คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 947/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีแพ่งเรื่องก่อนซึ่งถึงที่สุดแล้ว โดยโจทก์กับพวกรวม 5 คน ฟ้องจำเลยให้แบ่งที่ดินมรดกให้แก่โจทก์กับพวกโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า โจทก์กับพวกดังกล่าวเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของจำเลย ส่วนคดีนี้โจทก์ผู้เดียวฟ้องจำเลยให้แบ่งที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินมรดกแปลงดังกล่าวอีกโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลัก แห่งข้อหาว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมรดก โดยการครอบครอง เนื่องจากทายาทอื่นและจำเลยมิได้ เข้าครอบครองที่ดินส่วนนี้และมิได้ฟ้องขอแบ่งมรดกภายในเวลา 1 ปี นับแต่ท.เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ดังนี้ประเด็นสำคัญในคดีก่อนมีว่า โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในที่ดินมรดกเพียงใด การที่โจทก์ กลับมาฟ้องคดีนี้โดยอ้างว่าโจทก์ได้ครอบครองทรัพย์มรดกจน ได้กรรมสิทธิ์เกินกว่าส่วนที่ตนมีสิทธิได้รับตามคำพิพากษา ของศาลที่ได้วินิจฉัยไว้ในคดีก่อนว่าโจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดก ในที่ดินพิพาทเพียงใดนั้น แม้จะเป็นการเบี่ยงเบนข้อเท็จจริงว่า โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอีก 4 คน และต่อมาทายาทดังกล่าวก็ได้สละสิทธิที่จะพึงได้ให้แก่โจทก์แล้วก็ตาม เมื่อศาล ต้องวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกหรือไม่ และโจทก์ มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเพียงใด คดีนี้จึงมีประเด็นที่ได้วินิจฉัย โดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกับคดีก่อน จึงเป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 803 ตำบลบางเดชะ อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี ด้านทิศใต้เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 70 ตารางวา ให้แก่โจทก์หากจำเลยไม่ดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกให้ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า เมื่อคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 630/2535ของศาลชั้นต้นถึงที่สุดแล้ว โจทก์ฟ้องจำเลยอีกตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 54/2538 ของศาลชั้นต้น ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 333/2533 ของศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุดแล้วเช่นกัน และคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 630/2535 ของศาลชั้นต้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าโจทก์จำเลยมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวมทั้งหมด 6 คน เมื่อบิดามารดาตายแล้วจำเลยได้รับโอนที่ดินมรดกตามโฉนดที่ดินเลขที่ 803 ตำบลบางเดชะ อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดที่ดินดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 333/2533 และคดีถึงที่สุดแล้วครั้นวันที่ 14 พฤศจิกายน 2534 โจทก์และพี่น้องอีก 4 คนฟ้องขอแบ่งที่ดินพิพาทจากจำเลย โดยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนางทรัพย์ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ 153 1/3 ตารางวา ส่วนพี่น้องอีก 4 คน ให้ยกฟ้องตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 630/2535 และคดีถึงที่สุดแล้ว เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2537 โจทก์ฟ้องจำเลยให้แบ่งที่ดินพิพาทด้านทิศใต้ เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 70 ตารางวาให้แก่โจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเพราะเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 333/2533 ของศาลชั้นต้นตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 54/2538 และคดีดังกล่าวได้ถึงที่สุดแล้วเช่นกัน ครั้นวันที่ 26 เมษายน 2538 โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 630/2535 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ในข้อนี้โจทก์ฎีกาว่า สิทธิของโจทก์ที่ยื่นฟ้องในคดีหลังเป็นสิทธิคนละประเภทกับคดีก่อน และเป็นคนละประเด็นกัน เห็นว่า ในคดีก่อนโจทก์กับพวกรวม 5 คน ฟ้องจำเลยให้แบ่งที่ดินมรดกตามโฉนดที่ดินเลขที่ 803 โดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าโจทก์กับพวกดังกล่าวเป็นทายาทขอแบ่งมรดกจากจำเลย ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยให้แบ่งที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 803 โดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมรดกโดยการครอบครอง เนื่องจากทายาทอื่นและจำเลยมิได้เข้าครอบครองที่ดินส่วนนี้และมิได้ฟ้องขอแบ่งมรดกภายในเวลา 1 ปี นับแต่นางทรัพย์เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ให้จำเลยแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ดังนี้ประเด็นสำคัญแห่งคดีดังกล่าวจึงมีว่า โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในที่ดินมรดกเพียงใด การที่โจทก์กลับมาฟ้องคดีนี้โดยอ้างว่าโจทก์ได้ครอบครองทรัพย์มรดกจนได้กรรมสิทธิ์เกินกว่าส่วนที่ตนมีสิทธิได้รับตามคำพิพากษาของศาลที่ได้วินิจฉัยไว้ว่าโจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกในที่ดินพิพาทเพียงใดนั้น แม้จะเป็นการเบี่ยงเบนข้อเท็จจริงที่โจทก์เคยฟ้องระบุว่า โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอีก 4 คน และต่อมาทายาทดังกล่าวก็ได้สละสิทธิที่จะพึงได้ให้แก่โจทก์แล้ว และโจทก์กับทายาททั้ง 4 คน ก็ยังร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยขอรับมรดก และให้จำเลยแบ่งที่ดินพิพาทแก่พวกตนทุกคนตามส่วนก็ตาม แต่ศาลก็คงต้องวินิจฉัยอีกว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเพียงใดดังนั้น คดีนี้จึงมีประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 630/2535 ของศาลชั้นต้นจึงเป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148
พิพากษายืน

Share