คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1245/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยจัดตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การ ของรัฐบาล พ.ศ. 2496 และ พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การ อุตสาหกรรมห้องเย็น พ.ศ. 2501 จำเลยจึงเป็นรัฐวิสาหกิจ โจทก์เป็นพนักงานของจำเลย โจทก์จึงเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 45ได้กำหนดรายละเอียดและเงื่อนไขให้รัฐวิสาหกิจจ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานรัฐวิสาหกิจซึ่งเลิกจ้าง แต่ในข้อ 47 วรรคหนึ่งแห่งระเบียบดังกล่าวระบุไว้ชัดแจ้งว่า พนักงานที่ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามข้อ 45ดังนี้เมื่อโจทก์ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยจากจำเลย โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุเกษียณอายุและโจทก์มีระยะเวลาการทำงานไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยทำงานมานาน 19 ปีเศษ ดังนี้แม้โจทก์จะขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวันนอกเหนือจากเงินบำเหน็จมาด้วย ซึ่งโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534ข้อ 47 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่ก็แปลได้ว่าโจทก์ประสงค์ได้รับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเป็นจำนวนเท่ากับเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวันตามบทบัญญัติในข้อดังกล่าว โดยเรียกผิดเป็นเงินค่าชดเชยนั่นเองเมื่อโจทก์ได้ปฏิบัติงานในช่วงก่อนเกษียณอายุติดต่อกันครบ5 ปีขึ้นไป โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวันตามข้อ 47 วรรคหนึ่ง จำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ มีข้อบังคับองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็นว่าด้วยกองทุนบำเหน็จของผู้ปฏิบัติงานองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็นว่า เงินบำเหน็จที่จำเลยจ่ายให้แก่ผู้ปฏิบัติงานซึ่งเกษียณอายุตามข้อบังคับนี้ ให้ถือว่าเป็นการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานด้วย แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีระเบียบข้อบังคับในการจ่ายเงินค่าชดเชยกรณีพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุ และให้ถือว่าเงินดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดของเงินที่จ่ายให้เพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานสอดคล้องกับข้อ 47 วรรคสอง แห่งระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยกองทุนบำเหน็จของผู้ปฏิบัติงานองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็นดังกล่าวจึงไม่ขัดกฎหมายและมีผลบังคับได้ จำเลยจึงชอบที่จะจ่ายเงินบำเหน็จให้ตามสิทธิของโจทก์เพียงจำนวนเดียว โดยไม่ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยหรือเงินค่าตอบแทนความชอบในการทำงานต่างหากอีกจำนวนหนึ่ง หากจะถือว่าจำเลยสามารถยกข้ออ้างที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยสามารถยกข้ออ้างว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติงานเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้ก็ตาม แต่คดีนี้ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติแล้วว่า โจทก์ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อจนเป็นช่องทางให้ อ.ทุจริตเบียดบังเงินกู้กองทุนสวัสดิการและกองทุนบำเหน็จของจำเลย ดังนี้ย่อมไม่อาจทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2521 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ครั้งสุดท้ายทำหน้าที่หัวหน้ากองคลังได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 20,320 บาท ครบกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม 2540 จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุเกษียณอายุโดยไม่จ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน เป็นเงิน 121,920 บาทและเงินบำเหน็จเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายคูณด้วยจำนวน 20 ปีที่ทำงานเป็นเงิน 406,400 บาท แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จ 406,400 บาท และค่าชดเชย 121,920 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ ขณะเมื่อโจทก์ทำงานกับจำเลย โจทก์ได้ทำงานด้วยความประมาทเลินเล่อไม่ควบคุมดูแลการดำเนินการเกี่ยวกับการให้กู้เงินกองทุนตามหน้าที่เป็นช่องทางให้เสมียนพนักงานซึ่งโจทก์มอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่แทนทุจริตเอาเงินกู้ของกองทุนไป เป็นเหตุให้จำเลยต้องเสียหายอย่างร้ายแรง กรณีจึงต้องด้วยระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 46(5) ประกอบกับข้อบังคับของจำเลย ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จฯ กำหนดว่าการจ่ายเงินบำเหน็จตามข้อบังคับนี้ ให้ถือว่าเป็นการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานด้วย หากเงินบำเหน็จน้อยกว่าค่าชดเชย ก็ให้จ่ายเพิ่มจนครบ โจทก์จะไม่มีสิทธิได้รับทั้งค่าชดเชยและเงินบำเหน็จ อย่างไรก็ดีตามข้อบังคับดังกล่าวกำหนดไว้ด้วยว่า ถ้าผู้ปฏิบัติงานใดมีข้อผูกพันจะต้องชดใช้เงินให้แก่จำเลยไม่ว่ากรณีใด เมื่อต้องพ้นจากหน้าที่หรือลาออกให้จำเลยหักเงินบำเหน็จของผู้ปฏิบัติงานนั้นจนครบตามข้อผูกพันก่อน แล้วจึงจ่ายส่วนที่เหลือ เมื่อโจทก์พ้นหน้าที่เพราะเกษียณอายุ จำเลยได้หักเงินบำเหน็จที่โจทก์พึงได้ตามสิทธิชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวให้จำเลยจนหมด ไม่มีเงินบำเหน็จเหลือที่จะจ่ายให้โจทก์ต่อไป ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจได้เลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุเกษียณอายุ มิใช่เพราะโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยตามฟ้องแก่โจทก์ และเมื่อพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบฟังไม่ได้ว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ จำเลยจึงต้องจ่ายเงินบำเหน็จแก่โจทก์โดยไม่มีสิทธินำเงินบำเหน็จดังกล่าวไปหักชดใช้ค่าเสียหายให้จำเลย และเงินบำเหน็จกับค่าชดเชยเป็นเงินคนละประเภทข้อบังคับของจำเลยที่กำหนดว่าการจ่ายเงินบำเหน็จให้ถือว่าเป็นการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานด้วยขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ไม่มีผลบังคับ โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับทั้งเงินบำเหน็จและค่าชดเชย พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 121,920 บาท และเงินบำเหน็จจำนวน 406,400 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2540จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ให้โจทก์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. 2496 และพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น พ.ศ. 2501 จำเลยจึงเป็นรัฐวิสาหกิจ โจทก์เป็นพนักงานของจำเลย โจทก์จึงเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจพ.ศ. 2534 ข้อ 45 ได้กำหนดรายละเอียดและเงื่อนไขให้รัฐวิสาหกิจจ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานรัฐวิสาหกิจซึ่งเลิกจ้างแต่ในข้อ 47 วรรคหนึ่ง แห่งระเบียบดังกล่าวระบุไว้ชัดแจ้งว่า พนักงานที่ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามข้อ 45 เมื่อโจทก์ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยจากจำเลยจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามข้อ 45 แห่ง ระเบียบดังกล่าวให้โจทก์
ที่จำเลยอุทธรณ์ประการต่อไปว่า ข้อบังคับองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จของผู้ปฏิบัติงานองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2524 ข้อ 9 วรรคท้าย ที่กำหนดว่าการจ่ายเงินบำเหน็จตามข้อบังคับนี้ให้ถือว่าเป็นการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานด้วย ไม่ขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานและไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ย่อมมีผลบังคับ หากโจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ต้องถือว่าโจทก์ได้รับค่าชดเชยรวมไปด้วยแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยอีกต่างหากนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุเกษียณอายุและโจทก์มีระยะเวลาการทำงานไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยทำงานมานาน 19 ปีเศษ ดังนี้ แม้โจทก์จะขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวันนอกเหนือจากเงินบำเหน็จมาด้วยซึ่งโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่องมาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจพ.ศ. 2534 ข้อ 47 วรรคหนึ่ง ก็ตาม ก็พอจะแปลคำฟ้องได้ว่าโจทก์ประสงค์ได้รับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเป็นจำนวนเท่ากับเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวันตามบทบัญญัติในข้อดังกล่าว โดยเรียกผิดเป็นเงินค่าชดเชยนั่นเองเมื่อโจทก์ได้ปฏิบัติงานในช่วงก่อนเกษียณอายุติดต่อกันครบ 5 ปีขึ้นไป โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ตามข้อ 47 วรรคหนึ่งแต่เนื่องจากจำเลยมีข้อบังคับองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็นว่าด้วยกองทุนบำเหน็จของผู้ปฏิบัติงานองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2524 ข้อ 9 วรรคท้าย กำหนดว่าเงินบำเหน็จที่จำเลยจ่ายให้แก่ผู้ปฏิบัติงานซึ่งเกษียณอายุตามข้อบังคับนี้ให้ถือว่าเป็นการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานด้วย แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีระเบียบข้อบังคับในการจ่ายเงินค่าชดเชยกรณีพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุ และให้ถือว่าเงินดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดของเงินที่จ่ายให้เพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานสอดคล้องกับข้อ 47 วรรคสอง แห่งระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ข้างต้น ข้อบังคับของจำเลย ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จของผู้ปฏิบัติงานองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2524ข้อ 9 วรรคท้าย จึงหาได้ขัดกฎหมายและไม่มีผลบังคับดังคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางไม่ จำเลยชอบที่จะจ่ายเงินบำเหน็จให้ตามสิทธิของโจทก์เพียงจำนวนเดียว โดยไม่ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยหรือเงินค่าตอบแทนความชอบในการทำงานต่างหากอีกจำนวนหนึ่ง
ที่จำเลยอุทธรณ์ในประการสุดท้ายว่า จำเลยสามารถยกข้ออ้างว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติงานเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้นั้น เห็นว่าหากจะถือว่าจำเลยสามารถยกข้ออ้างดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้ก็ไม่อาจทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป เพราะศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติแล้วว่าโจทก์ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อจนเป็นช่องทางให้นายอำนวยทุจริตเบียดบังเงินกู้กองทุนสวัสดิการและกองทุนบำเหน็จของจำเลย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยจำนวน121,920 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share