คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 534/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิกำหนดโทษปรับแก่ผู้กระทำผิดเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่ง ได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว เมื่อฟ้องโจทก์ระบุว่าเครื่องเลื่อยยนต์ของกลางมีราคา 5,000 บาท เมื่อรวมกับค่าอากรขาเข้าจำนวน 1,500 บาทแล้ว เป็นเงิน 6,500 บาท ดังนั้น โทษปรับก่อนลดจึงเป็นเงิน 26,000 บาท จำเลยยึดถือครอบครองแผ้วถางป่าสงวนแห่งชาติเป็นเนื้อที่ 23 ไร่เศษ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐเป็นเงินถึง 3,540,000 บาท และใช้เครื่องเลื่อยยนต์ในการกระทำ ความผิด พฤติการณ์แห่งคดีนับว่าร้ายแรง ทั้งการตัดไม้ทำลายป่า นอกจากส่งผลเสียหายแก่ป่าไม้ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญของ ประเทศชาติแล้ว ยังเป็นการทำลายแหล่งต้นน้ำลำธาร ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพของสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพสมควรที่จะปราบปรามอย่างเด็ดขาดเพื่อป้องปรามมิให้ผู้อื่นกระทำความผิดเช่นนี้อีกการไม่รอ การลงโทษจำคุกให้จำเลยนั้นจึงเป็นการลงโทษที่เหมาะสม แก่ความผิดของจำเลยแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31, 35ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91 ริบของกลางทั้งหมดจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย และให้จำเลยและบริวารออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ฐานยึดถือครอบครองแผ้วถางในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำคุก 3 ปีฐานช่วยซ่อนเร้นเครื่องเลื่อยยนต์โดยรู้ว่าเป็นของหลีกเลี่ยงอากรปรับ 26,000 บาท รวมจำคุก 3 ปี ปรับ 26,000 บาทจำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ปรับ 13,000 บาทริบของกลาง ให้จำเลยและบริวารออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติให้จ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2485(ที่ถูกเป็น พ.ศ. 2489) ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษปรับจำเลยเพียง 6,500 บาท นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ ระวางโทษปรับแก่ผู้กระทำผิดเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว เมื่อฟ้องโจทก์ระบุว่าเครื่องเลื่อยยนต์ของกลางมีราคา 5,000 บาทเมื่อรวมกับค่าอากรขาเข้าจำนวน 1,500 บาทแล้ว เป็นเงิน6,500 บาท ดังนั้น โทษปรับก่อนลดที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดมาเป็นเงิน 26,000 บาท จึงถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่า จำเลยยึดถือครอบครองแผ้วถางป่าสงวนแห่งชาติเป็นเนื้อที่ 23 ไร่เศษ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐเป็นเงินถึง 3,540,000 บาท และใช้เครื่องเลื่อยยนต์ในการกระทำความผิด พฤติการณ์แห่งคดีนับว่าร้ายแรง ทั้งการตัดไม้ทำลายป่า นอกจากส่งผลเสียหายแก่ป่าไม้ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศชาติแล้วยังเป็นการทำลายแหล่งต้นน้ำลำธาร ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพของสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพสมควรที่จะปราบปรามอย่างเด็ดขาด เพื่อป้องปรามมิให้ผู้อื่นกระทำความผิดเช่นนี้อีก ที่ศาลล่างทั้งสองไม่รอการลงโทษจำคุกให้จำเลยนั้นเป็นการใช้ดุลพินิจในการลงโทษที่เหมาะสมแก่ความผิดของจำเลยแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขฎีกาจำเลยข้อนี้คงฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share