คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1149/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในระหว่างนัดสืบพยานจำเลยทั้งสาม ทนายจำเลยที่ 1และที่ 2 ได้ขอเลื่อนคดีมาแล้วรวม 3 ครั้งติดต่อกันนัดที่หนึ่งอ้างเหตุว่า ตัวจำเลยที่ 1 ติดธุระสำคัญที่กรุงเทพฯ นัดที่สองอ้างว่า ทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2ติดธุระที่จังหวัดพิษณุโลก และนัดที่สามอ้างว่าทนายจำเลยที่ 1และที่ 2 มีอาการป่วย สำหรับนัดที่สี่ทนายจำเลยที่ 1และที่ 2 แถลงขอเลื่อนคดีอีกอ้างว่า ไม่สามารถติดตามพยานมาได้ทั้ง ๆ ที่ในวันนัดสืบพยานจำเลยนัดที่สามนั้นศาลชั้นต้นได้กำชับว่า นัดหน้าให้จำเลยทั้งสามเตรียมพยานมาให้พร้อม หากมีการขอเลื่อนคดีเพราะเหตุขัดข้องทางฝ่ายจำเลยอีก จะถือว่าประวิงคดีและศาลจะสั่งงดสืบพยานจำเลยเสีย ซึ่งทนายจำเลยที่ 2 ก็ยอมรับเงื่อนไขตามคำสั่งของศาลดังกล่าว พฤติการณ์ของทนายจำเลยที่ 2 ส่อแสดงถึงความไม่เอาใจใส่คดีของตนที่ทำหน้าที่อยู่ กับไม่นำพาต่อคำสั่งศาลที่กำชับนั้น เพราะถ้าหากสนใจคดีแล้วทนายจำเลยที่ 2ก็ย่อมติดต่อหรือนำตัวพยานมาสืบในวันนัดได้แต่หาได้ดำเนินการเช่นนั้นไม่ กลับจะขอเลื่อนคดีไปเรื่อย ๆ โดยไร้จุดมุ่งหมายถือว่าจำเลยที่ 2 ประวิงคดีให้ชักช้า ทั้งเหตุที่ทนายจำเลยที่ 2อ้างขอเลื่อนคดีเป็นนัดที่สี่ดังกล่าวก็มิใช่เหตุเกิดจากความเจ็บป่วยของทนายจำเลยที่ 2 จนไม่อาจดำเนินคดีได้จึงไม่เป็นกรณีมีความจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่ให้เลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลยที่ 2 ชอบแล้ว ความตามมาตรา 40 ตอนท้ายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งบัญญัติว่า ถ้าศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนต่อไปอีก จะทำให้เสียความยุติธรรมนั้น ต้องพิจารณาการกระทำหรือการดำเนินคดีของจำเลยที่ 2 ทั้งมวลประกอบการพิจารณาด้วย มิใช่ว่าศาลต้องเลื่อนคดีไปตามเหตุซึ่งจำเลยที่ 2 จะยกขึ้นอย่างไรก็ได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหายในการทำละเมิดจำนวน 469,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ให้การว่า ไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง ค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองสูงเกินสมควร ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 454,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับจากวันฟ้องอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานจำเลยที่ 2
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่ให้จำเลยที่ 2เลื่อนคดีแล้วให้งดสืบพยานจำเลยที่ 2 นั้นชอบหรือไม่ จำเลยที่ 2ฎีกาว่า นับแต่จำเลยที่ 2 ได้แต่งทนายจำเลยที่ 2 เข้าว่าความสู้คดี จำเลยที่ 2 ก็ขาดการติดต่อกับทนายจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 2 ได้ย้ายไปทำงานอยู่ที่อื่น ไม่ได้ติดต่อกับทนายของตนอีกจนกระทั่งต่อมาจำเลยที่ 2 กลับมาเยี่ยมบ้านจึงทราบเรื่องเหตุดังกล่าว การที่ทนายจำเลยที่ 2 แถลงขอเลื่อนคดีในวันนัดดังกล่าว เป็นเหตุจำเป็นที่ไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 40 และตามมาตรา 40 ตอนท้าย ก็บัญญัติว่า หากศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีอีกจะทำให้เสียความยุติธรรม แสดงให้เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวยังให้โอกาสแก่จำเลยที่ 2 ได้ต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรมอีกด้วยนั้นเห็นว่า คดีนี้ฟังได้ความว่าในระหว่างนัดสืบพยานจำเลยทั้งสามทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ขอเลื่อนคดีมาแล้วรวม 3 ครั้งติดต่อกันโดยนัดที่หนึ่งอ้างเหตุว่า ตัวจำเลยที่ 1 ติดธุระสำคัญที่กรุงเทพฯนัดที่สองอ้างว่า ทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ติดธุระที่จังหวัดพิษณุโลกและนัดที่สามอ้างว่าทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2มีอาการป่วย จึงไม่ได้นัดพยานมาศาลในวันนัด สำหรับนัดที่สี่คือวันที่ 18 พฤศจิกายน 2540 ทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 แถลงขอเลื่อนคดีอีกอ้างว่า ไม่สามารถติดตามพยานมาได้ ทั้ง ๆ ที่ในวันนัดสืบพยานจำเลยนัดที่สามนั้น ศาลชั้นต้นได้กำชับว่า นัดหน้าให้จำเลยทั้งสามเตรียมพยานมาให้พร้อม หากมีการขอเลื่อนคดีเพราะเหตุขัดข้องทางฝ่ายจำเลยอีก จะถือว่าประวิงคดีและศาลจะสั่งงดสืบพยานจำเลยเสียซึ่งทนายจำเลยที่ 2 ก็ยอมรับเงื่อนไขตามคำสั่งของศาลดังกล่าวแต่พอถึงวันนัดสืบพยานจำเลยนัดที่สี่ดังกล่าว ทนายจำเลยที่ 2ก็ขอเลื่อนคดีอีกอ้างเหตุข้างต้น พฤติการณ์ของทนายจำเลยที่ 2ส่อแสดงถึงความไม่เอาใจใส่คดีของตนที่ทำหน้าที่อยู่ กับไม่นำพาต่อคำสั่งศาลที่กำชับนั้น เพราะถ้าหากสนใจคดีแล้วทนายจำเลยที่ 2ก็ย่อมติดต่อหรือนำตัวพยานมาสืบในวันนัดได้ แต่หาได้ดำเนินการเช่นนั้นไม่ กลับจะขอเลื่อนคดีไปเรื่อย ๆ โดยไร้จุดมุ่งหมายถือว่าจำเลยที่ 2 ประวิงคดีให้ชักช้า ทั้งเหตุที่ทนายจำเลยที่ 2อ้างขอเลื่อนคดีเป็นนัดที่สี่ดังกล่าวก็มิใช่เหตุเกิดจากความเจ็บป่วยของทนายจำเลยที่ 2 จนไม่อาจดำเนินคดีได้แต่อย่างใดจึงไม่เป็นกรณีมีความจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ดังที่จำเลยที่ 2 อ้าง และที่จำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างว่า ตามมาตรา 40 ตอนท้ายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนต่อไปอีก จะทำให้เสียความยุติธรรม”แสดงให้เห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวยังให้โอกาสแก่จำเลยที่ 2ต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรมอีกด้วยนั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลให้โอกาสแก่จำเลยที่ 2 ต่อสู้คดีอย่างเต็มภาคภูมิอยู่แล้ว แต่จำเลยที่ 2ประวิงคดีดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้นและข้อที่ว่าหากศาลไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 เลื่อนคดีไปอีกจะทำให้เสียความยุติธรรมแก่จำเลยที่ 2 หรือไม่ เพียงใดนั้น ต้องพิจารณาการกระทำหรือการดำเนินคดีของจำเลยที่ 2 ทั้งมวลประกอบการพิจารณาด้วยมิใช่ว่าศาลต้องเลื่อนคดีไปตามเหตุซึ่งจำเลยที่ 2 จะยกขึ้นอย่างไรก็ได้ ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 จึงรับฟังไม่ได้ ดังนั้นคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่ให้เลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลยที่ 2ชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share