แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ยื่นอุทธรณ์โดยมี ส. ทนายความลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์แทน แต่ในใบแต่งทนายความของโจทก์ไม่ได้ระบุให้ ทนายความมีอำนาจอุทธรณ์ จึงเป็นกรณีที่ ส. ลงชื่อในอุทธรณ์โดยไม่มีอำนาจ อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วย กฎหมาย ศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะสั่งให้โจทก์แก้ไขอำนาจของ ทนายความ หรือจะสั่งไม่รับอุทธรณ์ก็ได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 การที่ศาลชั้นต้น สั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์โดยเหตุที่ผู้ลงชื่อในอุทธรณ์ไม่มี อำนาจเป็นทนายความของโจทก์นั้น จึงเป็นการปฏิเสธไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 232 โจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ตามมาตรา 234 พร้อมกับยื่นใบแต่งทนายความใหม่ที่ให้อำนาจทนายโจทก์ในการ อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า แม้คำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ จะไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อโจทก์แก้ไขอำนาจของทนายความโจทก์ ให้มีอำนาจโดยชอบในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์แล้วคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้ดำเนินการต่อไป จึงเท่ากับว่าเป็นการอนุญาตให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องที่ ไม่ถูกต้องนั้นอุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมายเมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้รับอุทธรณ์คำสั่งของศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 236 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าการจดทะเบียนการหย่าตามทะเบียนการหย่าของสำนักงานเขตบางกะปิระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ ให้จำเลยไปจดทะเบียนการหย่ากับโจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า โจทก์จำเลยตกลงหย่าโดยความยินยอมและได้จดทะเบียนหย่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะการหย่าชอบด้วยกฎหมายขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ทนายโจทก์ไม่มีอำนาจอุทธรณ์ตามใบแต่งทนายความ จึงไม่รับอุทธรณ์
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ พร้อมกับยื่นใบแต่งทนายความใหม่ที่ให้อำนาจทนายโจทก์ในการอุทธรณ์หรือฎีกา
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้ดำเนินการต่อไป
จำเลยฎีกาคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยและคำแก้ฎีกาของโจทก์มีว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ให้รับอุทธรณ์ของโจทก์เป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 236 หรือไม่ เห็นว่าโจทก์ยื่นอุทธรณ์ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2541 โดยมีนายสุครีพ มีนุ่น ทนายความลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์แทน เมื่อใบแต่งทนายความของโจทก์ไม่ได้ระบุให้ทนายความมีอำนาจอุทธรณ์จึงเป็นกรณีที่ทนายความลงชื่อในอุทธรณ์โดยไม่มีอำนาจอุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายศาลชั้นต้นผู้ตรวจรับอุทธรณ์มีอำนาจที่จะสั่งให้โจทก์แก้ไขอำนาจของทนายความผู้ยื่นอุทธรณ์ หรือมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 การที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์โดยเหตุที่ว่าผู้ลงชื่อในอุทธรณ์ไม่มีอำนาจเป็นทนายความของโจทก์ เป็นการปฏิเสธไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ไปยังศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 232 โจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ตามมาตรา 234 และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้ จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า แม้คำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์จะไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อโจทก์แก้ไขอำนาจของทนายความของโจทก์ให้มีอำนาจโดยชอบในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์แล้วคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้ดำเนินการต่อไปจึงเท่ากับว่าเป็นการอนุญาตให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องที่ไม่ถูกต้องนั้น อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ คำสั่งของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวจึงเป็นที่สุดตามบทบัญญัติมาตรา 236 วรรคหนึ่งแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน