คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1209/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องขอให้เพิกถอนนิติกรรมอำพรางระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนโจทก์กับให้ใช้ค่าเสียหาย คำฟ้องของ โจทก์เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่เกี่ยวกับ จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ ต่อสู้ในประเด็นนี้ แต่ปัญหาอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับ ความสงบเรียบร้อยและศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นว่ากล่าวเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ราคาที่ดินพร้อมอาคารสโมสรและสระว่ายน้ำพิพาทประมาณ 8,710,000 บาท ไม่น่าเชื่อว่าโจทก์จะยอมขายให้จำเลยที่ 1 ในราคาเพียง 5,350,000 บาท ภายหลังซื้อขายที่ดินและทรัพย์พิพาทแล้วยังปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้เก็บผลประโยชน์โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำสัญญาให้โจทก์เช่าเป็นเวลา 3 ปีครึ่งต่อมาภายหลังจำเลยที่ 1 เข้าเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เองกลับปรากฏว่าจำเลยที่ 1 แบ่งผลประโยชน์ให้แก่โจทก์เดือนละ 12,000 บาท ทุกเดือน ประกอบกับ ก. บุตรของจำเลยที่ 1 เคยเบิกความในชั้นขอคุ้มครองชั่วคราว ก่อนพิพากษาว่า โจทก์โอนที่ดินและอาคารสโมสรฝากจำเลยที่ 1ไว้ โดยไม่มีการซื้อขายกันจริง แสดงให้เห็นว่าการซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นการแสดงเจตนาลวงไม่มี ความประสงค์ให้ผูกพันกัน จึงใช้บังคับระหว่างกันไม่ได้ที่ดินและอาคารพิพาทจึงยังเป็นของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ของจำเลยที่ 2 ให้แก่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด เพื่อปลดจำนองและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 139380 และ 206377พร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนโจทก์ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสองและห้ามจำเลยทั้งสองยุ่งเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์อีกต่อไปหากจำเลยทั้งสองเพิกเฉยก็ให้ยึดทรัพย์ของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินไปชำระหนี้จำนองของจำเลยที่ 2 กับให้โจทก์มีอำนาจนำคำพิพากษาไปดำเนินการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและแก้ชื่อในโฉนดเลขที่ 139380 และ 206377 พร้อมอาคารเลขที่ 47/569 ถึง 47/572 เป็นชื่อโจทก์ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสอง และให้จำเลยทั้งสองคืนรายได้จากอาคารพิพาทเดือนละ 100,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนถึงเดือนที่ส่งมอบที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 รับซื้อไว้โดยสุจริต มีเจตนาผูกพันตามสัญญาซื้อขายมิได้มีเจตนาที่จะอำพรางเจ้าหนี้โจทก์และสามีโจทก์ นิติกรรมโอนขายที่ดินจึงไม่เป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ถึงแก่กรรมนางสาวปิยะนุช บัวน้ำจืด ทายาทของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่าคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องขอให้เพิกถอนนิติกรรมอำพรางระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนโจทก์กับให้ใช้ค่าเสียหาย คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ให้การต่อสู้ในประเด็นนี้ แต่ปัญหาอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นว่ากล่าวเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยโดยผล ฎีกาโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่าสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 139380 และตึกแถวเลขที่ 47/569 ถึง 47/572 ตามเอกสารหมาย ล.3 และ ล.4 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นนิติกรรมอันเกิดจากการแสดงเจตนาลวงหรือไม่โจทก์นำสืบว่าเมื่อปี 2526 ถึง 2527 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำสามีโจทก์มีหนี้สินจำนวนมากและถูกฟ้องเป็นคดีต่อศาล สามีโจทก์จึงปรึกษาจำเลยทั้งสองเพื่อยักย้ายทรัพย์สินไม่ให้ถูกบังคับคดีจำเลยที่ 1 ตกลงช่วยไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 139380จากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สินเอเซีย จำกัด หลังจากไถ่ถอนจำนองแล้วโจทก์โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 139380 ให้จำเลยที่ 1 ครั้งแรกโอนเฉพาะที่ดิน ต่อมาจึงโอนสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินให้ด้วยแต่โจทก์ยังคงดำเนินกิจการสโมสร สระว่ายน้ำ และโต๊ะสนุกเกอร์ต่อจนถึงกลางเดือนเมษายน 2532 นอกจากนี้โจทก์ได้โอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 139378, 170557 และ 139376 เนื้อที่519 เศษ 9 ส่วน 10, 107 และ 42 ตารางวา ตามลำดับตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.10 ถึง จ.12 ให้จำเลยที่ 1โดยไม่มีการซื้อขายกันจริง ต่อมาโจทก์ขายที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 139378 เนื้อที่ 519 เศษ 9 ส่วน 10 ตารางวาให้บริษัทผ่องใสพัฒนาชุมชน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่โจทก์ร่วมตั้งขึ้นในราคาตารางวาละ 5,500 บาท ผู้ซื้อชำระราคาด้วยเช็คให้โจทก์ตามสำเนาเช็คเอกสารหมาย จ.25 และ จ.26 โดยจำเลยที่ 1 มิได้คัดค้านการโอนขายแต่ประการใด จำเลยที่ 1 นำสืบว่าโจทก์ตกลงขายที่ดินพร้อมอาคารแก่จำเลยที่ 1 ในราคา 5,350,000 บาท และนำเงินจากการขายจำนวน 1,000,000 บาท ไปไถ่ถอนจำนองแล้วโอนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ในโฉนด โดยดำเนินการที่สำนักงานที่ดินเขตพระโขนง จำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าที่ดินเป็นเงินสดอีกจำนวน 2,000,000 บาท ในวันเดียวกัน สำหรับอาคารเลขที่ 47/569ถึง 47/572 จำนวน 4 คูหานั้นโอนกันเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2528ที่สำนักงานเขตพระโขนง โดยจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินสดให้โจทก์อีก 2,000,000 บาท ในวันโอนส่วนที่ดินอีก 3 แปลง จำเลยที่ 1 ได้ซื้อจากโจทก์ในราคา 600,000 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1ได้ขายที่ดินแปลงเนื้อที่ 519 เศษ 9 ส่วน 10 ตารางวาคืนโจทก์ในราคา 1,000,000 บาท โดยโจทก์ขอให้โอนให้บริษัทผ่องใสพัฒนาชุมชน จำกัด และโจทก์ได้นำเงินสดจำนวน1,000,000 บาท มาชำระให้จำเลยที่ 1 หลังจากการโอนแล้วประมาณ7 วัน ในเบื้องแรกนี้จะได้พิจารณาถึงราคาที่ดินพิพาท อาคารสโมสรและสระว่ายน้ำพร้อมอุปกรณ์เพื่อประกอบการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานต่อไป โจทก์นำสืบว่า ที่ดินพิพาทราคาประมาณตารางวาละ 5,500 บาท อาคารสโมสรและสระว่ายน้ำพร้อมอุปกรณ์ราคาประมาณ 8,000,000 บาท รวมราคาทั้งหมดเท่ากับ 12,081,000 บาท (742×5,500+8,000,000) ส่วนจำเลยที่ 1 นำสืบว่าที่ดินพิพาทมีราคาประมาณตารางวาละ 2,500 ถึง 2,800 บาท อาคารสโมสรและสระว่ายน้ำมีราคาประมาณ 2,400,000 บาท รวมราคาทั้งหมดเท่ากับ 4,477,600 บาท (742×2,800+2,400,000) เห็นว่านอกจากโจทก์จะมีนายประดิษฐ์ บัวน้ำจืด เบิกความยืนยันเกี่ยวกับราคาที่ดินแล้ว โจทก์ยังมีนายเจษฎา ดวงอุดมเดช กรรมการบริษัทผ่องใสพัฒนาชุมชน จำกัด เบิกความสนับสนุนว่าได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 139378 เนื้อที่ 519 เศษ 9 ส่วน 10 ตารางวาซึ่งอยู่ในบริเวณที่ดินพิพาทจากโจทก์ในราคาตารางวาละ 5,000 บาทและได้จ่ายเช็คหลายฉบับชำระค่าที่ดินให้โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.25และ จ.26 ส่วนจำเลยที่ 1 คงมีตัวจำเลยทั้งสองเบิกความลอย ๆว่าที่ดินมีราคา 2,500 ถึง 2,700 บาท ซึ่งหากมีราคาเช่นนั้นจริงจำเลยที่ 1 ก็ไม่น่าที่จะซื้อที่ดินพิพาทรวมกับอาคารในราคาถึง5,350,000 บาท ดังที่จำเลยที่ 1 อ้าง พยานหลักฐานของโจทก์เกี่ยวกับราคาที่ดินพิพาทจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่า ที่ดินพิพาทมีราคาประมาณตารางวาละ 5,000 บาท ส่วนอาคารสโมสรนั้นโจทก์มีนายธีระชัย เกษศิระ ซึ่งรับราชการที่สำนักงานเขตพระโขนง แผนกนิติกรรม เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า อาคารของโจทก์มีราคา 3,000,000 ถึง 4,000,000 บาท โจทก์และจำเลยที่ 1 ประเมินไว้ 2,000,000 บาท แต่พยานเก็บค่าธรรมเนียมจากยอดที่พยานประเมิน 3,000,000 บาท แสดงว่าอาคารสโมสรน่าจะมีราคาไม่ต่ำกว่า 3,000,000 บาท ส่วนสระว่ายน้ำนั้นน่าจะมีราคาประมาณ 2,000,000 บาท ตามที่นายเจษฎา ดวงอุดมเดช เบิกความสรุปแล้วที่ดินพิพาท อาคารสโมสรและสระว่ายน้ำพร้อมอุปกรณ์น่าจะมีราคาประมาณ 8,710,000 บาท(742 x 5,000 + 3,000,000 + 2,000,000) ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงไม่น่าเชื่อว่าโจทก์จะยอมขายที่ดินพิพาทและอาคารสโมสรพร้อมสระว่ายน้ำให้จำเลยที่ 1 ในราคาเพียง 5,350,000 บาท ตามที่จำเลยที่ 1 อ้าง อีกทั้งข้อนำสืบของจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับการชำระราคาซื้อขายด้วยเงินสดซึ่งเก็บไว้ที่บ้านก็ไม่น่าเชื่อ เพราะเป็นเงินจำนวนมาก ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 จะเก็บเงินสดจำนวนหลายล้านบาทไว้ที่บ้านแทนที่จะฝากธนาคารซึ่งปลอดภัยกว่าและยังได้รับดอกเบี้ยด้วย นอกจากนี้หากลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่แรกแล้วจะเห็นได้ว่าข้ออ้างของโจทก์น่าจะมีน้ำหนักมากกว่า กล่าวคือ โจทก์และจำเลยที่ 1 มีการทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินครั้งแรกเมื่อวันที่ 26สิงหาคม 2528 โดยเป็นการซื้อขายที่ดินสามแปลง ตามโฉนดเลขที่ 139378, 170557 และ 139376 ตามหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย ล.2 โดยโจทก์อ้างว่าเป็นการทำนิติกรรมอำพรางแต่จำเลยที่ 1 อ้างว่าซื้อที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวในราคา600,000 บาท ตามที่ระบุไว้ในเอกสารหมาย ล.2 ซึ่งเห็นได้ชัดแจ้งว่าข้ออ้างของจำเลยที่ 1 มีน้ำหนักน้อย เพราะที่ดินทั้งสามแปลงตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.10 ถึง จ.12 มีเนื้อที่รวมกัน668 เศษ 9 ส่วน 10 ตารางวา (519 เศษ 9 ส่วน 10 + 107 + 42)แม้จะตีราคาเพียงตารางวาละ 2,500 บาท ตามที่จำเลยที่ 1 อ้างที่ดินทั้งสามแปลงก็ยังมีราคาถึง 1,672,250 บาทจึงไม่น่าเชื่อว่าจะมีการซื้อขายกันจริงในราคาเพียง 600,000 บาทยิ่งกว่านั้นยังปรากฏจากคำเบิกความของนายเจษฎาว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าโจทก์สามารถซื้อขายที่ดินแปลงเนื้อที่519 เศษ 9 ส่วน 10 ตารางวา กับพยานได้ และพยานได้ชำระราคาที่ดินให้แก่โจทก์ตามสำเนาเช็คเอกสารหมาย จ.25 และ จ.26โดยจำเลยทั้งสองไม่ได้คัดค้าน แสดงว่าการซื้อขายที่ดินทั้งสามแปลงตามเอกสารหมาย ล.2 น่าจะเป็นนิติกรรมอันเกิดจากการแสดงเจตนาลวงมากกว่าการซื้อขายจริงต่อมาวันที่ 12กันยายน 2528 มีการซื้อขายที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย ล.3วันที่ 1 ตุลาคม 2528 มีการทำสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์หรืออาคารสโมสรเฉพาะชั้น 2 และชั้น 3 ตามเอกสารหมาย ล.1และ ล.5 ก่อนที่จะมีการทำสัญญาซื้อขายอาคารเมื่อวันที่ 18ธันวาคม 2528 ตามเอกสารหมาย ล.4 โดยไม่ปรากฏว่ามีการชำระค่าเช่าตามเอกสารหมาย ล.1 และ ล.5 ทั้งไม่ปรากฏว่ามีการทำสัญญาเช่าอาคารสโมสรชั้น 1 และสระว่ายน้ำซึ่งเป็นส่วนที่ทำรายได้มากที่สุด ดังนั้นที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าหลังจากซื้อที่ดินและอาคารแล้วได้ให้ฝ่ายโจทก์เช่า แต่โจทก์ไม่ยอมชำระค่าเช่านั้นจึงมีน้ำหนักน้อยเพราะไม่มีการทำสัญญาเช่าอาคารสโมสรชั้น 1และสระว่ายน้ำ และไม่ปรากฏว่ามีการทวงถามค่าเช่าเป็นลายลักษณ์อักษร จนกระทั่งปี 2532 กรณีไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1จะลงทุนซื้อทรัพย์พิพาทเป็นเงินถึง 5,350,000 บาทแล้วปล่อยให้โจทก์หารายได้จากทรัพย์ที่ตนซื้อเป็นเวลาถึงสามปีครึ่งโดยที่ตนไม่ได้รับผลตอบแทนหรือค่าเช่าเลย นอกจากนี้หลังจากจำเลยที่ 1 เข้าครอบครองและเก็บรายได้จากสระว่ายน้ำในเดือนเมษายน 2532 แล้ว ยังปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้จ่ายเงินให้โจทก์เดือนละ 12,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าจ่ายเพื่อช่วยเหลือโจทก์นั้นก็ขัดกับคำให้การของจำเลยที่ 1 ที่ปฏิเสธว่าไม่เคยจ่ายเงินให้โจทก์ จึงเป็นพิรุธ ทำให้น่าเชื่อตามที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์มีสุขภาพไม่ดีจึงมอบให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้เก็บรายได้จากสระว่ายน้ำโดยมีข้อตกลงว่า ให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินให้โจทก์เดือนละ 12,000 บาท รายได้ส่วนที่เหลือให้เก็บไว้ชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 ช่วยไถ่ถอนจำนอง เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ต่าง ๆดังกล่าวมาแล้วทำให้น่าเชื่อว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้ซื้อขายที่ดินพิพาทกันจริง ที่ศาลอุทธรณ์เชื่อว่ามีการซื้อขายกันจริงเพราะมีการส่งมอบโฉนดและโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านการที่จำเลยที่ 1 ขอรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินพิพาทนั้น เห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้ช่วยออกเงินไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาท การที่จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายเก็บโฉนดที่ดินพิพาทจึงมิใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด ส่วนเรื่องแบ่งแยกโฉนดที่ดินพิพาทนั้นก็อาจเป็นได้ว่าโจทก์ได้ลงชื่อรับรองแนวเขตที่ดินข้างเคียงไปโดยไม่ทราบข้อเท็จจริงที่แท้จริงก็เป็นได้ ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อนายประดิษฐ์ขอกู้เงินจากธนาคารทหารไทย จำกัด ในปี 2530 เพื่อที่จะนำมาใช้หนี้ให้จำเลยที่ 1 นายประดิษฐ์ก็ยังอ้างถึงการจดทะเบียนจำนองโฉนดที่ดินเลขที่ 139380 เป็นประกันเงินกู้ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.15 หากโจทก์และนายประดิษฐ์ทราบว่ามีการแบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็น 2 แปลง โดยแปลงเดิมมีเนื้อที่เหลือเพียง 32 ตารางวา ส่วนแปลงที่แบ่งแยกออกไปมีเนื้อที่ 710 ตารางวา นายประดิษฐ์ก็น่าจะกล่าวถึงโฉนดที่ดินแปลงที่แบ่งแยกออกไปด้วย เพราะการจำนองที่ดินเพียง 32 ตารางวา เพื่อประกันเงินกู้ 3,000,000 บาท นั้น โอกาสที่จะได้รับอนุมัติให้กู้เงินย่อมมีน้อยกว่าการจำนองที่ดิน 742 ตารางวา ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อว่าโจทก์ไม่ทราบว่ามีการแบ่งแยกที่ดินพิพาท นอกจากนี้แล้วยังปรากฏว่านายโกวิท บัวน้ำจืด ซึ่งเป็นบุตรจำเลยที่ 1 ได้เบิกความเป็นพยานโจทก์ในชั้นขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาว่า โจทก์โอนที่ดินและอาคารสโมสรฝากจำเลยที่ 1 ไว้ โดยไม่มีการซื้อขายกันจริง แม้นายโกวิทจะยื่นคำร้องภายหลังปฏิเสธว่ามิได้รู้เห็นเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดิน แต่โจทก์จัดพิมพ์คำเบิกความให้อ่านและเบิกความตามนั้นก็ไม่น่าเชื่อ เพราะนายโกวิทเป็นผู้จัดการสโมสรด้วย น่าจะทราบเรื่องดี ประกอบกับนายโกวิทก็สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรี สาขาบริหารงานบุคคลจากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และมีอายุถึง 30 ปี ไม่น่าเชื่อว่าจะถูกหลอกให้เบิกความเป็นปรปักษ์กับมารดาของตนโดยที่ไม่เป็นความจริงพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 คดีรับฟังได้ว่า การซื้อขายที่ดินและอาคารพิพาทตามเอกสารหมาย ล.3 และ ล.4 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1เป็นการแสดงเจตนาลวง ไม่มีความประสงค์ให้ผูกพันกัน จึงใช้บังคับระหว่างกันไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 เดิมหรือมาตรา 155 ที่แก้ไขใหม่ ที่ดินและอาคารพิพาทจึงยังเป็นของโจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 1 จะต้องไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏตามทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ประกอบสำเนาโฉนดเอกสารหมาย ล.32 และ ล.33 ว่าจำเลยที่ 1 ได้ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากธนาคารแล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหานี้ต่อไป
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 1ได้นำสิ่งปลูกสร้างในที่ดินไปหาประโยชน์มีรายได้เดือนละเท่าใดและโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 คืนรายได้ดังกล่าวให้โจทก์หรือไม่ ปัญหานี้โจทก์นำสืบว่า กิจการสระว่ายน้ำและโต๊ะสนุกเกอร์เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วมีรายได้ถัวเฉลี่ยประมาณเดือนละ 200,000 บาท โดยในเดือนเมษายนแต่ละปีจะมีรายรับ 300,000 ถึง 400,000 บาท โจทก์ได้ชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 ระหว่างที่โจทก์ยังเป็นผู้บริหารเก็บรายได้จากสระว่ายน้ำเป็นเงินจำนวน 300,000 บาท และระหว่างที่จำเลยที่ 1เป็นผู้บริหารตั้งแต่กลางเดือนเมษายน 2532 จนถึงวันฟ้องรายได้ที่จำเลยที่ 1 ได้รับน่าจะเพียงพอที่จะนำไปชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 ช่วยออกเงินไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทให้โจทก์แล้วจำเลยที่ 1 จึงต้องคืนรายได้ให้โจทก์เดือนละ 100,000 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ส่วนจำเลยที่ 1 นำสืบว่า กิจการสระว่ายน้ำมีกำไรถัวเฉลี่ยประมาณเดือนละ 10,000 บาท ถึง 20,000 บาทบางฤดูมีรายได้เป็นแสนบาท บางฤดูขาดทุน เห็นว่า ที่โจทก์นำสืบว่า มีการชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 แล้ว 300,000 บาทเป็นการเบิกความลอย ๆ ไม่มีหลักฐานการชำระเงิน จึงไม่อาจรับฟังได้สำหรับรายได้ของสระว่ายน้ำ เมื่อพิจารณาจากสมุดบัญชีเอกสารหมาย จ.6 แล้วมีรายได้บางเดือนหนึ่งหมื่นกว่าบาทบางเดือนก็เป็นแสน ส่วนสมุดบัญชีเอกสารหมาย จ.27 ก็มีรายได้ตั้งแต่หลักหมื่นถึงแสน บางเดือนขาดทุนก็มี เมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์ต่าง ๆ ประกอบตั้งแต่จำเลยที่ 1 ช่วยออกเงินไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทให้โจทก์ แล้วยังให้โจทก์บริหารเก็บเงินรายได้จากสระว่ายน้ำ แต่โจทก์มิได้พยายามใช้หนี้จำเลยที่ 1 ให้เสร็จสิ้นจนกระทั่งจำเลยที่ 1 ต้องเข้าบริหารเก็บเงินรายได้เองรวมทั้งต้องลงทุนซ่อมแซมปรับปรุงสระว่ายน้ำและสโมสร จึงเห็นสมควรให้รายได้ทั้งหมดตั้งแต่กลางเดือนเมษายน 2532 จนถึงวันฟ้องตกเป็นของจำเลยที่ 1 เป็นการตอบแทนที่จำเลยที่ 1 ช่วยออกเงินไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทและชดเชยส่วนที่จำเลยที่ 1 ต้องลงทุนซ่อมแซมปรับปรุงสระว่ายน้ำและสโมสร ส่วนรายได้นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปนั้นเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 1 คืนให้แก่โจทก์เดือนละ 30,000 บาท แต่เนื่องจากตามทางนำสืบของโจทก์ก็ปรากฏว่ามีการตกลงให้นำเงินรายได้ไปใช้หนี้ที่จำเลยที่ 1ช่วยไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทให้โจทก์ จึงให้หักเงินจำนวน1,048,053.15 บาท ตามคำให้การจำเลยออกจากรายได้ที่จำเลยที่ 1ต้องคืนให้โจทก์ด้วย อนึ่ง การทำนิติกรรมโดยเจตนาลวงเป็นไปเพื่อประโยชน์ของโจทก์ เมื่อโจทก์ขอให้โอนที่ดินและอาคารคืนโจทก์โจทก์ควรเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการโอน มิใช่ให้จำเลยที่ 1เป็นผู้รับผิดในค่าใช้จ่ายส่วนนี้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 139380 และโฉนดที่ดินเลขที่ 206377ตำบลสวนหลวง (บางจาก) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานครพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินทั้งสองแปลงคืนแก่โจทก์โดยปลอดภารจำนองหรือภาระติดพันอื่นใด โดยให้โจทก์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการโอนห้ามมิให้จำเลยที่ 1 เข้ายุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าวอีกต่อไป หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์เดือนละ 30,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 3 พฤษภาคม 2534) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1จะส่งมอบที่ดินและอาคารพิพาทในสภาพเรียบร้อยคืนโจทก์โดยให้หักเงินจำนวน 1,048,053.15 บาท ออกจากยอดเงินจำนวนดังกล่าว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share