แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7,72 วรรคหนึ่งและวรรคสองให้ลงโทษตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดย่อมไม่ถูกต้อง เพราะความผิดตามมาตรา 72 วรรคสองต้องเป็นเพียงกรณีมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยมิได้รับใบอนุญาตเท่านั้น แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยมิได้รับใบอนุญาต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามมาตรา 7,72 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องเป็นว่าในความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยมิได้รับใบอนุญาตจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯมาตรา 7,72 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2541 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยมีอาวุธปืนลูกซองสั้น จำนวน 1 กระบอกไม่มีหมายเลขทะเบียนกระสุนปืนขนาด 12 หัวจีบ จำนวน 2 นัดและกระสุนปืนลูกซองขนาด 12 หัวธรรมดา จำนวน 1 นัดไว้ในครอบครองโดยมิได้รับใบอนุญาต และพาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันสมควรและมิได้รับอนุญาต เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวเป็นของกลางขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง,72 วรรคหนึ่ง วรรคสอง, 72 ทวิ วรรคสอง เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนเป็นกรรมเดียวลงโทษตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดจำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืน จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือนจำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้นเห็นว่า กรณีมีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำและเพื่อให้จำเลยสามารถกลับตัวได้อย่างแท้จริง จึงให้ลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งและคุมความประพฤติไว้ด้วย
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่งและวรรคสองให้ลงโทษตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดนั้นไม่ถูกต้อง เนื่องจากความผิดตามมาตรา 72 วรรคสอง ต้องเป็นเพียงกรณีมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยมิได้รับใบอนุญาตเท่านั้นแต่คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยมิได้รับใบอนุญาต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามมาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ในความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยมิได้รับใบอนุญาต จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯมาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง และลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งโดยข้อหาฐานมีอาวุธปืนปรับ 15,000 บาท ฐานพาอาวุธปืน ปรับ 5,000 บาทรวมปรับ 20,000 บาท ลงโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 แล้ว คงปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 และคุมความประพฤติจำเลยไว้ 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟังโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้งตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดทำนองนี้อีก กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 30 ชั่วโมง หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3