แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
บันทึกการจับกุมผู้ต้องหาเป็นบันทึกที่เจ้าพนักงานตำรวจได้ทำขึ้นภายหลังที่ได้มีการจับกุมจำเลยแล้ว บันทึกการจับกุมจึงเป็นหลักฐานในการสอบสวนคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(11) ซึ่งไม่ได้มีบทบังคับว่าต้องทำอย่างไร เมื่อบันทึกการจับกุมมีร่องรอยการแก้ไขตกเติม ก็ไม่ทำให้บันทึกการจับกุมนั้นเป็นอันเสียไปหรือใช้ไม่ได้ การที่จำเลยลงนามในบันทึกดังกล่าวโดยมิได้โต้แย้งและมิได้ซักค้านพยานโจทก์เกี่ยวกับบันทึกการจับกุมให้เห็นเป็นอย่างอื่น ทำให้คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ปรากฏในบันทึกการจับกุมนั้นรับฟังเป็นพยานได้ส่วนคำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนนั้นไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ซักค้านพยานโจทก์เกี่ยวกับคำให้การดังกล่าวแต่อย่างใดเมื่อจำเลยลงนามในคำให้การชั้นสอบสวนโดยมิได้ถูกขู่เข็ญบังคับหรือโดยมิชอบด้วยประการอื่น ศาลย่อมรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นพยานได้ การที่จำเลยรับฝากเมทแอมเฟตามีนจาก ด. เพื่อนำไปให้ว.นั้นเป็นเรื่องที่จำเลยรับมาเพื่อส่งมอบให้แก่ว.การกระทำของจำเลยจึงเป็นการขาย ตามมาตรา 4แห่งพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518ซึ่งบัญญัติว่า “ขาย” หมายความรวมถึงจำหน่าย จ่าย แจกแลกเปลี่ยน ส่งมอบ หรือมีไว้เพื่อขาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 13 ทวิ, 62, 89,106, 106 ทวิ, 116 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 62 วรรคหนึ่ง, 89, 106 ทวิ การกระทำเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งมีโทษเท่ากันให้ลงโทษตามมาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89 จำคุก 9 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 6 ปี ของกลางให้ริบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 15, 67 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่โดยจำเลยฎีกาในประเด็นแรกว่าคำเบิกความของพยานโจทก์จ่าสิบตำรวจสมัคร นุชพิเรนทร์ สิบตำรวจโทบุญเหลือ อุปโคตรร้อยตำรวจโทณรงค์ อินทพุฒ เบิกความแตกต่างกันเกี่ยวกับวัตถุของกลางภาชนะที่ห่อหุ้มของกลาง สถานที่ตรวจพบของกลางอันเป็นข้อแตกต่างที่เป็นสาระสำคัญทำให้คดีของโจทก์เป็นที่น่าสงสัยในการตรวจค้นจับกุมจำเลยนั้น เห็นว่า แม้พยานโจทก์ทั้งสามจะเบิกความแตกต่างกันในเรื่องการตรวจค้นของกลาง และสถานที่พบของกลางดังกล่าว ก็หามีผลที่จะทำให้ศาลไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยได้แต่อย่างใดไม่ ฎีกาของจำเลยในประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้น จำเลยฎีกาในประเด็นต่อไปว่า บันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.1 มีการแก้ไขเดิมข้อความผู้ร่วมจับกุมคือร้อยตำรวจตรีณรงค์ อินทพุฒิ และมีการแก้ไขหมู่บ้านที่ตรวจพบของกลาง การแก้ไขเอกสารก็เพื่อให้สอดคล้องกับคำให้การพยาน คำรับสารภาพของจำเลยในเอกสารดังกล่าวจึงรับฟังเป็นพยานไม่ได้นั้น เห็นว่าบันทึกการจับกุมผู้ต้องหาตามเอกสารหมาย จ.1 นั้น เป็นบันทึกการจับกุมที่เจ้าพนักงานตำรวจได้ทำขึ้นภายหลังที่ได้มีการจับกุมจำเลยแล้ว การบันทึกการจับกุมเป็นหนังสือที่เจ้าพนักงานตำรวจได้จดไว้เป็นหลักฐานในการสอบสวนคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(11) ซึ่งไม่ได้เป็นบทบังคับว่าจะต้องทำอย่างไรเมื่อบันทึกการจับกุมมีร่องรอยการแก้ไข ตกเติม ก็ไม่ทำให้บันทึกการจับกุมนั้นเป็นอันเสียไปหรือใช้ไม่ได้ เมื่อจำเลยได้ลงนามในบันทึกดังกล่าวโดยมิได้โต้แย้งและมิได้มีการซักค้านพยานโจทก์เกี่ยวกับบันทึกการจับกุมให้เห็นเป็นอย่างอื่น คำให้การรับสารภาพของจำเลยในเอกสารหมาย จ.1ย่อมรับฟังเป็นพยานได้ ส่วนคำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.4 นั้น ก็ไม่ปรากฏในทางพิจารณาเลยว่าจำเลยได้ซักค้านพยานโจทก์เกี่ยวกับคำให้การดังกล่าวแต่อย่างใดเมื่อจำเลยลงนามในคำให้การในชั้นสอบสวน โดยไม่ปรากฏว่ามีการขู่เข็ญ บังคับ หรือโดยมิชอบด้วยประการอื่น ศาลย่อมรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นพยานได้ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยว่า ศาลล่างสองศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย โดยโจทก์นำสืบกล่าวอ้างพฤติการณ์การจำหน่ายลอย ๆ โดยมิได้มีพยานหลักฐานใด ๆยืนยันในประเด็นการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจึงเป็นการลงโทษหนักเกินกว่าเหตุนั้น เห็นว่า โจทก์มีสิบตำรวจโทบุญเหลือจ่าสิบตำรวจสมัคร ร้อยตำรวจโทณรงค์ เบิกความในทำนองเดียวกันว่าก่อนที่จะมีการจับกุมจำเลย สายลับได้มาแจ้งว่า จะมีคนนำยาบ้ามาส่งให้กับลูกค้าบริเวณทางเข้าหมู่บ้านหนองกุงเก่า ตำบลกวางโจนอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เป็นชายอายุประมาณ 40 ปีขับรถจักรยานยนต์แบบผู้หญิง สภาพใหม่ ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนจึงได้มีการวางแผนจับกุมและจับจำเลยได้ในเวลาต่อมา ซึ่งเจือสมกับทางนำสืบของจำเลยที่นำสืบว่าในวันเกิดเหตุได้ออกจากบ้านจะไปไร่ ระหว่างทางได้แวะที่บ่อปลาของนางแดง ดาวช่วยเพราะจำเลยต้องการจะซื้อปลาไปเลี้ยงคนงานที่ตัดอ้อย เมื่อซื้อปลาแล้ว นางแดงได้นำของมาฝากขอให้นำไปส่งให้นายดาวเรืองสามีนางแดง จำเลยได้รับฝากของจากนางแดงและถูกจับพร้อมกับของกลางดังกล่าว การที่จำเลยรับฝากของกลางจากนางแดงเพื่อนำไปให้นายดาวเรืองนั้น จึงเป็นเรื่องที่จำเลยรับมาเพื่อส่งมอบให้แก่นายดาวเรือง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการขาย ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4 ซึ่งบัญญัติว่า “ขาย” หมายความรวมถึง จำหน่าย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ส่งมอบ หรือมีไว้เพื่อขาย แต่สำหรับโทษจำคุกจำเลยนั้น เมื่อได้พิจารณาพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่า โทษจำคุกจำเลยนั้นหนักเกินสมควร ควรแก้ไขให้เหมาะสมแก่ความผิดเสียใหม่ ฎีกาของจำเลยในประเด็นนี้ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 6 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงจำคุก4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1