอร์ก ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2501 (ค.ศ. 1958) ซึ่งศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดเสียได้ ต่อเมื่อจำเลยซึ่งจะถูกบังคับสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีกรณีตามที่ระบุไว้ในอนุมาตรา(1) ถึง (6) ของมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 กรณีใดกรณีหนึ่งหรือมีกรณีตามที่ระบุไว้ในมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวเท่านั้น แต่ก็ไม่ปรากฏกรณีดังกล่าว ดังนั้น คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการและคำชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามฟ้องจึงเป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศที่อยู่ในบังคับแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศฉบับนครนิวยอร์ก ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2501(ค.ศ. 1958) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอันจะได้รับการรับรองและบังคับในราชอาณาจักรไทยตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการพ.ศ. 2530 มาตรา 29 วรรคหนึ่ง และผูกพันจำเลย
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า คดีโจทก์ทั้งสองขาดอายุความซึ่งที่ถูกคือโจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเกินระยะเวลาตามกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยอ้างว่า เมื่ออนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2535 แล้ว โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2537 จึงเกินระยะเวลาตามกฎหมาย เห็นว่า คดีนี้โจทก์ขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศที่อยู่ในบังคับแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือ และการใช้บังคับคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ฉบับนครนิวยอร์ก กรณีจึงอยู่ใต้บังคับแห่งมาตรา 34(6) ของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 ที่ให้ศาลปฏิเสธคำชี้ขาดที่ยังไม่มีผลผูกพันเป็นยุติ ฉะนั้น แม้อนุญาโตตุลาการของกาฟต้า จะมีคำชี้ขาดในวันที่ 25 มีนาคม 2535 ก็ตาม แต่เมื่อกรณียังสามารถอุทธรณ์คำชี้ขาดไปยังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของกาฟต้าได้คำชี้ขาดดังกล่าวจึงยังไม่มีผลผูกพันเป็นยุติกรณีนี้จึงต้องถือตามคำชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งมีผลผูกพันเป็นยุติ ดังนั้น เมื่อพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการพ.ศ. 2530 มาตรา 30 บัญญัติว่า “เมื่อคู่กรณีฝ่ายใดประสงค์จะให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศตามมาตรา 29 ให้คู่กรณีฝ่ายนั้นยื่นคำร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้ส่งสำเนาคำชี้ขาดถึงคู่กรณีตามมาตรา 21 วรรคสี่” ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 และจำเลยนำข้อพิพาทเสนออนุญาโตตุลาการชี้ขาด เมื่ออนุญาโตตุลาการชี้ขาดแล้ว โจทก์ที่ 1 และจำเลยได้อุทธรณ์คำชี้ขาดต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามกฎอนุญาโตตุลาการข้อที่ 125 ส่วนโจทก์ที่ 2 ยื่นเอกสารผลการพิจารณา คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2536 ซึ่งโจทก์ทั้งสองและจำเลยได้รับทราบตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530มาตรา 21 วรรคสี่ โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2537 อันมีผลเป็นการยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ คำร้องขอของโจทก์จึงยื่นภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทั้งสองสำนวนฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า การตั้งอนุญาโตตุลาการในชั้นพิจารณาอุทธรณ์มิได้แจ้งรายชื่อให้จำเลยทราบก็ดี โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลของประเทศเบอร์มิวด้า ซึ่งมิใช่ภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ฉบับนครนิวยอร์ก ก็ดี เป็นข้อที่จำเลยมิได้ให้การไว้จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินเป็นสกุลเงินต่างประเทศโดยถืออัตราเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในวันที่ศาลพิพากษาหรือในวันก่อนพิพากษาซึ่งใกล้เคียงกับวันพิพากษาที่สุด เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองได้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันฟ้องไว้โดยโจทก์ที่ 1 ขอคิดอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์ สหรัฐต่อ 25.1 บาท และ 1 ปอนด์สเตอร์ลิง ต่อ 38 บาท ส่วนโจทก์ที่ 2 ขอคิดอัตรา 1 ดอลลาร์ สหรัฐต่อ 25.50 บาท และ 1 ปอนด์สเตอร์ลิงต่อ 38 บาท ดังนั้น หากอัตราแลกเปลี่ยนสูงกว่าอัตราที่โจทก์ขอก็ให้คงคิดอัตราแลกเปลี่ยนได้ไม่เกินไปกว่าอัตราที่โจทก์ขอไว้นั้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสอง โดยให้คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครในวันที่ศาลฎีกานี้มีคำพิพากษา ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวไม่มี ก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนวันพิพากษา แต่เมื่อคิดแล้ว สำหรับกรณีโจทก์ที่ 1 อัตราแลกเปลี่ยนต้องไม่เกิน 1 ดอลลาร์ สหรัฐต่อ 25.1 บาท และไม่เกิน 1 ปอนด์สเตอร์ลิง ต่อ 38 บาท กรณีโจทก์ที่ 2 อัตราแลกเปลี่ยนต้องไม่เกิน 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 25.50 บาท และไม่เกิน 1 ปอนด์สเตอร์ลิง ต่อ 38 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share